ปัดฝุ่น'ทางม้าลาย 3 มิติ'..คืนพื้นที่ปลอดภัยให้คนข้าม
โดย... ทีมข่าวอาชญากรรม
ความปลอดภัยบนพื้นถนนเป็นปัญหาใหญ่ที่มักจะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่ “อุบัติเหตุ” เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับคนข้ามถนน โดยสาเหตุอาจเกิดจากความประมาทของตัวบุคคล สภาพพื้นผิวการจราจร หรือแม้แต่ปัญหาเรื่องสัญลักษณ์ทางจราจรไม่ชัดเจน
ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และยังถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีถนนอันตรายเบอร์ต้นๆ ของโลกเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมขับขี่รถที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น ทั้งจากการ เมาแล้วขับ การขับรถเร็ว เร่งรีบ การขับรถย้อนศร การใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ รวมไปถึง การไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ซึ่งกำลังกลายเป็น “ภัยเงียบบนท้องถนน” ที่ไม่ได้รับความใส่ใจ ทั้งจากผู้มีอำนาจและจากประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน เห็นได้จากพฤติกรรมผู้ขับขี่รถ ที่ส่วนใหญ่มักจะเร่งความเร็วเมื่อใกล้ถึงทางม้าลาย หรือบีบแตรไล่คนข้ามทางม้าลาย รวมทั้งการจอดรถทับทางม้าลาย ปัญหาทั้งหมดก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มี “อารยธรรม” ของคนไทย จนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ
ในที่สุดรัฐบาลเริ่มให้ความสนใจที่จะแก้ปัญหา โดยสั่งการให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพิ่มมาตรการความปลอดภัยบนทางม้าลาย ต้องร่วมกันทำทางม้าลายทั่วประเทศให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยแก่ประชาชนอย่างแท้จริง โดยให้ตำรวจประสานการทำงานร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม สำรวจและริเริ่มมาตรการความปลอดภัยที่เด่นชัด ควบคู่กับการเข้มบังคับใช้กฎหมายบริเวณทางม้าลายอย่างจริงจังต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณ โรงเรียน วัด โรงพยาบาล พื้นที่ท่องเที่ยว และแหล่งเศรษฐกิจสำคัญ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ทันทีที่รัฐบาลสั่งการ ทางตำรวจก็รับลูกโดย พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่รับผิดชอบดูงานจราจร ได้เป็นประธานประชุมเพื่อเพิ่มความเข้มข้นในมาตรการความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะทางคนข้าม (ทางม้าลาย) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยบอกว่า ในที่ประชุมได้หารือหาแนวทางร่วมกัน โดยเป็นการทำงานในลักษณะบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ซึ่งมีข้อเสนอให้มีการใช้เทคโนโลยีและสังคมออนไลน์ เพื่อกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ให้ปฏิบัติตามเครื่องหมายและป้ายจราจร ศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการที่จะทำทาง “ม้าลาย 3 มิติ” และมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษา ข้อดี ข้อเสีย ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ถึงวัตถุประสงค์ที่จะลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนทางม้าลายและทางข้ามอื่นๆ หรือเพิ่มจุดให้มีทางม้าลายเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกอย่างจริงจัง ปรับผู้กระทำความผิดในอัตราสูงสุด
พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ บอกว่า ภายหลังที่ได้มีการหารือแนวทางกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดมาตรการต่างๆ ทั้งในเรื่องการปรับปรุงทางม้าลายให้เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่ โดยร่วมกับกระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร ซึ่งจากผลการสำรวจทางม้าลายทั่วประเทศมีจำนวนทางม้าลาย 7,325 จุด มีการขอเพิ่มทางม้าลายจำนวน 723 จุด มีการปรับลดทางม้าลายที่ซ้ำซ้อน จำนวน 51 จุด คงเหลือทางม้าลาย จำนวน 7,997 จุด มีการประสานให้ซ่อมแซมทาสี จำนวน 1,219 จุด ดำเนินการสำรวจข้อมูลกล้องซีซีทีวี บริเวณทางม้าลาย ที่มีจำนวน 8,697 ตัว และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตั้งเพิ่มเติม จำนวน 1,028 ตัว รวมถึงจะต้องเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
“มีการจัดทำทางม้าลาย 3 มิติ นำร่องสถานศึกษาทุกจังหวัด โดยในกรุงเทพมหานครจะเริ่มต้นที่โรงเรียนบดินทรเดชา และให้ออกแบบทางม้าลายที่เขียนข้อความเตือนคนข้ามถนนให้เป็นรูปแบบเดียวกัน ขณะเดียวกันกำหนดให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพิ่มมาตรการความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะทางม้าลายทั่วประเทศ ร่วมกับประชาชนจิตอาสาและอาสาสมัครจราจร อำนวยความสะดวกจราจรบริเวณทางม้าลาย เสนอให้มีการตัดคะแนนผู้ขับขี่ที่ไม่หยุดให้คนข้ามบนทางม้าลาย และให้ติดตามผลการปฏิบัติ โดยจะมีการประชุมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกต้นเดือน เพื่อขับเคลื่อนมาตรการความปลอดภัยอย่างยั่งยืน” ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าว และว่า โครงการนี้จะเป็นมาตรการเชิงรุกด้านการปลุกจิตสำนึก สร้างวินัยจราจร ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจะมีการขยายผลต่อยอดไปยังโรงเรียนต่างๆ ในทุกจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ และขยายต่อไปยัง วัด โรงพยาบาล ชุมชนต่างๆ ต่อไป ถือเป็นกิจกรรมเสริมสร้างวินัยจราจรให้เด็กนักเรียน ให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียนในเรื่องการใช้ทางข้าม (ทางม้าลาย) ที่ถูกต้อง
ทว่า “ทางม้าลาย 3 มิติ” ไม่ใช่เรื่องใหม่ของ พ.ศ.นี้ หากแต่เป็นการเอามา “ปัดฝุ่น” เพราะไอเดียนี้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากช่วงนั้นเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บสูญเสียกับคนข้ามทางม้าลาย ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติบ่อยครั้ง กระทั่ง กรมทางหลวงชนบท ได้มีโครงการศึกษาวิจัย เพื่อดูว่า “ทางม้าลาย 3 มิติ” มีความเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ โดยได้ขอให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยบูรพา ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่อง “ทางม้าลาย 3 มิติ” แต่เรื่องก็เงียบไปจนไอเดียนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาดำเนินการใหม่ในปัจจุบัน
แน่นอนว่าแนวคิดนี้มีทั้งเสียงสนับสนุน และเสียงที่ตั้งคำถามว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุสร้างเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้จริงหรือ ? “ทางม้าลาย 3 มิติ” จะทำให้คนขับรถตกใจ จนอาจทำให้การเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นหรือไม่ ? แต่ในต่างประเทศแนวคิดนี้ถูกใช้ไปกว่า 10 ปีแล้ว โดยเฉพาะ จีน และอินเดีย ซึ่งมีบางเมืองทำ “ทางม้าลาย 3 มิติ” ซึ่งตามข้อมูลบอกว่า ทำให้ผู้ขับรถมีความสนใจและเห็นทางข้ามได้ชัดเจน และเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น โดยยังไม่พบว่า “ทางม้าลาย 3 มิติ” ที่ทำขึ้นจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุแต่อย่างใด
