คอลัมนิสต์

ไขข้อข้องใจ...มนุษย์เสี่ยงมะเร็ง พลาสติกจิ๋วในอาหาร แค่ไหน 

ไขข้อข้องใจ...มนุษย์เสี่ยงมะเร็ง พลาสติกจิ๋วในอาหาร แค่ไหน 

20 ก.ย. 2562

ไขข้อข้องใจ...มนุษย์เสี่ยงมะเร็ง พลาสติกจิ๋วในอาหาร แค่ไหน  โดย...    ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 
 

          ทั่วโลกกลัว “ภัยพลาสติกจิ๋ว” มานานหลายปีแล้ว แต่คนไทยเพิ่งรู้สึกตื่นเต้นหลังผ่ากระเพาะปลาทูพบ “ไมโครพลาสติก” 78 ชิ้น หลายคนถึงกับโบกมือลาปลาทูทอดไปชั่วคราว ทั้งที่ชีวิตจริงแล้วพวกเรากินอาหารปนเปื้อนพลาสติกจิ๋วเข้าไปในกระเพาะแทบตลอดเวลา จนนักวิทยาศาสตร์เริ่มกลัวว่าในอนาคตมะเร็งและโรคร้ายอื่นๆ จากสารเคมีในพลาสติก คือศัตรูหมายเลข 1 ของมนุษย์ชาติ

 

 

          เว็บไซต์ วารสารสิ่งแวดล้อมออนไลน์ “environmentjournal.online” ได้เผยแพร่รายงานหัวข้อ “ไมโครพลาสติก ภัยคุกคามอันดับหนึ่งของมนุษยชาติ” (Microplastic pollution ‘number one threat’ to humankind) เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2019 โดยอ้างถึงงานวิจัยนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมนที่สำรวจพบ “สารเคมีในพลาสติก” กระตุ้นให้เนื้อเยื่อของมนุษย์เกิดการพัฒนาแบบผิดปกติและมีความเป็นไปได้ที่ช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โรคและความเจ็บป่วยต่างๆ อาจเชื่อมโยงถึงการรับพลาสติกเข้าร่างกายแบบไม่รู้ตัว เช่นโรคความดัน โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคทางสมอง  โรคที่เกิดจากฮอร์โมนทำงานผิดปกติ รวมถึงโรคสมาธิสั้น เนื่องจากมีสารเคมีกว่า 1,000 ชนิดถูกนำไปผสมในพลาสติกที่พวกเราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน จึงเป็นไปได้ว่าในอนาคตภัยคุกคามอันดับ 1 ที่อาจทำให้มนุษย์เสียชีวิตก็คือพลาสติกจิ๋วเหล่านี้

 

 

 

ไขข้อข้องใจ...มนุษย์เสี่ยงมะเร็ง พลาสติกจิ๋วในอาหาร แค่ไหน 

 


          ในประเทศไทยนั้นกลุ่มนักวิจัยและเครือข่ายนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกำลังช่วยกันรณรงค์ให้ “ลด ละ เลิก การใช้พลาสติก” โดยไม่จำเป็นและหากจำเป็นจริงต้องเลือกชนิดของพลาสติกที่สามารถนำมารีไซเคิลหรือใช้ใหม่ซ้ำๆ จนคุ้มค่า

 

 



          “วรุณ วารัญญานนท์” ที่ปรึกษาจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอธิบายว่า “ไมโครพลาสติก” หมายถึงเศษพลาสติกขนาดเล็กกว่า 0.5 เซนติเมตร มี 2 แบบด้วยกัน คือ แบบที่ผลิตเพื่อเป็นส่วนประกอบของสินค้าต่างๆ เช่น เม็ดบีดส์ เม็ดสครับ”  หรือคริสตัลบีดส์” ในโฟมล้างหน้าหรือผงซักฟอก แบบที่ 2 เป็นพลาสติกที่แตกสลาย แตกตัว หรือแตกหักมาจากพลาสติกขนาดทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก แก้วพลาสติกรวมถึงไมโครไฟเบอร์จากการซักผ้า ฯลฯ

 

 

 

ไขข้อข้องใจ...มนุษย์เสี่ยงมะเร็ง พลาสติกจิ๋วในอาหาร แค่ไหน 

 


