ทำไม “นายกฯ” ต้องควบ “รมว.กลาโหม” ??
แม้ “บิ๊กตู่” จะยืนยันแล้วว่า “ไม่นั่งควบ” ซึ่งในที่นี้หมายถึงควบกระทรวงกลาโหม ตามที่มีข่าวก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังมีคำถาม... : ขยายปมร้อน โดย สำนักข่าวเนชั่น
แม้ “บิ๊กตู่” จะยืนยันแล้วว่า “ไม่นั่งควบ” ซึ่งในที่นี้หมายถึงควบกระทรวงกลาโหม ตามที่มีข่าวก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังมีคำถามอยู่ว่า ทำไมคนเป็น “นายกฯ” จะต้องควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม??
("บิ๊กป้อม" ไม่ปิ๋ว... "บิ๊กตู่" ไม่ควบ)
โดยเฉพาะเมื่อย้อนกลับไปดูในอดีต ในระยะหลังนายกฯ แทบทุกคนจะควบตำแหน่งนี้ด้วย
ไล่เรียงมาตั้งแต่ยุค “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เข้ามาเป็นนายกฯ 4 สิงหาคม 2531–23 กุมภาพันธ์ 2534 ปรากฏว่าในช่วงท้ายรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ก็ได้มานั่งควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม ด้วย คือ ระหว่าง 21 มิถุนายน 2533-23 กุมภาพันธ์ 2534 แต่ก็ยังถูกรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในที่สุด
ต่อมาหลังการรัฐประหารและการร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกฯ ท่ามกลางวาทะอันลือลั่น “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ระหว่าง 7 เมษายน–24 พฤษภาคม 2535 เขาก็ได้ควบตำแหน่งรมว.กลาโหมไป แต่สุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และต้องออกจากตำแหน่งในที่สุด
นายกฯ คนต่อมาที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเป็นนายกฯ ในช่วง 25 พฤศจิกายน 2539–8 พฤศจิกายน 2540 โดยควบตำแหน่งตลอดช่วงการเป็นนายกฯ
ถัดมาคือ นายชวน หลีกภัย ที่มาควบตำแหน่งรมว.กลาโหม ในยุค “ชวน 2” โดยควบตำแหน่งตลอดช่วงที่เป็นนายกฯ 9 พฤศจิกายน 2540-8 กุมภาพันธ์ 2544
ขณะที่ นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งครั้งแรกนับแต่การรัฐประหาร 2549 คือช่วง 29 มกราคม 2551–9 กันยายน 2551 เขาก็นั่งควบรมว.กลาโหม เองตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง
จากนั้นท่ามกลางความผันผวนและวิกฤติการเมือง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นเป็นนายกฯ ระหว่างวันที่ 18 กันยายน 2551–2 ธันวาคม 2551 เขาก็นั่งควบรมว.กลาโหม เช่นกัน
และคนสุดท้ายที่ควบตำแหน่งนี้คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกฯ ระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม 2554–7 พฤษภาคม 2557 โดยมานั่งควบตำแหน่งรมว.กลาโหม การปรับครม.ในช่วงท้ายคือ 30 มิถุนายน 2556–7 พฤษภาคม 2557 ทำให้นอกจากเธอจะเป็นนายกฯหญิงคนแรกของไทย เธอยังเป็นรมว.กระทรวงกลาโหมหญิงคนแรกของประเทศไทยด้วย แต่สุดท้ายรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยก็ถูกรัฐประหารโดยคสช. หลังจาก “ยิ่งลักษณ์” พ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าใช้อำนาจหน้าที่ในการโยกย้ายข้าราชการโดยมิชอบ คือกรณีการโยกย้าย “นายถวิล เปลี่ยนศรี” จากตำแหน่งเลขาธิการ สมช.
