“หอสมุดเมืองกรุงเทพฯ” จุดเปลี่ยนเพื่อ “มหานครแห่งการอ่าน”
“หอสมุดเมืองกรุงเทพฯ” ถูกโปรโมทให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ และสืบต่อโครงการ "มหานครแห่งการอ่าน" เราจึงพาไปสำรวจว่าหอสมุดแห่งนี้เป็นอย่างไร
“หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร” เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2560 ตามพันธสัญญาที่ให้ไว้องค์การยูเนสโก เมื่อปี2556ว่าจะทำ กทม.เมืองหนังสือโลก หรือ มหานครแห่งการอ่าน
วัตถุประสงค์สำคัญ ที่ทำให้มี “หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร” คือ การสร้างพื้นที่ส่งผ่านเรื่องราว องค์ความรู้ ภูมิปัญญาของกรุงเทพฯ ไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจให้กับ คนทุกระดับ รวมถึงสร้างความตระหนักของการอ่านที่มีคุณค่า ตามนโยบายรัฐบาลที่ขีดเส้นให้ การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ
ด้วยเป้าหมายนั้น ทำให้เกิด พื้นที่การเรียนรู้ การศึกษาค้นคว้า ความเคลื่อนไหวที่ทันต่อเหตุการณ์และความเคลื่อนไหวโลก ผ่านอาคารที่ออกแบบในสไตล์ อาร์ต เดคโค ลักษณะโอ่โถง โปร่ง สบาย ตามแนวคิด “แสงแห่งปัญญาเพื่อ การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเข้าใช้บริการ ขณะที่การออกแบบพื้นที่ใช้สอย นอกจากแบ่งโซนอ่านหนังสือ และจัดหมวดหมู่หนังสือตามหลักสากลแล้ว ยังมีห้องทำกิจกรรมสำหรับเด็กเล็กที่เป็นห้องปิดเพื่อกันเสียงรบกวน ผู้อ่านหนังสือ และพื้นที่บริการเพื่อผู้พิการทางสายตา ผ่านมุมหนังสือเสียง และหนังสืออักษรเบรลล์
อย่างไรก็ดีนับจากวันเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ พบประเด็นที่ “ผู้อ่าน หรือ ผู้ใช้บริการ” ท้วงติง คือ จำนวนหนังสือขึ้นชั้นที่มีน้อย หากเทียบกับการยกระดับหอสมุดให้เป็น “หอสมุดประจำเมืองหลวง”
ซึ่งจากการสำรวจของทีมข่าวก็พบว่าแม้จะมีการจัดหนังสือเป็นหมวดหมู่แต่ก็ยังมีหนังอยู่ไม่มากนัก เช่นเมื่อมีผู้ไปค้นหาหนังสือเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สอง ก็มีอยู่เพียงสามเล่ม
ส่วนหมวดหนังสือนิยาย หรือ นวนิยาย นั้นมีเป็นจำนวนมาก และแต่ละเล่มก็มีหลาย copy โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า เพราะมีประชาชนให้ความสนใจจำนวนมากจึงต้องจัดให้เพียงพอต่อการบริการ
ส่วนหนังสือท่องเที่ยว สุขภาพ การทำครัว ก็มีบ้างแต่ก็ยังไม่มากนักและโดยมากเป็นหนังสือใหม่
นอกจากนั้น ก็จะมีมุมเอกสารราชการ เอกสาร โครงการ ของกทม. และ หนังสือที่เกี่ยวข้องกับเขต เป็นหนังสือดีประจำ 50 เขตกทม. เช่นเขต บางกะปิ ก็มีเรื่อง แผลเก่า, พระนคร ก็มีเรื่อง สี่แผ่นดิน
