คอลัมนิสต์

ซึมเศร้า​หลังคลอด ​ต้นเหตุแม่ฆ่าลูก​

ซึมเศร้า​หลังคลอด ​ต้นเหตุแม่ฆ่าลูก​

04 ต.ค. 2562

ซึมเศร้า​หลังคลอด ​ต้นเหตุแม่ฆ่าลูก​ คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย   โดย...  ทีมข่าวอาชญากรรม

 



 
          กระแสสังคมยังคงติดตามกรณี “แม่น้องไอแอล” ที่นำศพลูกไปซ่อนในตู้แล้วแจ้งความตำรวจให้ตามหา แม้ภายหลังจะรับสารภาพว่าลูกสำลักนมและเสียชีวิต แต่โลกโซเชียลมีเดียยังคงวิวิพากษ์วิจารณ์ถึงปมสาเหตุจากภาวะ “ซึมเศร้าหลังคลอด” ซึ่งเป็นอาการที่หญิงหลังคลอดต้องเฝ้าระวัง เพราะเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้แม่แท้ๆ ตัดสินใจชั่ววูบได้

 

 

          เกี่ยวกับประเด็นนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายถึงกรณี “แม่ฆ่าลูก” ในภาพรวมว่า หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงจะมีอาการซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วทั้งโลกจะเกิดขึ้น 15% ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด ส่วนประเทศไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย ข้อมูลล่าสุดเมื่อปีที่แล้วมีหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดประมาณ 19% สาเหตุมาจากภาวะร่างกายตึงเครียด ซึ่งการตั้งครรภ์นับว่าสร้างความเครียดและความเจ็บปวดให้แก่ร่างกายรองจากการถูกไฟคลอก อีกทั้งระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ถูกดึงลงไปอยู่กับทารก ทำให้เกิดสภาวะปั่นป่วน จนเกิดเป็นอาการซึมเศร้าได้ โดยหญิงหลังคลอดอาจมีอาการภาวะซึมเศร้าอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน 

 

 

 

ซึมเศร้า​หลังคลอด ​ต้นเหตุแม่ฆ่าลูก​

 


          ตัวอย่างเช่นหญิงหลังคลอดบางราย เมื่อคลอดลูกออกมาก็จะไม่อยากเลี้ยงลูก รู้สึกเบื่อหน่าย และเหนื่อย ซึ่งจากอาการนี้เองทำให้มีหญิงบางคนตัดสินใจฆ่าลูกตัวเอง แล้วมานั่งเสียใจภายหลัง เพราะตอนนั้นตัดสินใจไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด อย่างไรก็ตามสำหรับหญิงหลังคลอด หรือแม่ลูกอ่อน ครอบครัวควรช่วยเลี้ยงดูทารกอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของแม่คนเดียว เพราะจะเกิดความเครียดซ้ำซ้อน จากที่เครียดอยู่แล้วหลังคลอด และก่อนการตั้งครรภ์ควรมีการวางแผนครอบครัวอย่างเข้มงวด เพราะจะช่วยลดความเสี่ยง และระดับความรุนแรงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้

 



          นพ.เกียรติภูมิ บอกว่า โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะมีแบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งจะติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญที่สุด หากตรวจพบอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้เร็วก็จะช่วยกันดูแลและรักษาป้องกันความเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที


          ขณะที่ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้กล่าวถึงกรณีแม่น้องไอแอลที่กำลังถูกสังคมประณามว่าเป็น “แม่ใจยักษ์” ว่า สังคมต้องเข้าใจและไม่ผูกความคาดหวังให้ผู้หญิงที่เป็นแม่ต้องแบกรับภาระที่หนักเกินไป ปัจจุบันสังคมไทย ชายเป็นใหญ่ ทำให้ผู้หญิงไม่มีทางเลือก จากแนวคิดดังกล่าวทำให้แม่น้องไอแอลได้รับผลกระทบคือ 1.ต้องแบกรับความเครียดเพียงคนเดียว 2.ต้องติดคุก และ 3.ถูกสังคมประณาม ถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้หญิงคนหนึ่ง

 

 

ซึมเศร้า​หลังคลอด ​ต้นเหตุแม่ฆ่าลูก​

 


          “กรณีนี้เป็นกรณีพิเศษ ต่างจากเคสที่มูลนิธิเคยเจอมา เนื่องจากพ่อแม่ไม่ได้หย่าร้างกัน เพียงแต่สามีไปทำงานที่กรุงเทพฯ ปล่อยให้ผู้หญิงคลอดลูกที่บ้านเกิด และเลี้ยงดูลูกกับผู้สูงอายุที่บ้าน ซึ่งสังคมมักคาดหวังว่าคนเป็นแม่ต้องดูแลรับผิดชอบลูก เพราะผู้หญิงต้องทำงานบ้าน เลี้ยงลูก ส่วนเพศชายไปทำงานนอกบ้าน หาเงิน มีความเป็นผู้นำ และคนเป็นแม่จะต้องเลี้ยงดูลูกให้ดี แต่ในความเป็นจริงครอบครัวไทยไม่ใช่ครอบครัวที่สมบูรณ์ มีผู้หญิงตั้งท้องจำนวนมากต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว” นายจะเด็จ อธิบาย


          จากแนวคิดหลักของสังคมเช่นนี้ ทำให้มีแนวโน้มว่า แม่ลูกอ่อนหรือหญิงหลังคลอดจะทำร้ายลูกตัวเองเพิ่มมากขึ้น ดังที่ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวในสื่อต่างๆ ฉะนั้นสังคมควรจะเข้าใจบทบาทของความเป็นแม่ และไม่ควรยัดยัดเยียดภาระให้ โดยผู้ชายและคนในครอบครัว ควรมีส่วนร่วมในการดูแลชีวิตใหม่ที่เกิดมา..!!