คอลัมนิสต์

ฮ่องกง : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ฮ่องกง : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

27 ส.ค. 2562

คอลัมน์...  กระดานความคิด   โดย... เอนก เหล่าธรรมทัศน์

 

 

 

          ถามกันว่า ฮ่องกงที่กำลังมีการประท้วงกันมาหลายเดือนนั้นจะลงเอยอย่างไร จีนจะปราบปรามแบบ “เทียนอันเหมิน” ไหม ฮ่องกงจะแยกตัวออกจากจีนไหม บางคำถามผมตอบได้ บางคำถามตอบไม่ได้ ที่ตอบได้แน่ๆ คือ ฮ่องกงเป็นรอยแผลใหญ่รอยแรกที่จักรวรรดิบริเตน หรืออังกฤษ กรีดลงบนหัวใจคนจีนผู้รักชาติและภูมิใจในอารยธรรมอันเก่าแก่และยิ่งใหญ่

 


          ฮ่องกงนั้นประกอบด้วยสามเขตย่อย คือ เกาะฮ่องกง คาบสมุทรเกาลูน และอาณาบริเวณใหม่ หรือ New Territory ที่อยู่เหนือเกาลูนลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่


          เกาะฮ่องกงเสียให้แก่อังกฤษปี 1842 ตรงกับรัชกาลที่ 4 อังกฤษลักลอบส่งฝิ่น ยาเสพติดร้ายแรงจำนวนมหาศาลเข้ามาขายในจีน ผิดกฎหมายของจีนอย่างโจ่งแจ้ง อังกฤษซึ่งสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนและการเคารพหลักนิติธรรมเอาเข้าจริง ต้องการแต่เงิน ไร้ยางอาย มองไม่เห็นคนจีนที่เสพฝิ่นติดฝิ่นเป็นเพื่อนมนุษย์ และฝรั่งอีกชาติหนึ่ง คืออเมริกา ดินแดนเสรีประชาธิปไตย ก็ส่งฝิ่นจากตุรกีเข้ามาขายในจีนเป็นล่ำเป็นสันเช่นกัน เศรษฐีฝิ่นชาวอเมริกันที่ร่ำรวยมากคนหนึ่งก็คือปู่ทวดของประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี โรสเวลท์ นั่นเอง 


          ตกปี 1839 รัฐบาลจีนทนเห็นคนเรือนล้านของตนติดฝิ่นงอมแงมต่อไปไม่ไหว จับกุมฝรั่งที่ลักลอบนำเข้าฝิ่น หรือขายฝิ่น อย่างเด็ดขาด เผาทำลายฝิ่นทิ้งมหาศาล เป็นเหตุนำมาสู่สงครามฝิ่นที่รบกับจีนเกือบสามปี จบลงในปี 1842 ด้วยความพ่ายแพ้อดสูของฝ่ายจีน 


          หลังสงครามฝิ่นก็ยังนำเข้าและขายได้ต่อไป แถมจีนต้องยกเกาะฮ่องกงให้อังกฤษ และต้องยอมเปิดเมืองท่าให้ตะวันตกค้าขายอย่างเสรี ยอมทำสนธิสัญญาไม่เสมอภาค อธิบายว่า คนอังกฤษหรือบริเตนที่ทำผิดในประเทศจีน จากนี้ไปไม่ต้องชำระด้วยกฎหมายจีน ไม่ต้องไปขึ้นศาลจีน ซึ่งก็คล้ายกับสนธิสัญญาบาวริ่งที่อังกฤษบีบให้สยามเซ็นในปี 1885 ที่น่าสนใจคือ ก็เซอร์จอห์น บาวริ่ง ที่มาเซ็นกับสยามนั้น คือข้าหลวงปกครองเกาะฮ่องกงของจักรวรรดิบริเตนนั่นแหละ สรุปว่าเราเซ็นสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับฝรั่งหลังจีนราวสี่สิบปีครับ


          จากนั้นในปี 1860 จีนที่อ่อนแอก็ถูกอังกฤษผู้ก้าวร้าวยึดเกาลูนไปรวมกับเกาะฮ่องกง และในปี 1898 ตรงกับรัชกาลที่ 5 จีนที่ยังตกต่ำลงไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีอะไรมาหยุดยั้งไว้ได้ ก็ต้องยก New Territory ให้แก่อังกฤษผู้ยิ่งใหญ่แต่หยาบกร้านไปอีก จีนเจียนอยู่เจียนไป ถูกยึดดินแดนนั้น เสียดินแดนนี้ ไปเรื่อยๆ และตั้งแต่ปี 1937 ญี่ปุ่น ชาติซึ่งเคยรับเอาศาสนาและอารยธรรมมาจากจีนมาเป็นพันปี ก็ก่อสงครามใหญ่และยึดดินแดนฝั่งตะวันออกของจีนได้หมด 


          หากไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ต่อต้านญี่ปุ่นอย่างไม่กลัวตาย ไม่กลัวแพ้ และไม่มีวันยอมจำนน และรวมประเทศได้สำเร็จเมื่อปี 2492 ป่านนี้แล้ว ฮ่องกงก็ยังคงเป็นอาณานิคมอังกฤษ คนฮ่องกงนั้นไม่เคยมีสิทธิในการเลือกตั้งตลอดเวลาอันยาวนานที่ฝรั่งปกครอง และผู้ว่าราชการ หรือข้าหลวงใหญ่ที่ปกครองฮ่องกงนั้น ถูกส่งมาจากลอนดอนโดยไม่เคยไถ่ถามว่าคนพื้นที่นั้นรู้จักไหม ชอบไหม รับได้ไหม การจลาจลหรือประท้วงหากเกิดขึ้น ก็จะถูกบรรดาตำรวจของอาณานิคมจัดการอย่างรวดเร็ว บางครั้งรุนแรงเสียด้วย


          น่าแปลกใจที่ผู้ประท้วงรุ่นหนุ่มสาวในเวลานี้ ดูเหมือนจะไม่รู้ ไม่ซึมซับเลยว่าการเกิดขึ้นของอาณานิคมฮ่องกงนั้นคือ ความอัปยศของชาติจีน 


          ยิ่งกว่านั้น พวกเขายกย่องบูชาความคิดและสถาบันของฝรั่งไม่ว่าฝรั่งอังกฤษหรือฝรั่งอเมริกา โดยไม่จำอดีตอันละโมบ ก้าวร้าว หยามเหยียด ของพวกเขา เสียเลย ความคิดฝรั่งนั้นว่าไปเหมือนเหรียญสองด้าน นี่ก็เป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญด้านลบ และผมไม่แน่ใจว่าด้านไหนใหญ่กว่าด้านไหน ด้านไหนจริงกว่ากัน ด้านไหนกำหนดด้านไหนกันแน่


          ผมยังตอบได้อย่างแน่ใจว่า จีนจะไม่มีวันยอมให้ใครก็ตาม ทำการนานแค่ไหนก็ตามใช้วิธีการอะไรก็ตาม มาชักนำฮ่องกงให้แยกตัวออกไปเป็นอันขาด อย่าลืม : คนจีนหลายล้านคนทั่วประเทศ ได้หลั่งเลือดพลีชีพตั้งแต่ปี 1911 จนถึง 1949 และหลังจากนั้นยังทุ่มเทเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างจนถึงปี 1984 จึงเห็นวันเวลาที่ฮ่องกงจะกลับคืนมา และก็ด้วยความเพียรพยายามของเติ้งเสี่ยวผิงเป็นพิเศษนั่นเอง ที่ทำให้อังกฤษยอมคืนฮ่องกงทั้งสามเขตย่อยให้กลับสู่มาตุภูมิในปี 1997 ซึ่งเติ้งเสี่ยวผิงนั้นอยากอยู่จนได้เห็นฮ่องกงกลับคืนมา น่าเสียดาย ท่านถึงแก่อสัญกรรมไม่กี่เดือนก่อนที่ธงยูเนียนแจ็กของบริเตนจะถูกเชิญลง และธงห้าดาวของจีนจะถูกเชิญขึ้นไปแทน


          สุดท้าย ผมไม่อาจบอกได้ครับว่าจีนจะใช้หรือไม่ใช้ความรุนแรงมาสยบการประท้วงและการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจีนจะไม่ส่งกองทัพเข้าฮ่องกง จะไม่ใช้ความรุนแรงแบบ “เทียนอันเหมิน” มาเป็นคำตอบ  


          ความยืดเยื้อ ความอดกลั้น อาจจะเป็นการปูทางลงให้การเคลื่อนไหวยุติได้ หวังว่าจีนจะรอบคอบ ทำอะไรที่ควรทำ และไม่ทำอะไรที่ไม่ควรทำ ส่วนตัวแล้วผมอยากเห็นฮ่องกงกลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีของคนไทยและคนทั้งโลกต่อไปครับ