แบน 3 สารพิษ จ่อยกระดับ เสี่ยหนู ยันสิ้นปีเมืองไทยเลิกใช้
แบน 3 สารพิษ จ่อยกระดับ เสี่ยหนู ยันสิ้นปีเมืองไทยเลิกใช้ หากเกมพลิกส่งผลเรือเหล็กหรือไม่.
ทีมข่าวการเมืองเครือเนชั่น
กลายเป็นเรื่องร้อนระดับชาติไปแล้วเมื่อมีการขู่อาฆาตนพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑาศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และน.ส.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูลนักวิชาการนักวิจัยของ ม.นเรศวร ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร สภาผู้แทนราษฎรเนื่องจากเห็นว่าสารเคมี 3 ชนิด ประกอบด้วยพาราควอต ไกลโฟเซตและคลอร์ไพริฟอสเป็นอันตรายต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันมีอย่างน้อย 51 ประเทศทั่วโลกที่ “ยกเลิกการใช้พาราควอต" เนื่องจากข้อกังวลด้านสุขภาพและการประเมินความปลอดภัยในสารเคมีในเอเชีย ห้ามใช้พาราควอตแล้ว9ประเทศ ส่วนหลายประเทศในโลกแม้ไม่เลิกใช้แต่ "จำกัดการใช้"
ส่วนไทยนั้นมีการเคลื่อนไหวให้ยกเลิก3สารเคมีดังกล่าวตั้งแต่ยุค คสช.โดยกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้มีการแบนสารเคมีอันตราย 3 ชนิด (พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต)เมื่อเดือนเมษายน 2560 แต่ความพยายามในไทยในการผลักดันการห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิดยืดเยื้อสองปีเศษและวันนี้รมต.หลายคนในรัฐนาวาเรือเหล็กยังมีธงในการแบน3สารเคมีอันตรายนี้ให้หมดบทบาทในปีนี้
เสียงข่มขู่ข้างต้นนั้น“อนุทิน ชาญวีรกูล”รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า "เรื่องนี้ไม่บานปลาย พรรคภูมิใจไทยไม่ถอย และไม่กลัว ส่วนฝ่ายที่ข่มขู่นักวิชาการคือพวกหน้าตัวเมีย เป็นคนกระจอก ถ้าแน่จริงให้มาขู่ตน หรือน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์รมช.เกษตรและสหกรณ์ ไปขู่นักวิชาการ มันเปลี่ยนแปลงความมุ่งมั่นของเราไม่ได้อยู่แล้ว ส่วนฝ่ายที่โดนข่มขู่อยากให้สบายใจ เมื่อท่านทำดีความดีจะเป็นเกราะคุ้มครอง และขณะนี้กำลังประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปดูแลแล้ว
“ยิ่งมาข่มขู่กันยิ่งต้องรีบเดินหน้า กระทรวงสาธารณสุขขอประกาศจุดยืนให้แบนสารพิษเดี๋ยวนี้เช่นเดียวกับรัฐมนตรีมนัญญา เพราะเราจุดยืนเดียวกัน ส่วนที่มีการเสนอให้ออกเป็นพระราชกำหนดต้องบอกว่า 51 เสียงของภูมิใจไทยเอาด้วย แต่คนอื่นจะว่าอย่างไร ฝ่ายที่ไม่เห้นด้วยขอให้ตระหนักว่าจะสนับสนุนต่ออย่างไรไหว เพราะสังคมไม่เอาด้วย...”
