คอลัมนิสต์

"สุริยะ-ธนาธร"อันตรายใหม่ในการเมืองไทย?

"สุริยะ-ธนาธร"อันตรายใหม่ในการเมืองไทย?

08 ก.ค. 2562

รายงาน...

 


          แน่นอนว่าข่าวร้อนทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาและจากนี้ไปนั่นคือสองอากับหลานตระกูล "จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่สวมเสื้อนักการเมืองคนละพรรคจะเป็นที่จับตาของสังคมว่าจะเป็นอันตรายอย่างไรต่อการเมืองไทย...

 

 

          รายการ “เนชั่นสุดสัปดาห์กับ 3 บก.” ออกอากาศทุกวันเสาร์เวลาห้าโมงเย็นทางเนชั่นทีวีช่อง 22 ”สมชาย มีเสน” ซีอีโอเครือเนชั่น, “วีระศักดิ์ พงษ์อักษร” บรรณาธิการบริหาร นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และ “บากบั่น บุญเลิศ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารนสพ.ฐานเศรษฐกิจ ร่วมวิเคราะห์


          ปฏิเสธไม่ได้ว่าสองอาหลานจากสกุลจึงรุ่งเรืองกิจนั้นเป็นปมร้อนทางการเมืองไทยและสองคนนี้ทำอย่างนั้นได้อย่างไร? โดย

 

 

\"สุริยะ-ธนาธร\"อันตรายใหม่ในการเมืองไทย?

 


          คนที่มีศักดิ์เป็น “อา” สังกัดพรรคพลังประชารัฐ คือ ”สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” แกนนำกลุ่มสามมิตรที่เคลื่อนไหวหนักในการต่อรองเก้าอี้ รมว. แต่กระแสข่าวที่หลากสื่อยืนยันตรงกันว่าสุริยะอยากได้ รมว.พลังงาน แต่สุดท้ายจะไปเป็น รมว.อุตสาหกรรมแทน


          ส่วนหลานชายที่ชื่อ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่...ต้องรอลุ้นในการชี้แจงกับศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการถือครองหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด และเป็นเหตุที่ทำให้ธนาธรต้องเผชิญว่าตัวเองจะหลุดจากการเป็นส.ส.หรือไม่เพราะขาดคุณสมบัติ...


          “สุริยะ-ธนาธร” อันตรายใหม่ในการเมืองไทย? คือประเด็นที่นำมาเจาะลึกในครั้งนี้

 

 

\"สุริยะ-ธนาธร\"อันตรายใหม่ในการเมืองไทย?

 


          สมชาย วิเคราะห์ว่า “สองคนนี้จะเป็นประเด็นร้อนของการเมืองไทย โดย “สุริยะ” เคยบอกว่าจะไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรีแต่จากนั้นก็มาถอนคำพูด พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีเคยสอนนักการเมืองไว้ว่า ”ก่อนพูด” เราเป็นเจ้านายคำพูด “หลังพูด” คำพูดเป็นเจ้านายเรา ดังนั้นสิ่งที่นักการเมืองพูดอาจไม่ใช่เรื่องจริง ต้องดูที่การกระทำ

 

 

 

          สุริยะเข้าสู่การเมืองด้วยการเป็นที่ปรึกษา “มนตรี พงษ์พานิช” อดีตหัวหน้าพรรคกิจสังคม และสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย 2 สุริยะได้เป็น รมช.อุตสาหกรรม โควตาพรรคกิจสังคม จากนั้นไปอยู่พรรคไทยรักไทย ได้เป็น รมว.อุตสาหกรรม และรมว.คมนาคม จากนั้นสมัยรัฐบาลไทยรักไทย 2 เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม



          สุริยะมีผลงานทั้งโบแดงและโบดำทางการเมือง ช่วงจัดอันดับส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พรรคพลังประชารัฐนั้น แต่เดิมสุริยะคืออันดับหนึ่ง แต่ต้องขยับลงมาให้ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ แกนนำกลุ่มกปปส.ขึ้นแทน เพราะมีข้ออ้างว่าภาพลักษณ์ดีกว่า สุริยะต้องร่นมาอยู่ปาร์ตี้ลิสต์อันดับสอง จากนั้นสุริยะกับณัฏฐพลมีการชิงโควตารมว.พลังงาน ในโควตาพลังประชารัฐ

 

 

\"สุริยะ-ธนาธร\"อันตรายใหม่ในการเมืองไทย?