          พร้อมเล่าให้ฟังว่าพลาสติกถูกผลิตครั้งแรกเกิดเมื่อ 60-70 ปีที่แล้ว แต่กว่าจะพัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์วางขายทั่วไปก็เมื่อ 30–40 ปีมานี้เอง ตอนหลังเริ่มมีเศษขยะพลาสติกจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ คนก็เริ่มกลัวเพราะมันไม่สลายตัวง่ายๆ ถุงพลาสติก 1 ชิ้นอาจใช้เวลานานเป็น 100-500 ปีก็ได้ ทำให้มีการใช้สารเคมีบางชนิดเข้าไปผสมเติมแต่งในขั้นตอนการผลิต เช่นสารกลุ่มโลหะหนักแป้ง หรือสารอินทรีย์อื่นๆ เพื่อให้ได้พลาสติกที่คุณสมบัติการใช้งานเหมือนเดิมแต่สามารถแตกตัวเป็นชิ้นเล็กได้รวดเร็วขึ้น จาก 100 ปีอาจเหลือแค่ 2–5 ปี เช่น “ถุงพลาสติกย่อยสลายได้” หรือเรียกกันว่า “ถุงอ็อกโซ่” (Oxo-degradable) ราคาขายแพงกว่าพลาสติกทั่วไปประมาณร้อยละ 10-20 แต่ตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้กันแล้ว ทั้งกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ฯลฯ ส่วนประเทศไทยยังคงปล่อยให้วางขายและซื้อใช้ “สินค้าอ็อกโซ่” โดยไม่ตระหนักถึงมหันตภัยที่ซ่อนตัวอยู่

 

 

 

ไขข้อข้องใจ...มนุษย์เสี่ยงมะเร็ง พลาสติกจิ๋วในอาหาร แค่ไหน 

 


          “พลาสติกย่อยสลายได้ แต่ไม่ได้หายไปไหน แค่แตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ ปัญหาคือยิ่งชิ้นเล็กก็ยิ่งดูดซึมสารเคมีอันตรายเก็บเข้าไว้ในตัวเองได้ง่าย เช่น โลหะหนักที่อยู่ในดิน ในทะเล ในแม่น้ำ จนกลายเป็นปนเปื้อนอยู่ในห่วงโซ่อาหารของคน เช่น ในฟาร์มเลี้ยงหมู ไก่ ปลูกผัก ฯลฯ เมื่อพวกเรากินเนื้อปลา เนื้อหมู กินผักเข้าไปก็จะได้รับไมโครพลาสติกเข้าร่างกายทางอ้อมไปด้วย เพราะเล็กมากจนมองไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า”


          เมื่อถามว่า...มนุษย์เสี่ยงโรคมะเร็งหรือโรคร้ายอื่นๆ จากพลาสติกจิ๋วเหล่านี้แค่ไหน ?

 

 

 

ไขข้อข้องใจ...มนุษย์เสี่ยงมะเร็ง พลาสติกจิ๋วในอาหาร แค่ไหน 

 


          ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นอธิบายว่า เมื่อเรากลืนน้ำหรืออาหารปนเปื้อนพลาสติกจิ๋วเข้าไป น้ำย่อยในกระเพาะจะไม่สามารถย่อยได้ ถ้าเป็นเม็ดใหญ่หน่อยอาจถูกกำจัดออกมาทางอุจจาระ แต่ถ้าเป็นชิ้นที่เล็กมากๆ เช่นเล็กกว่า 0.5 ไมครอน เปรียบเทียบง่ายๆ ว่าเม็ดสครับ หรือเม็ดบีดส์ที่ผสมในโฟมล้างหน้า 1 เม็ด ส่วนใหญ่มีขนาด 20-30 ไมครอน ถ้าเล็กระดับ 0.5 ไมครอน คือเล็กมากๆ จนร่างกายสามารถดูดซึมเข้าสู่เส้นเลือดฝอยได้ถ้าเล็กขนาด 1 ไมครอน สามารถเข้าไปในระบบน้ำเหลือง ถ้าเป็น 2 ไมครอนก็เข้าสู่ลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยสารพิษหรือสารเคมีที่ผสมปนอยู่พลาสติกเล็กๆ เหล่านี้ เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า โลหะหนัก ฯลฯ ก็ถูกดูดซึมเข้าไปในร่ายกายพร้อมๆ กันด้วย