และเมื่อไม่นานมานี้ “มนัญญา” ลุยตรวจบริษัทเอกชนสองแห่งเพื่อตรวจสต็อกสองในสามสารเคมีที่พบข้อพิรุธอื้อและเตรียมที่จะไล่เรียงเช็กบิลเพื่อสะท้อนความโปร่งใสให้สังคมกระจ่าง
ส่วนท่าทีของ“เฉลิมชัย ศรีอ่อน”รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางการยกเลิกใช้พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสว่า" ยืนยันไม่ได้สนับสนุนให้ใช้สาร 3ตัวนี้ เพียงแต่กระบวนการยกเลิกมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายและคณะกรรมการวัตถุอันตรายกำกับดูแลเรื่องนี้อยู่
รมว.เกษตรฯ บอกว่า คณะกรรมการชุดนี้แต่งตั้งก่อนที่ตนจะมารับตำแหน่ง แต่ก็ได้มอบหมายงานให้ น.ส.มนัญญา ไทยเศษฐ์ รมช.เกษตรฯ รับผิดชอบเรื่องนี้ ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนไม่เห็นด้วย ถือเป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ จึงไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้เพราะมี รมช.เกษตรฯดูแลอยู่ หากคณะกรรมการมีมติให้ยกเลิกใช้ก็พร้อมดำเนินการทันที
ส่วนขั้นตอนในการดำเนินการคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ประชุมขยายระยะเวลาออกไป 60 วัน เพื่อศึกษาผลกระทบประกอบ และนำมาประกอบในการพิจารณาว่าจะใช้หรือยกเลิก 3 สารพิษดังกล่าว หากคณะกรรมการมีความเห็นยกเลิก กระทรวงเกษตรฯ พร้อมที่จะยกเลิกทันที ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯที่เน้นเรื่องความปลอดภัยของพี่น้องเกษตรกรและอุปโภคบริโภคสินค้าทางการเกษตรทุกชนิด
“เป็นนโยบายที่เราประกาศไว้ก็ต้องทำ การที่มีข่าวออกมาว่าผมสนับสนุนให้ใช้สารนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะผมมีความชัดเจน ถ้ากฎหมายระบุออกมาชัดก็พร้อมยกเลิกทันที และยืนยันว่าไม่เคยพูดคุยกับตัวแทน บริษัทนำเข้าและจำหน่ายสารดังกล่าว ขอรับประกันว่าไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง มีแต่ว่าจะทำงานอย่างไรให้ถูกต้องตามกรอบและกฎหมายอันนำไปสู่พี่น้องประชาชนมีความอุ่นใจเรื่องความปลอดภัย”รมว.เกษตรฯ กล่าว
ตรงนี้หลายคนมองว่ากรณีนี้ “เฉลิมชัย” ยังแทงกั๊ก ส่วน“เสี่ยหนู” ออกโรงเต็มสูบต้านการใช้สามสารเคมีข้างต้นเพราะกระแสสังคมยามนี้ไม่ยอมรับการใช้สามสารเคมีดังกล่าว
หากถึงวันเส้นตายยังมีการฝืนกระแส“ไม่แบนสามสารเคมี”แบบไร้คำชี้แจงที่มีน้ำหนักเชื่อเลยว่าวันนั้นรัฐนาวาลุงตู่น่าจะ“คลอนแคลน”เพราะเรื่องนี้แน่นอน
มุมมองของหนึ่งในภาคเอ็นจีโอคือ“วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ”ผอ.มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) หนึ่งในกมธ.วิสามัญชุดนี้ที่เข้าไปร่วมดำเนินการนั้น มีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับความหวังในการต่อต้านสามสารเคมีดังกล่าว
วิฑูรย์ ระบุว่ากมธ.เห็นพ้องการแบนสามสารเคมี และจากนี้จะลงรายละเอียดว่าจะเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและเตรียมทำเอกสารคู่ขนานไปด้วยรวมทั้งลงพื้นที่อ.เชียงของ จ.เชียงรายเพื่อดูการนำเข้าพืชผลเกษตรจากจีนรวมทั้งลงพื้นที่ที่มีปัญหาการใช้สารเคมีและมีการแก้ไขแล้วที่จ.หนองบัวลำภู เพราะพื้นที่นี้โรคเนื้อเน่าลดลงหลังยุติการใข้สามสารเคมี
