ระบบตำรวจแบบรวมศูนย์
ระบบตำรวจแบบรวมศูนย์ : คอลัมน์... And justice for all โดย... ผศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ
“ถอดรหัส บิ๊กโจ๊ก หวานเจี๊ยบ ทำไมงานเพียบ เสียบได้ทุกคดี”
หากกล่าวถึงการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งสามารถเข้าสั่งการตำรวจได้ทั้งประเทศด้วยคำตอบในมุมของ ระบบตำรวจ (Police System) แล้วนั้น กล่าวได้ว่าการที่ประเทศไทยใช้ระบบตำรวจแบบรวมศูนย์หรือระบบตำรวจแห่งชาติ เป็นคำตอบหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้
โครงสร้างในการบริหารงานตำรวจในแต่ละประเทศนั้น จะสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ระบบรวมศูนย์หรือระบบตำรวจแห่งชาติ (Centralization or National Police Systems) ระบบกึ่งรวมศูนย์หรือระบบตำรวจผสมผสาน (Semi Centralization or Dual Control Police Systems) ระบบตำรวจแบบกระจายอำนาจ (Decentralized Police Systems)
ระบบรวมศูนย์หรือระบบตำรวจแห่งชาตินั้นจะมีสถาบันตำรวจอยู่ภายใต้การควบคุมของส่วนกลางและมีสายการบังคับบัญชาในแนวตั้งตามลำดับชั้น มีเขตอำนาจครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ การบริหารงานตำรวจแบบรวมศูนย์นี้เป็นรูปแบบที่ประเทศไทยใช้ในการบริหารงานตำรวจในประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ระบบโครงสร้างของตำรวจไทยได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่อย่างไรก็ตามระบบตำรวจในประเทศไทยยังคงไว้ซึ่งระบบรวมศูนย์อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานในกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี มีเขตอำนาจทั่วทั้งประเทศ มีระบบการบังคับบัญชาเทียบเคียงกับระบบทหารของประเทศไทยเองโดย มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยศพลตำรวจเอก เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของประเทศ มีผู้บัญชาการภาค ยศพลตำรวจโท เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของแต่ละภาค มีผู้บังคับการจังหวัด ยศพลตำรวจตรี เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของแต่ละจังหวัด และมีผู้กำกับการสถานีตำรวจ ยศพันตำรวจเอก เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของแต่ละสถานี
การบริหารงานตำรวจระบบรวมศูนย์นั้นได้รับอิทธิพลมาจากทวีปยุโรปในอดีต โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีการใช้ระบบการบริหารงานตำรวจแบบรวมศูนย์ตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2200 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเทียบเคียงกันกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อประเทศฝรั่งเศสได้มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ.2332) ฝรั่งเศสได้จัดให้มีการตั้งหน่วยงานตำรวจขึ้นในรูปแบบของกระทรวงตำรวจซึ่งยังคงไว้ซึ่งระบบตำรวจแบบรวมศูนย์และเป็นที่มาให้ประเทศอื่นๆ ที่รับเอารูปแบบการบริหารงานตำรวจของฝรั่งเศสในยุคนี้ไปปรับใช้กับประเทศของตน มีการตั้งกองตำรวจแห่งชาติในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน แต่อาจจะสังกัดในกระทรวงที่แตกต่างกันออกไปบ้างในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างตำรวจในต่างประเทศที่ใช้ระบบรวมศูนย์ในการบริหารงานตำรวจอยู่ในปัจจุบัน เช่น ประเทศมาเลเซีย มีตำรวจแห่งชาติอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ประเทศอินโดนีเซีย มีตำรวจแห่งชาติสังกัดสำนักงานของประธานาธิบดี ประเทศยูกันดา มีตำรวจแห่งชาติสังกัดกระทรวงมหาดไทย ประเทศชิลีมีกองกำลังตำรวจและการรักษาความปลอดภัยสาธารณะสังกัดกระทรวงกลาโหม เป็นต้น
อย่างไรก็ตามระบบตำรวจแบบรวมศูนย์ในปัจจุบันไม่ได้รับความนิยมมากนักในประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่าเมื่อมีผู้มีอำนาจสั่งการได้ทั้งประเทศ ผู้มีอำนาจหรือบุคคลไกล้ชิดผู้มีอำนาจท่านนั้นจะสามารถผูกขาดการสั่งการต่างๆ ได้โดยเบ็ดเสร็จ ดังนั้นแม้แต่ในประเทศฝรั่งเศสเอง ได้มีการออกกฎหมายรัฐบาลท้องถิ่นขึ้นในปี พ.ศ. 2427 โดยให้นายกเทศมนตรีมีอำนาจในการควบคุมหน่วยงานตำรวจ ซึ่งมีลักษณะเป็นตำรวจท้องถิ่นที่ต้องทำงานคู่ไปกับตำรวจรัฐบาลกลาง และในปี พ.ศ. 2484 ได้มีการกำหนดโครงสร้างใหม่ของตำรวจฝรั่งเศส โดยมีลักษณะผสมผสานจากนั้นเป็นต้นมา