 

 


          กว่ายี่สิบปีที่สุริยะอยู่ในวงการการเมือง ข้อสงสัยที่สังคมเคลือบแคลงผลงานของสุริยะคือการแปรรูป ปตท. ที่ตอนนั้นสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและเป็นรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) ที่มีการขายหุ้นหมดภายใน 1.17 นาที โดยคนที่ใกล้ชิดรัฐบาลไทยรักไทย 1 ได้หุ้นตัวนี้ไปมากมาย โดย ทวีฉัตร จุฬางกูร ได้หุ้นปตท.ไปด้วย สุริยะเป็นคนหนึ่งที่วางโครงสร้างกระทรวงพลังงานที่แยกตัวจากกระทรวงอุตสาหกรรมไป


          ส่วนกระทรวงคมนาคมนั้นตอนที่สุริยะไปทำงานนี้มีข้อเคลือบแคลงหลายเรื่อง เช่น การสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ สิ่งที่เป็นข่าวดังคือเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 จำนวน 26 เครื่องที่มีการอภิปรายว่าซื้อแพงไป แอร์พอร์ตลิงก์ ที่มีการขาดทุนมาตลอด สินบน 1,273 ล้านบาทในการซื้อเครื่องยนต์โรลส์รอยส์ของการบินไทยที่ปปช.สอบสวนอยู่ สัมปทานดิวตี้ฟรี จ้างเหมารปภ.ในสนามบินสุวรรณภูมิสิบปี ทั้งที่ความจริงต้องจ้างสามปีหากผลงานดีจะต่อสัญญาสามปี


          แบบนี้สังคมเคลือบแคลงว่าหากสุริยะได้เป็นรัฐมนตรีจะมีผลงานโบดำอีกไหม...ดังนั้นสุริยะจะเป็นตัวอันตรายของความมั่นคงรัฐบาลพลังประชารัฐว่าจะอยู่ได้นานเท่าใด”

 

 

\"สุริยะ-ธนาธร\"อันตรายใหม่ในการเมืองไทย?

 


          บากบั่นอธิบายสายสัมพันธ์ของสองอาหลานและจุดประสงค์ของสุริยะกับตำแหน่งทางการเมืองในวันหน้าว่า "ธุรกิจเครือ ซัมมิทออโต้ของตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ แบ่งเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มของสรรเสริญ จุฬางกูร ที่มีเครือข่ายธุรกิจอะไหล่รถยนต์และถือหุ้นนกแอร์ มีสามสิบเจ็ดบริษัทดูแล รายได้ปีละหนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาท กลุ่มโกมลและสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ทำธุรกิจร่วมกัน มีสิบบริษัทดูแล รายได้ปีละสองหมื่นสองพันล้านบาท และสุริยะยังมีบริษัทของตัวเองที่มีรายได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปี และกลุ่มพัฒนากับสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ บิดามารดาของธนาธรที่แยกมาตั้งไทยซัมมิทออโต้ รายได้ปีละหกหมื่นล้านบาท


          ชื่อของกลุ่มสามมิตรในพลังประชารัฐจึงมีที่มาของชื่อกลุ่มจากธุรกิจในตระกูลนี้


          กระทรวงพลังงานมีขุมทรัพย์คืองบลงทุนของปตท.กว่าหนึ่งแสนล้านบาท บริษัทลูกกว่าสี่แสนล้านบาท กฟผ.งบลงทุนห้าหมื่นล้านบาทเศษ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนอนุรักษ์และส่งเสริมพลังงาน รวมเงินสองกองทุนราวหกหมื่นล้านบาทที่เป็นเงินนอกงบประมาณที่ รมว.พลังงานดูแล


          ส่วนโครงการที่รอ รมว.พลังงานคนใหม่ ตัองตัดสินใจคือการอนุมัตินำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี การปรับเปลี่ยนโควตาโรงไฟฟ้าก๊าซที่จ.สุราษฎร์ธานี ให้เอกชนดูแล การให้เอกชนเสนอค่าไฟฟ้าราคาต่ำโดยไม่ต้องประมูล IPP ตรงนี้คือเหตุที่มีการแย่งเก้าอี้รมว.พลังงาน”


          วีระศักดิ์ สรุปว่า "สิ่งที่สังคมเคลือบแคลงการทำหน้าที่ของสุริยะในตอนนั้นมีมาก โดยวันนั้นสังคมถามว่าทำไมทวีฉัตร จุฬางกูร ได้หุ้นปตท.2.2 ล้านหุ้นในครั้งนั้น โดยได้หุ้นอุปการคุณ 2.1 ล้านหุ้น ของปตท.ทวีฉัตร มีอุปการคุณกับปตท.อย่างไร และมีข่าวว่านักการเมืองมีหุ้นแบบนี้ได้อย่างไร

 

 

 

\"สุริยะ-ธนาธร\"อันตรายใหม่ในการเมืองไทย?