          “นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามหาวิธีพิสูจน์และวิเคราะห์อันตรายของไมโครพลาสติกที่มนุษย์กินเข้าไป แต่ค่อนข้างยากมาก เพราะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าเสียชีวิตหรือป่วยโรคร้ายด้วยไมโครพลาสติก เพราะปัจจัยเกิดโรคมะเร็ง หรือโรคร้ายอื่นๆ มีหลายสาเหตุประกอบกัน แต่ถ้าเราไม่ช่วยกันลดพลาสติกหรือรีไซเคิลโดยเฉพาะถุงหรือพลาสติกอ็อกโซ จะยิ่งทำให้เกิดไมโครพลาสติกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาหารที่เรากินก็ปนเปื้อนมากขึ้น”


          วรุณ ยกตัวอย่างวิธีการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ฟังว่า เริ่มจากนโยบายห้ามใช้ ห้ามขายถุงพลาสติกอ็อกโซ่ทุกชนิดภายในพื้นที่การเรียนการสอน และจัดเตรียมถังขยะรีไซเคิล แยกตามชนิดของพลาสติก เช่น ขวดน้ำพลาสติกจะแยกไปรีไซเคิลตามเส้นทางปกติ ส่วนขยะพลาสติกชนิดอื่นที่ใช้ซ้ำไม่ได้ เช่น หลอด แก้วกาแฟ ถุงพลาสติก ฯลฯ จะรวบรวมส่งไปทำเป็นพลังงานทดแทนที่โรงผลิตปูนซีเมนต์ใน จ.สระบุรี นอกจากนี้ยังมีเครื่อง Bio-digester สำหรับเปลี่ยนเศษอาหารเป็นสารปรับปรุงดินในปริมาณมากๆ และทดลองใช้ “ถังกลมกลิ้ง” ซึ่งเหมาะกับอาคารสำนักงานโดยให้นำเศษอาหารมาทิ้งประมาณ 15 วัน พอย่อยสลายก็เอาไปทำปุ๋ยได้

 

 

ไขข้อข้องใจ...มนุษย์เสี่ยงมะเร็ง พลาสติกจิ๋วในอาหาร แค่ไหน 

 


          “ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี” นักวิจัยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ยอมรับว่าคนไทยยังไม่ค่อยตระหนักถึงอันตรายของไมโครพลาสติก เพราะคิดว่าพลาสติกไม่ใช่สารอันตราย แต่ในวันนี้การผลิตพลาสติกได้ใส่สารอันตรายเติมแต่งลงไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นพลาสติกยังสามารถดูดซับมวลสารพิษอื่นๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ แหล่งดินตามธรรมชาติ


          “การลดใช้พลาสติกต้องเริ่มจากชีวิตประจำวัน เช่น พกถุงพลาสติกใสที่ใช้แล้วใส่กระเป๋า เผื่อซื้อของ หรือตอนกินข้าวเที่ยงให้เตรียมกล่องไปใส่ผลไม้หรือขนมกินเล่น ไม่ต้องให้แม่ค้าใส่ถุง หรือเตรียมขวดน้ำของตัวเอง ส่วนนโยบายจากภาครัฐตอนนี้มีการตื่นตัวและสนใจปัญหานี้มากขึ้น เช่น กรมควบคุมมลพิษเสนอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่ควบคุมการนำเข้า “สารอ็อกโซ่” ที่ใช้ผสมในพลาสติก หรือ อย.ประกาศให้ปี 2563 เลิกผลิต เลิกนำเข้า เลิกใช้ เม็ดบีดส์ในเครื่องสำอาง แต่ยังไม่รู้ว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายมากแค่ไหนเพราะยังไม่เห็นมีแผนปฏิบัติการโดยละเอียด”
 

 

 

ไขข้อข้องใจ...มนุษย์เสี่ยงมะเร็ง พลาสติกจิ๋วในอาหาร แค่ไหน 

 

 

          ขณะนี้นักวิชาการทั่วโลกเริ่มเห็นอันตรายของ “พลาสติกจิ๋ว” ในห่วงโซ่อาหารกับความเสี่ยงการเป็น โรคมะเร็ง โรคทางสมอง หรือฮอร์โมนทำงานผิดปกติจากพิษร้าย...


          เป็นไปได้ไหมว่าในอนาคต “การชันสูตรพลิกศพ” อาจต้องเพิ่มช่องให้แพทย์กรอกเพิ่มเติมว่า “เสียชีวิตจากไมโครพลาสติก” ?!?