ชำแหละงบปี 63มั่นคงสูงกว่าศก.จริงหรือ
ชำแหละงบปี 63มั่นคงสูงกว่าศก.จริงหรือ คอลัมน์... ล่าความจริง..พิกัดข่าว โดย...ปกรณ์ พึ่งเนตร
วาทกรรม “งบความมั่นคงสูงกว่างบกระตุ้นเศรษฐกิจ” กลายเป็น “ธีมหลัก” ที่ฝ่ายค้านใช้ถล่มร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ของรัฐบาล
ดูตามหน้าเสื่อต้องบอกว่าโหมโรงถล่มตั้งแต่ก่อนส่งร่างกฎหมายเข้าสภา ตีตราตอกย้ำความเป็นรัฐบาลทหาร เทงบให้แต่ภารกิจความมั่นคง ซื้ออาวุธ สวนทางกับพวกตนที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย
คำถามคือ “ไส้ใน” งบปี 63 เป็นไปตามข้อครหาจริงหรือไม่ ?
ก่อนอื่นไปดูโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 กันก่อน งบปี 63 ตั้งวงเงินไว้ที่ 3,200,000 ล้านบาท (3.2 ล้านล้านบาท) สูงกว่างบปีที่แล้วถึง 2 แสนล้านบาท และเป็นยอดงบประมาณที่สูงที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยจัดทำระบบงบประมาณเป็นต้นมา
การจัดงบปี 63 เป็นงบขาดดุลต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยยอดการขาดดุลอยู่ที่ 4.69 แสนล้านบาท เพิ่มยอดขาดดุลขึ้นจากปีที่แล้ว 1.9 หมื่นล้านบาท (ปีที่แล้วยอดรวมงบ 3 ล้านล้านบาท ยอดขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท) โดยเหตุผลที่ต้องตั้งงบแบบขาดดุล ก็เพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการที่จำเป็นเร่งด่วน ซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากเหตุผลข้อนี้จะเห็นได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจพอสมควร
ทีนี้ไปเจาะดูกันว่า รัฐบาลตั้งงบในภารกิจความมั่นคง สูงกว่างบกระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือไม่ ?
จากการตรวจสอบเอกสารงบประมาณปี 63 พบว่า มีการจัดสรรงบภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน รวมทั้ง “รายการค่าดำเนินการภาครัฐ” ซึ่งนับเป็นอีก 1 ยุทธศาสตร์ด้วย รวมเป็น 7 ด้าน
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ตั้งงบไว้ที่ 4.28 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 12 แผนงาน รวมทั้งแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 1 หมื่นล้านบาทเศษด้วย (10,865.5 ล้านบาท)
ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 2 คือยุทธศาสตร์ด้านความสามารถในการแข่งขัน พูดง่ายๆ ก็คือยุทธศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งงบไว้ที่ 3.8 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 16 แผนงาน
ถ้าเราดูคร่าวๆ เพียงแค่นี้ ก็จะเห็นว่างบกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความสามารถในการแข่งขัน น้อยกว่ายุทธศาสตร์ความมั่นคงจริงๆ โดยเฉพาะหากเทียบกับปีที่แล้ว คือ งบปี 62 ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ตั้งไว้ที่ 3.29 แสนล้านบาทเท่านั้น ต่ำกว่างบกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตั้งไว้ 4.06 แสนล้านบาท
แต่ถ้าเราดูไส้ในแผนงานในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ก็จะเห็นว่ามีแผนงานหลายแผนที่ส่งผลบวกด้านเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน เช่น แผนงานยุทธศาสตร์จัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ เพราะเรื่องแรงงานเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานโดยตรง หากแก้ปัญหาได้ ก็จะช่วยเรื่องการส่งออกในตลาดยุโรปและอเมริกาได้เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังมีแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่หากทำสำเร็จก็จะส่งผลให้เกิดการค้าการลงทุนร่วมกันกับมิตรประเทศด้วย
กล่าวเฉพาะ “งบดับไฟใต้” หรือแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 10,865.5 ล้านบาท แบ่งเป็นงบด้านความมั่นคง 5,363.9 ล้านบาท และงบด้านการพัฒนา 5,501.4 ล้านบาท จากตัวเลขก็จะเห็นว่ารัฐบาลให้น้ำหนักงานพัฒนามากกว่างานความมั่นคงเล็กน้อย
ฉะนั้นหากพิจารณาตามหลักการจัดทำ “งบประมาณแบบบูรณาการ” แล้ว คงพูดไม่ได้ว่ารัฐบาลให้น้ำหนักกับภารกิจความมั่นคงมากกว่าเศรษฐกิจ เพราะการใช้จ่ายงบทุกตัว ทุกด้าน ล้วนส่งผลถึงกัน และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้งสิ้น
สำหรับตัวเลขงบประมาณที่หลายฝ่ายพูดถึงกันมาก ก็คือตัวเลขงบรายกระทรวง ท็อปโฟร์ หรือ 4 อันดับแรกที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงที่สุด ประกอบด้วย
อันดับ 1 กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับจัดสรร 3.68 แสนล้านบาท แต่น้อยกว่าปีที่แล้ว 386 ล้านบาท
อันดับ 2 กระทรวงมหาดไทย 3.53 แสนล้านบาท
อันดับ 3 กระทรวงการคลัง 2.49 แสนล้านบาท เพิ่มจากปี 62 จำนวน 6,700 ล้านบาท
และ อันดับ 4 กระทรวงกลาโหม 2.33 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 62 ถึง 6,200 ล้านบาท
ขณะที่กองทัพบกเพียงกองทัพเดียว ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 1.13 แสนล้านบาท (เฉียดครึ่งหนึ่งของงบทั้งกระทรวงกลาโหม) มากกว่าปี 62 อยู่ 2,300 ล้านบาท
ทิศทางงบกลาโหม ต้องบอกว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช.เป็นต้นมา จากปี 58 อยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท ถึงปี 63 พุ่งขึ้นไป 2.33 แสนล้านบาทแล้ว คิดรวมๆ 5 ปีงบประมาณขึ้นมาราวๆ 4 หมื่นล้านบาท โดยที่ผ่านมางบกระทรวงกลาโหมขึ้นมาติดอันดับท็อป 5 ในยุคคสช. และปีล่าสุดขยับมาติดท็อป 4 โดยงบกลาโหมเพิ่มขึ้นแต่ละปีเฉลี่ย 7 พันล้านบาท แต่งบปี 63 มีอัตราการเพิ่มขึ้นจากงบปี 62 ต่ำกว่างบปีก่อนหน้า
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ชวน พร้อมรับเรื่อง วัชระ ร้องสอบปมขรก.สภา
-วิษณุ ชี้กล่าวถึง กษัตริย์ในสภา ควรประชุมลับ
-(คลิป) ชวน กรีด รัฐบาลต้องรู้หน้าที่แจงสภา
-สภาฯเปิดใช้ปลายปี เผยกลาง ต.ค.นี้ถกพ.ร.บ.งบประมาณ