ไทยอันดับ6โลกขยะพลาสติกมากรัฐชูจัดการขยะมูลฝอยวาระแห่งชาติ
ไทยอันดับ6โลกขยะพลาสติกมากรัฐชูจัดการขยะมูลฝอยวาระแห่งชาติ : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน โดย... คุณภาพชีวิต [email protected]
ทส.ชวนคนไทยร่วม “รักษ์โลก เลิกขยะพลาสติก” ชี้ 12% ของปริมาณขยะทั้งหมดเป็นขยะพลาสติก ไทยใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว 45,000 ล้านชิ้นต่อปี สหประชาชาติระบุแต่ละปีทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 5 แสนล้านใบ และครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่ใช้เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง มีขยะพลาสติกจากทั่วโลกไหลลงสู่ทะเลกว่า 13 ล้านตัน และกว่าครึ่งหนึ่งเป็นขยะพลาสติก ไทยอันดับ 6 ของประเทศที่มีขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก รัฐชูจัดการขยะมูลฝอย เป็นวาระแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานในกิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2561 ตามแนวคิดโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ที่ได้กำหนดประเด็นเรื่องขยะพลาสติกเป็นประเด็นหลักในการรณรงค์ Beat Plastic Pollution : If you can't reuse, refuse it หรือ “รักษ์โลก เลิกพลาสติก” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชน ทุกภาคส่วน ลด ละ เลิกขยะพลาสติก
ไทยใช้ถุงพลาสติก4.5ล้านชิ้นต่อปี
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า จากปริมาณขยะมูลฝอยของประเทศภายในปี 2560 พบว่า มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12% ของปริมาณขยะทั้งหมด โดยส่วนมากเป็นถุงร้อน ถุงเย็นบรรจุอาหาร และหูหิ้ว โดยเฉพาะถุงพลาสติกหูหิ้ว ไทยใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว 45,000 ล้านชิ้นต่อปี และรัฐบาลมีนโยบายในการลดขยะพลาสติกและโฟม ซึ่งประเทศไทยมีปัญหาขยะพลาสติกจำนวนมาก โดยเฉพาะปี 2559 มีขยะมากถึง 27 ล้านตัน มีขยะพลาสติกเฉลี่ยประมาณ 3.2 ล้านตัน
ข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติระบุว่า แต่ละปีทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 5 แสนล้านใบ และครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่ใช้เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง นอกจากนี้ แต่ละปีมีขยะพลาสติกจากทั่วโลกไหลลงสู่ทะเลกว่า 13 ล้านตัน และกว่าครึ่งหนึ่งของขยะทะเล คือ ขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อีกทั้งไทยถูกจัดอันดับที่ 6 ของประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดในโลก ทุก 1 นาที ทั่วโลกมีการซื้อขวดพลาสติกสูงถึง 1 ล้านขวด ในปี 2016 ทั่วโลกมีการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดสูงถึง 480,000 ล้านขวด
"รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก เช่น กระทรวงสาธารณสุข ประกาศ 1 ตุลาคม 2561 เลิกจ่ายถุงพลาสติก หรือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ห้ามใช้ขวดพลาสติกใส่น้ำ และในส่วนทส.ได้มีการรณรงค์ และจัดกิจกรรมเรื่องนี้มาตลอด อาทิ มีการลงนามร่วมกับตลาดอ.ต.ก. โดยจะเลิกใช้ถุงพลาสติกในวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป และได้สั่งการไปที่อธิบดีกรมอุทยานฯ ที่มีทั้งหมด 154 แห่ง หาแนวทางในการเลิกการใช้พลาสติก ที่สำคัญจะมีการนโยบายในการขับเคลื่อนการลด ละ เลิก การใช้พลาสติก โดยเฉพาะถุงพลาสติกหูหิ้ว" พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว
ชูจัดการ“ขยะมูลฝอย”วาระแห่งชาติ
ทั้งนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เห็นชอบให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ ขณะที่ภาคเอกชนก็ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวและพร้อมเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของทส. เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2561 ทาง ทส.จะรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนลด ละ เลิกการใช้วัสดุที่ผลิตขึ้นจากพลาสติกเนื่องจากจะกลายเป็นขยะตกค้างที่ย่อยสลายได้ยาก โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และเชิญทุกกระทรวงประกาศเจตนารมณ์ลดใช้ถุงพลาสติกแบบหูหิ้วและโฟม ซึ่งหน่วยงานภาครัฐควรเป็นต้นแบบที่ดีในการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกแบบหูหิ้วและโฟมอย่างยั่งยืน
พลาสติกก่อมะเร็ง
