คอลัมนิสต์

เปิดประวัติ "จุมพล มั่นหมาย"

เปิดประวัติ "จุมพล มั่นหมาย"

28 ก.พ. 2560

เปิดประวัติ"จุมพล มั่นหมาย"

พลตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  เกิดเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2493    เขาเกิดที่ จ.ลำปาง เป็นบุตรชายของ พล.ต.ท.จุฑา และนางขวัญใจ มั่นหมาย
    
    "จุมพล" จบระดับมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรุ่นที่ 82, โรงเรียนตำรวจนครบาลรุ่น 34 , โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานรุ่นที่ 26 รุ่นเดียวกับ นาย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  นอกจากนี้ยังจบปริญาโท สาขาพัฒนาบริหารศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), หลักสูตรบริหารงานตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ 15, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 4212

    "จุมพล"  เริ่มรับราชการเป็นตำรวจตระเวนชายแดนที่ อ.อรัญประเทศ  จากนั้นก็ย้ายเข้าเมืองหลวงที่ สน.บางซื่อ ก่อนจะย้ายไปที่กองปราบปราม จนก้าวขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการกองปราบ   จากนั้นก็ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆเรื่อยมา   เช่น ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี  ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคที่ 1 ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล รักษาการ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ  ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ คนที่ 12   ที่ปรึกษา (สบ.10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และได้ตำแหน่งทางตำรวจสูงสุดคือ เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 


    อย่างไรก็ตามช่วงรรัฐประหารปี 2549  เขาถูกให้มาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี  ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

    อย่างไรก็ตามในชีวิตการเป็นตำรวจเขาได้ร่วมในการทำคดีสำคัญๆเช่น   คดีเพชรซาอุ, คดีฆ่า 2 แม่ลูกครอบครัวศรีธนะขันธ์  คดีสังหารนายแสงชัย สุนทรวัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) 

    ชีวิตของ พล.ต.อ.จุมพล นั้นถือว่าโลดโผนใช่เล่น   โดยเฉพาะถูกจับตาว่ามีสายสัมพันธ์อันดีกับบุคคลในวงการเมือง

    ในปี พ.ศ. 2552  "จุมพล"  ถูกจับตาว่าจะได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ โดยในขณะนั้นขับเคี่ยวอยู่กับ  พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ 

    โดย  "จุมพล"  และได้รับการสนับสนุนจากทางนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านความมั่นคง ซึ่งรับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น รวมถึงนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ กลุ่มของทางนายเนวิน ชิดชอบ ด้วย  
 
    ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  สนับสนุน  พล.ต.อ.ปทีป   และได้เสนอชื่อ ให้เป็น ผบ.ตร.  แต่กลับไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ นายอภิสิทธ์จึงแต่งตั้ง พล.ต.อ.ปทีปเป็นรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ   จนทั้ง "จุมพล" และ "ปทีป" เกษียณอายุราชการไปพร้อมๆกันในปี  พ.ศ. 2553

    ต่อมา ปี พ.ศ. 2554 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุ "จุมพล"  กลับเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง

    ขณะที่วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2559  ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ "จุมพล" ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ  

    อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2560   สำนักงานตำรวจแห่งชาติแจ้งดำเนินคดีรุกป่ากับ "จุมพล"  
 
    และล่าสุดมีคำสั่งสำนักพระราชวังไล่ออกจากราชการ  โดยเหตุผลที่ระบุในคำสั่งว่า "ได้กระทำผิดวินัยฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการไปในทางที่ไม่ถูกต้อง แสวงหาประโยชน์ให้กับตัวเอง ฝักใฝ่ในเรื่องการเมืองเป็นอันตรายต่อความมั่นคง ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย พฤติกรรมดังกล่าว จึงเป็นความผิดวินัยร้ายแรง สมควรรับโทษไล่ออกจากราชการ"