 


          ส่วนการตั้งครม.ครั้งนี้ช่วงแรกสุริยะไปต่อรองเก้าอี้รมว.คมนาคม จากแกนนำพรรคภูมิใจไทยแต่ไม่สำเร็จ จึงมาต่อรองเก้าอี้ รมว.พลังงาน ในพรรคพลังประชารัฐ ตรงนี้ก็มีสิ่งที่หลายคนเคลือบแคลงว่าทำไมสุริยะต้องการไปทำงานตรงนั้น และปัญหาการชิงเก้าอี้รมว.พลังงานในพลังประชารัฐที่เกิดขึ้น แม้ล่าสุดจะมีการแถลงว่าจบแล้ว แต่ความจริงน่าจะเป็นการพักรบ”


          ส่วนกรณี "ธนาธร” นั้น สมชายวิเคราะห์ว่า มาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะมาทำงานการเมืองว่าห้ามถือครองหุ้นสื่อ ล่าสุด ธนาธรบอกว่า ตัวเองไม่ผิด หากตัวเองผิด ส.ส.คนอื่นต้องผิดด้วย หากตัวเองผิด แต่คนอื่นไม่ผิด สังคมจะตาสว่างนั้น ตรงนี้มีความแตกต่างในรายละเอียดของแต่ละคนและรอการพิสูจน์ แม้ธนาธรจะบอกว่าเคยไปพบกกต.แล้วสอบถามแต่กกต.ก็ตอบอะไรไม่ได้


          ช่วงแรกธนาธรบอกว่าทำสื่อจริงและอ้างว่าโอนแล้ว จากนั้นบอกว่าบริษัทยุติกิจการแล้ว ทำไมพูดกลับไปกลับมาเพราะจากนี้ธนาธรอาจอ้างว่าตัวเองได้รับการตัดสินไม่ยุติธรรม สองมาตรฐาน ตอนนี้พรรคอนาคตใหม่เคลื่อนไหวนอกสภาเพื่อดึงมวลชนมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้และอาจจะเป็นอันตรายต่อการเมืองไทยในอนาคต


          หลังวันที่ 8 กรกฎาคม ธนาธรต้องส่งเอกสารไปชี้แจงกับศาลรัฐธรรมนูญหลังขอขยายเวลาเพิ่ม แต่ศาลไม่ให้ขยายเพราะธนาธรเคยขอมาแล้วรวมเวลาสี่สิบห้าวัน รอดูว่าศาลจะตัดสินเลยหรือจะเปิดศาลไต่สวน คาดว่าจะมีการเปิดศาลไต่สวนเพื่อให้ธนาธรมาชี้แจงว่าโอนหุ้นสื่อก่อนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ จริงหรือไม่ เพราะมีเอกสารของกระทรวงพาณิชย์ลงวันที่ 21 มีนาคม ในการโอนครั้งนี้แจ้งไว้ แม้ธนาธรบอกว่าโอนไปตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมแล้วก็ตาม ประเด็นหลักที่น่าสนใจคือมารดาของธนาธรที่จะให้การต่อศาลเพราะศาลสามารถซักถามพยานได้เอง”

 

 

 

\"สุริยะ-ธนาธร\"อันตรายใหม่ในการเมืองไทย?

 


          วีระศักดิ์ให้ความเห็นว่า “กรณีนี้หากศาลไต่สวนธนาธร มารดา ภรรยาและหลานสองคนของธนาธรต้องไปชี้แจต่อศาลด้วยตามที่ธนาธรอ้างไว้เกี่ยวกับการโอนหุ้น เพราะบุคคลเหล่านี้มีการเกี่ยวโยงกับเรื่องนี้ตามที่มีข้อมูลปรากฏ”


          บากบั่นสรุปว่า "กรณีนี้ธนาธรกำลังนำคนในครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาธนาธรมั่นใจในการกระทำและต่อมานำเอกสารไปส่งศาลแบบมั่นใจ แต่ทำไมมาขอขยายเวลา แปลว่าธนาธรอาจตอบคำถามไม่ได้ใช่หรือไม่ และจุดตายของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่มารดาของธนาธรในการให้การต่อศาล”