โดยประเด็นนี้ บรรณารักษ์ประจำหอสมุดเมือง – ศิริลักษณ์ หนึ่งด่านจาก ให้ข้อมูลด้านสถิติว่าตลอดที่หอสมุดฯ เปิดให้บริการจะมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยแต่ละวัน4,500 – 5,000คนในวันเสาร์ และ อาทิตย์ ขณะที่วันปกติ ที่ไม่นับวันจันทร์ เพราะเป็นหยุดของหอสมุดฯ มี มีผู้ใช้บริการเฉลี่ย2,500-3,500คน โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ ใช้พื้นที่เพื่อทำงานส่วนตัว รองลงมาคือ อ่านหนังสือ และเข้าใช้พื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็ก
“เหตุผลที่ยังมีผู้อ่านใช้บริการอ่านหนังสือไม่มากนัก ยอมรับส่วนหนึ่งเพราะจำนวนหนังสือที่ขึ้นชั้นมีไม่มากในระยะที่เพิ่งเปิดบริการ ซึ่งเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ ที่ประจำหอสมุด ทั้ง8คน และฝ่ายสนับสนุนเร่งทำระบบหนังสือเข้าชั้นเพื่อตอบสนองคนอ่านและให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยภายในปี2560ตั้งเป้าจะมีหนังสือที่ขึ้นชั้นจำนวน1แสนเล่ม โดยหนังสือที่ทยอยขึ้นชั้น ได้มาจากการจัดซื้อและหมุนเวียนจากห้องสมุดประชาชนขอกทม.”ศิริลักษณ์ ให้ข้อมูล
กับการแก้ปัญหาของ “ห้องสมุดเมือง” ตามเหตุการณ์เฉพาะหน้านั้น เอาจริงแล้ว อาจไม่ตอบโจทย์ความคาดหวังผู้ใช้บริการได้ทั้งหมดเพราะจากการสุ่มถาม“ผู้ใช้บริการหอสมุดเมืองฯ” ต่อความต้องการเพิ่มเติมพบว่า อยากได้ความหลากหลายและรอบด้านของหนังสือประเภทองค์ความรู้ รวมถึงระบบสืบค้นหนังสือเพื่อประหยัดเวลาที่จะเดินหาหนังสือที่ต้องการบนชั้นวาง
และยิ่งเป็นความคาดหวังระดับชั้นรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญของการสร้างนครแห่งการอ่าน ด้วยการปรับโฉมห้องสมุดให้มีเอกลักษณ์ใหม่รูปแบบทันสมัย เมื่อสอบทานจากมุมมองคนเขียนหนังสือ อย่างธีรนัย โสตถิปิณฑะ หรือ “เจม” นักเขียนเด็กแนว เจ้าของนามปากกาและแฟนเพจ “ชี้ดาบ”กลับให้ความเห็นที่ต่างออกไป
“ทุกวันนี้ ความรู้ไม่ได้อยู่ที่ห้องสมุดอย่างเดียว เพราะมือถือสามารถให้เราเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ได้ ผ่านการเสริชข้อมูลผ่านเว็ปไซต์ อย่าง กูเกิ้ล ดังนั้นห้องสมุดต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งเขาทำได้ดีในเรื่องของการสร้างบรรยากาศเพื่อการเรียนรู้ บรรยากาศที่ผ่อนคลาย เพราะหากเจาะจงที่ว่าต้องอ่านหนังสืออย่างเดียว ก็ไม่เข้ากับคนในยุคปัจจุบันที่ต้องการการเข้าถึงที่เร็ว ใช้สมาธิในการอ่านไม่มาก ต้องการอ่านหนังสือที่ถึงจุดสนุกตั้งแต่บรรทัดแรก จนถึงบรรทัดสุดท้าย ตรงนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรักการอ่านเพิ่มมากขึ้น หากเทียบกับหนังสือสมัยก่อนต้องใช้เวลานานในการอ่าน และต้องมีสมาธิมาก ทำให้เด็กไม่ชอบการอ่านหนังสือ เบื่อที่มันไม่สนุก จนเป็นบทสรุปว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือ”
เพราะด้วยนัยยของ องค์ประกอบหอสมุดเมืองฯ นอกจากภาพลักษณ์และบรรยากาศที่เอื้อต่อการอ่าน หรือ ทำกิจกรรมในลักษณะ โค-เวิร์กกิ้ง สเปซ ซึ่ง“กรุงเทพมหานคร” สามารถตอบโจทย์นั้นได้เป็นอย่างดีแล้ว ต้องมีปัจจัยเชิญชวน “คนที่ใช้บริการ” เข้าถึงการอ่าน เกิดการเรียนรู้