พญ.ชุลีกร ธนธิติกร นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ แพทย์เฉพาะทางอาชีวเวชศาสตร์ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวในการเสวนา เรื่อง “Why Refuse Plastic” ภายใต้โครงการรณรงค์ลดปัญหาจากขยะพลาสติก เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกว่า ขยะพลาสติกเกิดจากพลาสติก 5 กลุ่มสำคัญ คือ 1.โพลิเอทิลีน (Polyethylene) นำมาใช้ทำขวดน้ำใสใช้ดื่ม และของเล่นเด็กบางชนิด 2.พอลิโพรไพลีน (polypropylene) มีลักษณะเป็นพลาสติกสีขุ่น 3.พีวีซี(PVC) นำมาใช้ทำท่อน้ำ เบาะหุ้มหนัง และเฟอร์นิเจอร์ 4.โพลิสไตรีน (Polystyrene) ใช้ทำกล่องโฟม และ 5.เมลานีน ใช้ทำชามเมลานีน เหล่านี้เป็นพลาสติกที่จะพบเจอและใช้ในชีวิตประจำวันและหลีกเลี่ยงได้ยาก
พญ.ชุลีกร กล่าวว่า ผลกระทบต่อสุขภาพจากพลาสติกอาจเกิดจากสารอันตรายในพลาสติกต่างๆ ทั้งในแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง เช่น 1.กลุ่มบิสฟีนอล เอ (Bisphenol A) พิษเฉียบพลัน มีอาการระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจ คลื่นไส้และปวดศีรษะ ส่วนพิษเรื้อรังส่งผลต่อระบบฮอร์โมนเพศที่ผิดปกติมีพิษต่อตับ และเป็นสารก่อการกลายพันธุ์ 2.กลุ่มสไตรีน (Styrene) พิษเฉียบพลัน เช่น ระคายเคืองผิวหนังหรือทางเดินหายใจ พิษเรื้อรังจะส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้การเคลื่อนไหวและการทรงตัวไม่ดี ความจำเสื่อม สมาธิสั้น และอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นกลุ่มของกล่องโฟม เมื่อโดนความร้อนก็จะปนกับอาหาร และละลายในน้ำมัน เช่น เอากล่องโฟมใส่อาหารประเภททอดก็จะทำให้สารนี้ออกมาปนกับอาหาร
3.กลุ่มพทาเลต (Phthalate) มักแสดงพิษเรื้อรังเป็นผลให้เกิดอาการตกเลือดในปอด อาการตับโต และเป็นสารก่อมะเร็งประเภท 2 B คือ ก่อมะเร็งในสัตว์แต่ยังไม่มีรายงานเกิดในคน 4.กลุ่มไวนิล คลอไรด์ (Vinyl Chloride) พิษเฉียบพลัน เข่น มีอาการวิงเวียน อ่อนเพลีย ง่วง เสียการทรงตัว การได้ยินและการมองเห็นไม่ชัดเจน ส่วนพิษเรื้อรัง ทำให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาทการทำงานของตับ อาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูง เลือดออกตามบริเวณทางเดินอาหาร มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งตับ และ 5.กลุ่มฟอร์มัลดีไฮด์(Formaldehyde) พิษเฉียบพลัน ก่อให้เกิดการระคายเคืองของจมูกและทางเดินหายใจส่วนต้น ลำคอ อาการทางผิวหนัง เช่น เกิดภูมิแพ้หรือผิวหนังอักเสบ ขณะที่พิษเรื้อรังทำให้เกิดโรคมะเร็ง
1 ต.ค.ดีเดย์พกถุงผ้าใส่ยา
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงโครงการ “กรมการแพทย์รักษ์โลก พกถุงผ้าใส่ยากลับบ้าน” ว่า กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป สถาบัน/โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ต้องยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกใส่ยา พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนผู้รับบริการให้นำถุงผ้ามาใส่ยา เพื่อรณรงค์ให้มีการบริหารจัดการขยะอย่างถูกต้อง ลดปัญหาภาวะโลกร้อน
ทั้งนี้ จากข้อมูลการใช้ถุงพลาสติกใส่ยาของหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ ปี 2560 พบว่า มีจำนวน 9,010,164 ใบ หากมีการลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลงจะช่วยลดปัญหาขยะและประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก ที่ผ่านมาสถาบัน/โรงพยาบาลของกรมการแพทย์ จำนวน 30 แห่ง ได้เริ่มดำเนินการยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกใส่ยาไปแล้ว จำนวน 18 แห่ง
อาทิ โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ สถาบันประสาทวิทยา สถาบันโรคทรวงอก ฯลฯ และอยู่ในระหว่างดำเนินการ จำนวน 12 แห่ง ทั้งนี้ บางหน่วยงานยังคงมีถุงพลาสติกใส่ยาให้อยู่โดยควบคู่ไปกับการรณรงค์ขอความร่วมมือ แต่เมื่อถึงวันที่ 1 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ สถาบัน/โรงพยาบาลของกรมการแพทย์ทุกแห่งจะดำเนินมาตรการยกเลิกถุงพลาสติกใส่ยาพร้อมกันทั้งหมด
ไทยอันดับ6ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีประชากร 65 ล้านคน แต่กลับพบว่าปล่อยขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรถึง 1.03 ล้านตันต่อปี ถูกจัดอยู่ในอันดับ 6 จาก 10 ประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุด จากผลการสำรวจของ เจนนา อาร์. แจมเบ็ก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา โดยเรียงลำดับดังนี้ จีน 8.82 ล้านตันต่อปี อินโดนีเซีย 3.22 ล้านตันต่อปี ฟิลิปปินส์ 1.88 ล้านตันต่อปี เวียดนาม 1.83 ล้านตันต่อปี ศรีลังกา 1.59 ล้านตันต่อปี ไทย 1.03 ล้านตันต่อปี อียิปต์ 0.97 ล้านตันต่อปี มาเลเซีย 0.94 ล้านตันต่อปี ไนจีเรีย 0.85 ล้านตันต่อปี และบังกลาเทศ 0.79 ล้านตันต่อปี ตรงนี้เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้
ทั้งนี้ การกำหนดนโยบายวางให้ชัด มีรูปธรรม ขยายผลได้จับต้องได้ และต้องทำในระยะยาวต้นทางถึงปลายทาง ตั้งแต่ระดับนโยบาย ผู้ผลิต ผู้บริโภค ที่สำคัญต้องสร้างความตระหนัก และความตื่นตัว ให้ทุกคนเห็นปัญหาและร่วมกันดูแลรับผิดชอบ