
บานปลาย..อภิปรายทั่วไป"ประยุทธ์"ปมถวายสัตย์ฯ
บานปลายเมื่อฝ่ายค้านยกระดับ ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามนายกฯในเรื่องนี้
โดย โอภาส บุญล้อม
เรื่องไม่จบง่ายๆ...ตามคาดกับเรื่องที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน แม้ว่านายกฯ จะบอกว่า เรื่องอยู่ในกระบวนการ ให้รอผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ออกมาก่อนก็ตาม แต่ฝ่ายค้านก็ไม่ฟัง โดยหยิบเอาเหตุที่ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ไปตอบกระทู้ มาขยายใช้มาตรการที่เข้มข้นกว่าเดิม ด้วยการยื่นญัตติต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้เปิดการอภิปรายทั่วไปพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152
มาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติก็ได้
แม้ว่าญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะต่อรัฐบาลกำหนดให้ทำได้ปีละ1 ครั้งเท่านั้น ซึ่งก็มีเสียงบอกว่า น่าจะใช้ในเรื่องของปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมากกว่า แต่ฝ่ายค้านก็มองว่า “คุ้ม” ซึ่งก็คงมองในเรื่อง“การเมือง” เพราะขืน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มาตอบอีกเหมือนกรณี “กระทู้ ” ก็จะมีแซงชั่นตามมามากกว่าเดิม เช่น อาจถูกร้องว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และขยายไปเล่นงานถึง“มาตรฐานจริยธรรม”
และถึงแม้กฎหมายไม่ได้กำหนดโทษไว้กรณีที่นายกฯ ไม่มาฟังการเปิดอภิปรายทั่วไป แต่โดยหลักการหากเกี่ยวพันกับใคร คนนั้นก็ต้องไปตอบหรือมอบหมายรัฐมนตรีไปตอบ ซึ่งเรื่องถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน เกี่ยวข้องกับนายกฯโดยตรง เพราะเป็นคนกล่าวนำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่แล้วกล่าวคำไม่ครบถ้วนตามที่ี่รัฐธรรมนูญระบุไว้ จะมอบหมายให้รองนายกฯ เช่น มือกฎหมายอย่าง “วิษณุ เครืองาม ” มาตอบแทน ก็ดูกระไรอยู่
และขืน พล.อ. ประยุทธ์ ไม่มาชี้แจงตามญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป ก็จะถูกฝ่ายค้านใช้ “ยาแรง” ขึ้นอีก คือ ใช้มาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้
ดูแล้วน่าเหนื่อยใจแทน พล.อ. ประยุทธ์ จริงๆ ในเรื่องนี้ แต่จะไปโทษใครได้ เพราะเป็นการยื่น "หอก” ให้ฝ่ายค้านทิ่มแทงเอง
และหากสรุปให้เห็นแผนของฝ่ายค้านเดินเกม ‘ปมถวายสัตย์’ ทีละ“สเต็ป”ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็คือ
เริ่มจาก 1. พรรคอนาคตใหม่ ประเดิมเดินเกมตั้งกระทู้ ตามมาตรา 150
2. พรรคเพื่อไทย เดินเกมอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 152 ซึ่งนอกจากเรื่องถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน ยังพ่วงเรื่องที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาที่เพิ่งผ่านพ้นไปว่าไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญกำหนด เพราะว่าไม่ได้มีการชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายต่างๆ
และ 3. ถ้า“บิ๊กตู่”ตอบไม่เคลียร์ฝ่ายค้าน 7 พรรค ยื่นไม่ไว้วางใจ ตามมาตรา 151
และการที่พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ให้รอฟังผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนในทาง “การเมือง” นั้นช้าเกินไป เพราะกว่าที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะชี้ออกมาและหากชี้ว่ามีมูลความผิด เส้นทางก็ยังเดินต่อไปอีก โดยอาจต้องส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง ตามที่“วิษณุ เครืองาม ” บอก เรื่องจึงต้องใช้เวลาอีกนาน
และล่าสุดทางผู้ตรวจการแผ่นดินก็ออกมาบอกแล้วว่า ตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องให้ตรวจสอบกรณี พล.อ. ประยุทธ์ ถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 161 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาแล้ว และตามขั้นตอนต้องสอบถามไปยังผู้ถูกร้อง คือ นายกฯด้วย เมื่อได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้วจะนำพิจารณาอีกครั้ง อย่างน้อยก็ต้องใช้เวลา 15 วัน โดยผู้ตรวจการแผ่นดินนัดครั้งต่อไปวันที่ 27 ส.ค.นี้ ฝ่ายค้านไม่มีทางรอไหว จึงเตรียมยื่นญัตติขอเปิดการอภิปรายทั่วไปซักฟอกนายกฯ เรื่องถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนในวันพรุ่งนี้
สำหรับเรื่องถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนนี้ แน่นอนว่าย่อมส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลดน้อยลง เพราะเป็นการผิดพลาดในเรื่องสำคัญที่ไม่ควรผิดพลาดเลย
และถ้าจะให้รอขั้นตอนตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือศาลรัฐธรรมนูญก่อน อย่างที่นายกฯว่า หนีไม่พ้นที่จะถูกมองว่า "เตะถ่วง" ซื้อเวลา
รีบตัดสินใจในทางใดทางหนึ่งออกมาด้วยตัวเอง น่าจะดีที่สุดเพื่อสยบความเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ให้สั่นคลอนรัฐบาลมากกว่านี้ เช่น การถวายสัตย์ใหม่ให้ถูกต้องตามที่มีหลายฝ่ายเสนอ ก็เป็นทางเลือกที่น่าพิจารณา