ส่วนสัญญาณและการขับเคลื่อนงานของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เช่น นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข รมว.และรมช.เกษตรและสหกรณ์ รมว.อุตสาหกรรมวิฑูรย์ มองว่านับว่าดี ส่วนแนวโน้มความสำเร็จของการแบนสามสารเคมีนั้น ตอนแรกคาดหวังไว้50-60%ว่าจะสำเร็จเพราะแรงต่อต้านของคนที่ไม่ต้องการให้แบนสามสารเคมีก็มีพอควรเพราะเรื่องนี้ผลประโยชน์เยอะ
วิฑูรย์ ให้ข้อมูลด้วยว่าในหนึ่งปีที่ผ่านมามีการนำเข้าสารเคมี3.6หมื่นล้านบาท และมีการทำการตลาดจนมีราคา6-9หมื่นล้านบาท สามสารเคมีนั้นมีสัดส่วนในตลาดเกินร้อยละ 50 หากแบนสามสารเคมีได้มันกระทบวงจรธุรกิจของใครบางคน แต่เมื่อมาทำงานในกมธ.ได้พบรมช.เกษตรฯ(มนัญญา ไทยเศรษฐ)ได้คุยกันก็เห็นความตั้งใจ รวมทั้ง อนุทิน ชาญวีรกูล ที่ผลักดันเต็มที่ทั้งในบทบาทหัวหน้าพรรคและรัฐมนตรี
“ตรงนี้เป็นสัญญาณดี ตอนนี้ต้องดูการลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าจะเอาอย่างไร เพราะเมื่อฝ่ายการเมืองแสดงแนวทางออกมาแบบนี้และกำกับดูแลข้าราชการที่เข้ามาเป็นกรรมการจะมีมติเช่นใด รอดูว่าสองเดือนจากนี้ไป แต่ส่วนตัวมองว่าการแบนสามสารเคมีน่าจะทันเส้นตายเพราะผู้ตรวจการแผ่นดินได้บอกไว้ให้ยกเลิกการใช้สามสารเคมีในสิ้นปีนี้และสอดรับกับอดีตรมว.สาธารณสุข ของรัฐบาลที่แล้วที่บอกไว้ว่าเรื่องนี้ต้องจบในสิ้นปีนี้”
ส่วน“สารี อ่องสมหวัง”เลขาธิการเพื่อผู้บริโภค มองว่า ได้เห็นความตั้งใจของรมช.เกษตรฯและรมว.สาธารณสุข ที่แสดงท่าทีชัดเจนในการยุติการใช้สามสารเคมีในประเทศ รวมทั้งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่มีแนวโน้มยกเลิกการใช้สามสารเคมีดังกล่าว
สารี ระบุว่า ผลการศึกษาพบว่าสามสารเคมีนี้ตกค้างในพื้นดินและสัตว์ เพราะพบว่า"น้ำปู๋”(เครื่องปรุงรสที่สำคัญในอาหารไทยภาคเหนือทำจากปูนา)ที่นำมาทดสอบก็พบมีสารเคมีสามชนิดนี้ตกค้างเกินมาตรฐาน เมื่อนำน้ำปู๋มาบริโภคสามสารเคมีนี้ก็อยู่ในอาหารที่คนไทยรับประทานเข้าไป ดังนั้นควรยกเลิกไปเลยไม่ควรยื้อแบบนี้อีก เพราะชี้ชัดแล้วว่าเกิดอันตรายอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อม สัตว์และชีวิตของคนไทย รอดูการสรุปของคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าจะดำเนินการอย่างไร แม้ว่ารัฐมนตรีหลายคนในครม.ชุดนี้จะแสดงชัดแล้วว่าต้องการยกเลิกการใช้สามสารเคมีในปีนี้ ตรงนี้ขอชื่นชม
“ขอเสนอรัฐบาลว่าจากนี้ไปควรสนับสนุนเกษตรกรที่ใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์ โดยควรช่วยเหลือด้านราคาให้เกษตรกรที่เลิกใช้สารเคมีในพื้นที่เกษตร เพราะต้นทุนบางอย่างอาจสูงขึ้น แต่ส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรที่ปลอดสารเคมี โดยรัฐบาลควรแจ้งไปว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์จะได้รับการช่วยเหลือด้านราคาที่มากกว่าสินค้าเกษตรที่ใช้สารเคมี เกษตรกรจะหันมาปลูกเกษตรอินทรีย์มากกว่าแน่นอน"เลขาธิการเพื่อผู้บริโภคระบุ