ทั้งนี้น่าสังเกตว่า การเมืองในช่วงหลังมีนายกฯ เพียงสองคนเท่านั้นที่ไม่ได้นั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คือ นายบรรหาร ศิลปอาชา และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อ.วันวิชิต บุญโปร่ง นักวิชาการเชี่ยวชาญด้านความมั่นคง มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ถึงความจำเป็นของนายกรัฐมนตรี ต้องเข้ามาควบตำแหน่งรมว.กลาโหม ว่าเป็นความเชื่อในมิติทางการเมืองว่า รัฐบาลจะมีเสรีภาพได้ คือสามารถควบคุมกองทัพ ควบคุมขุนศึกได้ ที่ผ่านมาจึงเห็นว่านายกรัฐมนตรีพลเรือน ควบรมว.กลาโหม เช่น น.ส. ยิ่งลักษณ์ นายสมัคร นายชวน ก็เพื่อกระชับความสัมพันธ์และสร้างความเข้มแข็งให้รัฐบาล จึงได้เห็นว่าเมื่อเข้ามาควบรมว.กลาโหมแล้ว จะพยายามเอาใจ ยืดหยุ่น ผ่านการอนุมัติงบประมาณ จัดซื้อจัดจ้างอาวุธ พูดกันง่ายๆ คือ ตามใจกองทัพ เพื่อซื้อใจกองทัพ เนื่องจากตราบใดที่กองทัพไม่มีท่าทีต่อต้านถือเป็นการรับรองความปลอดภัย ความมั่นคงของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
รศ.ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (ฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัย) วิเคราะห์ว่า การที่นายกรัฐมนตรี ต้องมานั่งควบตำแหน่งรมว.กลาโหมเองนั้น เนื่องจากหาบุคคลที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งไม่ได้ ตำแหน่งรมว.กลาโหม ถือเป็นตำแหน่งพิเศษ คนที่มาเป็นจะต้องได้รับความเชื่อถือและยอมรับจากบุคคลในกองทัพ
“จะเห็นได้ว่าในรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งจะตั้งอดีตทหารขึ้นมาดำรงตำแหน่งรมว.กลาโหม เป็นส่วนใหญ่ เพราะด้วยความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง หรือเคยเป็นผู้บังคับบัญชากันมาก่อน จึงทำให้กองทัพเกิดความเกรงใจ แต่ถ้าหาไม่ได้จริงๆ นายกรัฐมนตรี จะลงมาควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม เอง”
ในส่วนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นั้น รศ.ยุทธพร มองว่า ในช่วงที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดี ดูแลกองทัพได้เป็นปึกแผ่น ไม่มีปัญหาเรื่องความแตกแยกเหมือนที่แล้วมา รวมถึงการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้ยังเป็นถึงอดีตนายทหาร ถือว่ามีบารมีและกว้างขวางมากท่านหนึ่ง
ขณะที่ ทหารนายหนึ่งซึ่งมีความใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร มองว่า โดยทั่วไปการที่นายกรัฐมนตรีจะต้องลงมาควบตำแหน่งรมว.กลาโหม มีเหตุผล 2 ข้อ คือ 1.ความสัมพันธ์ระหว่าง นายกฯ กับ รมว.กลาโหม ไม่แนบแน่น ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 2.รมว.กลาโหม ไม่สามารถควบคุมกองทัพได้ นั่นคือปัจจัยสำคัญ เพราะจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล
“ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง หรือรัฐประหาร ก็ตาม นายกรัฐมนตรีต้องคำถึงถึง 2 ประการนี้ เพราะเรื่องความมั่นคงถือเป็นมิติใหญ่ หากรัฐบาลกับกองทัพเข้ากันไม่ได้ ส่งผลต่อการบริหารราชการแผ่นดิน”
นายทหารคนดังกล่าวมองมาที่รัฐบาลปัจจุบัน โดยบอกว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ถามว่า พล.อ.ประวิตร คุมกองทัพอยู่หรือไม่ และความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประวิตร กับนายกรัฐมนตรี เป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่ ตนมองว่าหากพิจารณาถึง 2 ข้อนี้ทุกคนก็น่าจะได้คำตอบแล้ว
“พล.อ.ประวิตร กับนายกรัฐมนตรี มีความสัมพันธ์เปรียบเสมือนพี่น้องที่คลานตามกันมา แล้วมีความจำเป็นหรือไม่ที่นายกรัฐมนตรีต้องลงมาควบ รมว.กลาโหมเอง นอกจากนี้ภาระหน้าที่ของนายกฯ ที่ต้องรับผิดชอบบ้านเมืองมีมากมาย ส่วนอดีตนายกฯ ที่เป็นพลเรือนต้องลงมาควบรมว.กลาโหมนั้น เพราะรมว.หลาโหมในขณะนั้น คุมกองทัพไม่ได้ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ไปหากันเอาเอง” คนใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร กล่าว
เป็นการวิเคราะห์ที่ชัดเจนอย่างยิ่งในสถานการณ์นี้
แต่อนาคตก็คงต้องดูกันอีกที!!