จุดประสงค์หลักของการทำ “ทางม้าลาย 3 มิติ” ก็คือ ทำให้ทางข้ามถนนเป็นที่สะดุดตา เห็นได้ชัดเจน และกระตุ้นเตือนให้ผู้ขับรถลดความเร็วลงเพื่อหยุดให้คนข้ามถนนไปก่อนได้ทันเวลา ซึ่งตามกฎจราจรขณะที่มีคนข้ามถนนในทางข้ามผู้ขับรถต้องหยุดให้คนข้ามก่อน แต่ทั้งคนข้ามและคนขับจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด แม้ทางม้าลายจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยของคนข้ามก็ตาม และการติดตั้งอุปกรณ์เสริมอย่างอื่นก็จำเป็น เพราะจะเพิ่มความปลอดภัยขึ้นไปอีก
ขณะที่ต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฯลฯ บริเวณทางม้าลายจะมีปุ่มให้ผู้ข้ามกด โดยจะมีหน้าตาแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เมื่อกดปุ่มแล้วรอสักพัก พอสัญญาณไฟเปลี่ยนเป็นสีเขียว ผู้ข้ามก็สามารถข้ามได้ ขณะเดียวกันในบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ นอกจากมีปุ่มกดแล้ว เมื่อถึงสัญญาณไฟให้คนข้ามได้ ก็จะมีเสียงสัญญาณดังในขณะนั้นด้วย เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่น ในบางแยกถึงแม้จะไม่มีปุ่มกด แต่เมื่อสัญญาณไฟอนุญาตให้ข้ามปรากฏ สัญญาณก็จะดังเตือน ส่วนที่อังกฤษ เกือบทุกแยกที่มีทางม้าลายจะมีไฟให้กด ส่วนแยกที่ไม่มีไฟให้กด บางที่จะมีเสาไฟสีเหลืองกลม กะพริบๆ อยู่ 2 ฝั่งถนน ซึ่งทางม้าลายแบบนี้หากมีคนจะข้าม รถต้องหยุดให้ทันที รวมถึงมีเส้นซิกแซกอยู่ที่สองข้างทางก่อนถึงทางม้าลาย เพื่อห้ามไม่ให้ผู้ใช้รถจอดรถบริเวณนั้น เพราะจะบดบังคนที่กำลังจะข้ามถนนอีกด้วย
อย่างไรก็ตามประเทศเหล่านี้ยังมีกฎหมายที่เข้มงวดและบังคับใช้อย่างจริงจัง ทั้งกับผู้ขับขี่และผู้ข้ามถนน โดยมีโทษค่อนข้างรุนแรง ตั้งแต่ปรับยึดใบอนุญาตขับขี่และจำคุก เช่น ประเทศสิงคโปร์ ต้องข้ามถนนในที่ที่ให้ข้ามเท่านั้น หากข้ามในที่ห้ามข้ามถือว่าผิดกฎหมาย รวมถึงข้ามในที่ให้ข้ามแต่สัญญาณไฟยังไม่ให้ข้าม ก็ถือว่าผิดกฎหมาย โดยมีโทษปรับเป็นเงิน 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 13,000 บาท) หากทำผิดซ้ำสอง อาจถูกจำคุก 3 เดือน และหากยังทำผิดซ้ำอีกมีโทษปรับ 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 51,000 บาท) และจำคุก 6 เดือน ส่วนกฎหมายของไทย ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีที่ผู้ใช้รถไม่จอดหรือหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายว่ามีความผิดตามกฎหมาย ส่วนโทษมีการกำหนดไว้ ตามมาตรา 152 “ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท” เนื่องจากทางม้าลายนับเป็นเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้หรือทำให้ปรากฏในทาง แถมยังมีความผิด มาตรา 70 “ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก ทางข้าม เส้นให้รถหยุด หรือวงเวียน ต้องลดความเร็วของรถ” โดยมีการระบุด้วยว่า “ห้ามจอดรถทับทางม้าลายหรือในระยะ 3 เมตร” ผิดตามมาตรา 57 ลงโทษตาม มาตรา 148 ปรับไม่เกิน 500 บาท นอกจากนี้ มาตรา 104 ยังระบุไว้ว่า “ภายในระยะไม่เกิน 100 เมตร นับจากทางข้าม ห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางนอกทางข้าม” หากฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท
นอกจากมี "ทางม้าลาย 3 มิติ" ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริม เข้มงวดบังคับใช้กฎหมายแล้ว สิ่งสำคัญคือการสร้างจิตสำนึกให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนมีวินัย เคารพปฏิบัติตามกฎกติกา มิเช่นนั้นทุกชีวิตยังต้องผจญอยู่กับ “ภาวะความเสี่ยงสูง" เหมือนเดิม..!!