"ม็อบฮ่องกง" การดิ้นรนหนีเงามังกร
ข่าวเนชั่นสุดสัปดาห์ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 15-16 มิถุนายน 2562
*****************
การประท้วงในฮ่องกงเวลานี้ ส่อเค้าลางว่าอาจบานปลายไปมากกว่านี้ หลายคนสงสัย ทำไมเพียงแค่ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ชาวฮ่องกงจำนวนมากถึงรับไม่ได้ขนาดนี้ !
ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ทำให้ชาวฮ่องกงรู้สึกว่า นี่คือตราที่จะมาตอกบนหน้าผากของพวกเขาอีกชั้นว่า ต้องทำตามจีน ต้องฟังจีนบอก !
ไม่ต่างกับการประท้วงที่เรียกกันว่า “ปฏิวัติร่ม” ช่วง 4-5 ปีก่อน ที่ใครจะมองว่าการประท้วงครั้งนี้ คือ ภาคต่อของการปฏิวัติร่มก็คงได้
ฮ่องกง “จีนไม่ใช่จีน?”
ไส้ในที่คนศึกษาประวัติศาสตร์รู้ดี คือเกาะฮ่องกงเป็นอาณานิคมของอังกฤษมานานมาก ดังนั้นความเป็นคนในความดูแล และได้รับการพัฒนามาอย่างดี
ชาวฮ่องกงจึงเหมือนลูกเลี้ยงที่รักพ่อแม่บุญธรรมยิ่งกว่าพ่อแม่แท้ๆ มีบุคลิกพฤติกรรมที่ซึมซับมาจากผู้ดูแลใกล้ชิดมากกว่า
จนเมื่อโลกไม่ตอบรับการล่าอาณานิคมโบราณอีกต่อไป จึงมีการเจรจาระหว่างจีนกับอังกฤษว่าถึงเวลาแล้วที่อังกฤษจะต้องคืนฮ่องกงกลับจีน
ที่สุดทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงในปี 2527 โดยอังกฤษจะคืนอธิปไตยฮ่องกงให้แก่จีนในปี 2540 ภายใต้หลักการ “1 ประเทศ 2 ระบอบ”
คือฮ่องกงจะยังคงพัฒนาภายใต้ระบอบทุนนิยมได้ต่อไป โดยมีสิทธิอิสระในการปกครองตนเองอีก 50 ปี (ราวปี 2590 บวกลบ)
แต่จีนจะเข้าควบคุม 2 ด้าน คือ “การต่างประเทศ” และ “กลาโหม” ขณะที่ผู้ว่าฯ ฮ่องกง และสภาที่ปกครองฮ่องกง จะต้องมาจากการลงคะแนนเสียงของประชาชน
ฟังแล้วเหมือนจะดูดี เพราะคนฮ่องกงเองก็ไม่ได้จะเป็นจะตายกับการกลับคืนสู่จีนในสถานะ “เขตปกครองพิเศษ” มากนัก ถ้าข้อตกลงยังดังเดิม และอีกตั้งหลายปีกว่าที่พวกเขาจะเป็นของจีนอย่างสมบูรณ์
เพียงแต่ในเชิงสังคม คนฮ่องกงทั้งแสดงออกและเก็บอาการ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบคนจีนเท่าไร ถามว่า ทำไม ? พี่ไทยน่าจะเก็ต
2557 การปฏิวัติร่ม
ทุกอย่างมักมีกาดอกจันให้อ่านด้านล่าง ปรากฏว่าตลอดมา ในทางที่ไม่เป็นข่าวใหญ่โต จีนพยายามแหกกฎกับฝ่ายเมืองผู้ดีบ่อยๆ โดยหาวิธีทำให้ฮ่องกงกลายเป็นจีนเต็มตัวในหลายรูปแบบ ผู้คนเก็บความคุกรุ่นในใจ
กระทั่งช่วงกันยายน 2557 เมื่อชาวโลกได้รู้ว่าฮ่องกงมี "ปฏิวัติร่ม” เพื่อต่อต้านที่ทางการจีนได้ผลักดัน “หลักการปฏิรูปการบริหารเกาะฮ่องกง” ที่พวกเขารู้สึกว่าถูกกระชากสิทธิเสียงไปจากมือ
คนไทยถึงได้รู้ว่า ที่อื่นก็มีเรื่องที่ “ไม่เหมือนที่คุยกันไว้” เหมือนกัน
