ลอกคราบ "อนาคตใหม่" ซ้ายซ่อนรูป
คอลัมน์... กระดานความคิด โดย... บางนา บางปะกง
หลายคนกังขาท่าทีของ “ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์” อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ต่อพรรคอนาคตใหม่ และ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่จิกกัดไม่เลิกรา
ถ้ายังจำกันได้ กลางปีที่แล้ว “ปวิน” เชื้อเชิญธนาธรไปร่วมบรรยายในหัวข้อ “การเมืองแห่งความหวัง : ก้าวพ้นทศวรรษที่สูญหาย” ที่มหาวิทยาลัยโดชิชา ที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีปวินเป็นเจ้าของคลาส ตอนนั้น ฝ่ายที่ไม่ชอบธนาธร ก็วิจารณ์อย่างหนัก กรณีหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ไปพูดตามคำเชิญของนักวิชาการที่มีชื่ออยู่ใน “บัญชีดำ” ของ คสช. เกี่ยวกับความมั่นคงและสถาบันเบื้องสูง
สเตตัสล่าสุดของ “ปวิน” ที่วิจารณ์ตรงๆ ว่า “นักวิชาการไทยที่หันไปเชียร์อนาคตใหม่เพราะเบื่อเพื่อไทย นั่นเป็นทางเลือกของคุณ จะชอบของใหม่เพราะภาพลักษณ์ธนาธร นั่นก็เป็นสิทธิ แต่ถ้าจะมาเถียงว่าเพราะเพื่อไทยสู้ไปกราบไปแล้วเบื่อ เลยหันไปเลือกอนาคตใหม่ อันนี้ขอด่านักวิชาการพวกนี้ว่าอีตอแหล”
จริงๆ แล้ว ปวินคาดหวังสูงว่า “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” จะสานต่อเจตนารมณ์ของ “คณะนิติราษฎร์” ในการแก้ไขมาตรา 112 โดยบรรจุไว้ในแนวทางนโยบายของพรรค แต่แกนนำสองคนนี้ ไม่เอาประเด็นละเอียดอ่อนมาทำเป็นนโยบายหาเสียง
สองแกนนำอนาคตใหม่ ตระหนักดีถึงปฏิกิริยาโต้กลับ และความแตกต่างระหว่าง “คณะนิติราษฎร์” กับพรรคการเมือง จึงเดินหน้าหาฐานเสียงในกลุ่มที่ไม่ชอบ คสช. ทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่
รูปแบบการเปิดตัวของ “พรรคอนาคตใหม่” ก็คือการตลาดการเมือง โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์คน (Personal Brand) พวกเขาเชื่อมั่นในทฤษฎี Political Marketing ที่ว่า “พรรคการเมืองจะประสบชัยชนะในการเลือกตั้งได้ ต้องเป็นพรรคที่มีเข็มมุ่งทางการตลาดเท่านั้น”
“ทักษิณ“ สร้าง ”พรรคไทยรักไทย“ ด้วยการนำกลยุทธ์การตลาดเข้ามาใช้ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา จนสามารถเสนอ ”โปรดักท์" ที่เรียกว่า "ประชานิยม" อันแตกต่างในตลาดจนประสบชัยชนะในสนามเลือกตั้ง
พรรคอนาคตใหม่ กำลังก้าวเดินไปตามทฤษฎี Political Marketing โดยเริ่มจากการสร้างแบรนด์ “ผู้นำพรรค” อย่าง “เอก ธนาธร” เป็นภาพผู้นำคนรุ่นใหม่ การใช้กลยุทธ์ออนไลน์ปั่นกระแส “ฟ้ารักพ่อ” ก็เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว
เชื่อว่า แกนนำพรรคส้มหวาน คงได้บทเรียนจากในอดีตของ “พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย” และ “พรรคพลังใหม่” เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว สองพรรคการเมืองนี้เป็นศูนย์รวมปัญญาชนก้าวหน้า ผู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย และต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง
พรรคสังคมนิยมฯ ปักป้ายสังคมนิยมเด่นชัด ส่วนพรรคพลังใหม่ ยังอยู่ก้ำกึ่งระหว่างเสรีนิยมกับสังคมนิยมแบบรัฐสวัสดิการ
เลือกตั้ง 2518 สองพรรคคนรุ่นใหม่ ได้ ส.ส.มาเกินคาด และส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ แต่โชคร้ายที่อุดมการณ์สังคมนิยมเบ่งบาน กลางสมรภูมิระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย
เลือกตั้ง 2519 กระแสลมขวาจัดพัดแรงราวพายุใหญ่ กวาดอดีต ส.ส.พรรคสังคมนิยมฯ และพรรคพลังใหม่สอบตกกราวรูด
ว่ากันตามจริง ปิยบุตร จบกฎหมายจากฝรั่งเศส และมีความสนใจในการเติบใหญ่ของ “พรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส” มานานแล้ว การสร้างพรรคอนาคตใหม่ โดยไม่มีนายทุนคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของพรรค ก็ไม่ต่างจากการสร้างพรรคสังคมนิยม ที่มีอุดมการณ์ชี้นำพรรค วัฒนธรรมภายในองค์กร ก็พยายามทำให้เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่รากขึ้นมา
แต่ ใจ อึ๊งภากรณ์ กลับมองว่า มันเป็นเรื่องน่าผิดหวังที่พรรคอนาคตใหม่ ดูเหมือนยังไม่สามารถก้าวพ้นรูปแบบพรรคเดิมๆ ของไทย เพราะพรรคกระแสหลักเดิมๆ มักจะมีนายทุนหรือทหารเป็นแกนนำ และมีนายทหารเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกด้วย
ทำนองเดียวกัน สุวินัย ภรณวลัย มองว่า คำประกาศกวาดล้างมรดก ของ คสช. และข้อเสนอของปิยบุตรเหล่านี้คือ Manifesto หรือ คำประกาศการปฏิวัติของพรรคปฏิวัติ ตามโมเดลการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ปิยบุตรเป็นผู้รู้ระดับต้นๆ ของประเทศนั่นเอง
24 มีนาคม 2562 พรรคอนาคตใหม่ กลายเป็นพรรคแห่งความหวังของคนรุ่นใหม่ หรือพรรคปีกซ้ายที่มีชะตากรรม ไม่ต่างจากพรรคพลังใหม่ และพรรคสังคมนิยมฯ ในอดีต