หากลองตั้งโจทย์ข้อแรก ที่ให้ “เด็ก” ที่ต้องการอ่านหนังสือสักเล่ม แต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน“นักเขียนขวัญใจวัยรุ่น” ใช้ประสบการณ์จากการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน และการเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ว่า“ภาพยนตร์ยังมี เทรลเลอร์ มีรีวิว ว่า เนื้อเรื่องเป็นอย่างไร น่าสนใจอย่างไร เป็นไกด์ให้คนอยากจะดูได้ หนังสือก็เช่นกัน สามารถทำรีวิว ความน่าสนใจ เหมาะสมกับนักอ่านรุ่นไหนได้ ระดับความยาก เพื่อให้เด็กที่อยากอ่านหนังสือจนจบสักเล่มได้เลือกแทนการเดินเข้าไปเลือกหนังสือที่มีอัดแน่นเต็มชั้นวาง”
นอกจากนั้นแล้ว การจัดหมวดหมู่หนังสือ “เจม” ยังจุดประกายไว้ด้วยว่า ต้องจัดให้เข้ากับยุคสมัยและบุคคลิกของ “ผู้อ่าน” คือ จัดหมวดหนังสือสมัยเก่า แยกจาก หมวดหนังสือสมัยใหม่
“หนังสือสมัยเก่าในความหมายคือ หนังสือที่ต้องใช้สมาธิในการอ่านมาก อาจแบ่งได้จากปีที่พิมพ์ ขณะที่หนังสือสมัยใหม่ อาจนับตั้งแต่ปี2550ที่อ่านง่าย ใช้สมาธิน้อยกว่าผมมองว่าจะทำให้คนเข้าไปหาหนังสือได้ง่ายขึ้น ซึ่งรูปแบบนี้ ผมเชื่อว่าการจัดระบบห้องสมุดแบบนี้ จะได้สิ่งที่มีประสิทธิภาพ เพราะการทำให้ใครเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ต้องเริ่มจากการโยนเรื่องที่สนุกให้เขาสนใจก่อน แล้วความสนใจจะกลายเป็นการเจาะลึกไปเรื่องๆ”
ซึ่งกลยุทธ์นี้ “เจม” เล่าว่า เคยทดลองใช้กับน้องชาย ผู้ที่ไม่ชอบการอ่านหนังสือยกเว้นหนังสือการ์ตูน ผลลัพท์ที่ได้คือ น้องชายกลายเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือในที่สุด
แต่ปัจจัยที่จะนำ “ผู้อ่าน” ไปถึงจุดนั้นได้ “เจม” ชี้ไปที่ “บรรณารักษ์” ที่ต้องหากลยุทธ์ให้คนที่เข้าห้องสมุดอยากอ่านหนังสือ โยงเชื่อมเข้ากับบุคลิกของคนในประเทศ ด้วยการแก้โจทย์สำคัญ คือ คนไม่อ่านหนังสือเพราะอะไร
“ผมมองว่าบรรณารักษ์ต้องทำงานให้หนัก กล้าคิด แบบไม่ยึดติดกับระบบราชการ ถึงจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนและนำไปสู่มหานครการอ่านที่แท้จริง ไม่ใช่คิดแค่มีหอสมุดเมือง ไม่งั้นแหล่งเรียนรู้กลางเมืองจะต่างอะไรกับร้านกาแฟ ที่มีหนังสือเยอะๆ แต่ไม่มีกาแฟขาย” นักเขียนเด็กแนว กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ดี.. เข้าใจว่าการเกิดขึ้นของ “หอสมุดเมือง” เป็นกลไกส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ “นครแห่งการอ่าน” แต่โจทย์ที่ต้องตอบให้ได้ หลังจากนี้ คือ จะรักษาระดับไว้อย่างไร เพื่อให้หอสมุดกรุงเทพฯ ไม่หมดลมหายใจ
เหมือนกับ “หอสมุดแห่งชาติ” ที่มีอยู่จริง แต่นับวัน ก็ยิ่งเข้าไม่ถึง
คลิกอ่าน #หอสมุดซีรีส์ ตอนที่ 2 ลมหายใจ "หอสมุดแห่งชาติ"
คลิกอ่าน #หอสมุดซีรีส์ ตอนที่ 3 ห้องสมุดประชาชน เพื่อ “ใคร”
---------
ขนิษฐา เทพจร