ครั้งนั้นเราได้รู้จักนักศึกษาฮ่องกงหัวก้าวหน้าอย่าง “โจชัว หว่อง” ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Scholarism ที่มีบทบาทสำคัญในการชุมนุมปิดถนนในเขตเซ็นทรัล มงก๊ก จิมซาจุ่ย คอสเวย์ เบย์ และแคนตัน โรด
แต่โดยภาพรวมแล้วการประท้วงครั้งนี้ ไม่ได้มีแกนนำที่เป็นเอกภาพตายตัว เพราะกลุ่มที่เข้าร่วมจัดการชุมนุมมีหลายกลุ่ม โจชัว หว่อง ก็เป็นอีกหนึ่งคนแค่นั้น
หากหลักๆ แล้ว ผู้ประท้วงเรียกร้องให้มีการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐในปี 2560 ได้อย่างเสรี แทนการให้รัฐบาลจีนคัดเลือกผู้สมัคร หรือเรียกรวมๆ ว่าเป็น “การเรียกร้องประชาธิปไตย”
โจชัว หว่อง (กลาง)
ที่สุด 26 กันยายน 2557 ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทย ผู้ชุมนุมได้ใช้ร่มที่ถือมาโดยไม่ตั้งใจเป็นเครื่องกำบัง
กระทั่งแตกยอดนำมาเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ โดยใช้ร่มเหลือง และดำ สร้างชื่อ “ปฏิวัติร่ม” ให้โลกจารึก
2562 คนละเรื่องเดียวกัน
ปี 2557 นับเป็นการชุมนุมใหญ่ที่สุดนับแสนคน แต่ยกนั้นชาวฮ่องกงพ่ายแพ้ตามสูตร ทางการไม่มีการทบทวนข้อเรียกร้อง แกนนำหลายคนต้องเข้ารับโทษทางกฎหมาย
แคร์รี แลม
ส่วนปีนี้ความยิ่งใหญ่มากมายมหาศาลกว่าที่คิด พวกเขากลับมาต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ที่หากมีผลบังคับใช้จะส่งผลให้ฮ่องกงส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปให้ประเทศที่ไม่ได้ทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกันได้
แน่นอนคณะผู้บริหารเกาะฮ่องกง นำโดย แคร์รี แลม ระบุว่า ร่างกฎหมายนี้จะช่วยปิดช่องโหว่ที่ฮ่องกงเป็นสวรรค์ของผู้ร้ายข้ามแดน โดยอ้างถึงคดีฆาตกรรมชาวฮ่องกงที่เกิดขึ้นในไต้หวัน แต่ตำรวจฮ่องกงไม่สามารถตั้งข้อหาได้
แต่เรื่องนี้ ส่งผลให้หลายคนกังวลว่า กฎหมายอาจเปิดช่องให้รัฐบาลจีน ใช้เล่นงานกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจีนได้นั่นเอง
การชุมนุมครั้งนี้ ถ้าใครจะมองว่าการที่มีคนมาชุมนุมมากกว่าช่วงปี 2557 โดยคาดว่าครั้งนี้อาจถึงหลักล้านคน แปลว่าคนฮ่องกงเลิกสนใจเรื่องเดิมไปแล้ว คำตอบคือผิดถนัด
เพราะนี่คือภาคต่อของ 5 ปีก่อน ที่เรื่องอาจเหมือนมาจากคนละแฟ้ม แต่ใจผักเดียวกัน คือ "ไม่ต้องการการครอบงำจากจีน !"
และการที่ทางการจีนต้องแข็งโป๊กไม่ยอมให้ เพราะนี่คือข้อต่อสำคัญที่หากปล่อยให้หลวมแล้ว จีนจะเจอปัญหาอื่นตามมาอีกมากจนอาจถึงขั้นพังทั้งยวง
สำคัญคือจีนจะจัดการเรื่องนี้แบบละมุนหรือรุนแรงขนาดไหน ก็โดนเฉ่งทั้งสองทาง ทั้งจากคู่ฟัดทางเศรษฐกิจ และชาวโลกวงนอก รอดูได้เลย