คอลัมนิสต์

ไบโอเมทริกซ์ เพิ่มประสิทธิภาพ ตม.ไทย 

ไบโอเมทริกซ์ เพิ่มประสิทธิภาพ ตม.ไทย 

21 ต.ค. 2562

ไบโอเมทริกซ์ เพิ่มประสิทธิภาพ ตม.ไทย  คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย  โดย... ทีมข่าวอาชญากรรม

 

 


          บางคนอาจคิดว่า “ไบโอเมทริกซ์ (biometrics)” จำกัดวงเฉพาะการใช้ลายพิมพ์นิ้วมือเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ไบโอเมทริกซ์ คือ วิธีการใช้ข้อมูลทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะเฉพาะทางกายภาพ หรือพฤติกรรม มาใช้ในการตรวจสิทธิหรือแสดงตน เช่น ลายนิ้วมือ ฝ่ามือ เสียง ม่านตา เรตินา ใบหน้า ดีเอ็นเอ ลายเซ็น ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวมีให้เห็นกันเช่นในภาพยนตร์แนวไซไฟหลายเรื่อง รวมทั้งภาพยนตร์แอ็กชั่น แนวสืบสวนสอบสวนที่อิงกับการใช้งานจริงของ หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐอเมริกา (ซีไอเอ) และ สำนักงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษสหรัฐ (เอฟบีไอ) ซึ่งมีการใช้งานมากว่า 25 ปี

 

 

          ทว่าเครื่องมือล้ำสมัยไบโอเมทริกซ์เพิ่งถูกนำมาใช้กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดยเฉพาะ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงที่ใช้สแกนคนเข้าออกประเทศ โดยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้เป็นอย่างดี 

 

 

ไบโอเมทริกซ์ เพิ่มประสิทธิภาพ ตม.ไทย 

 


          ภายหลังเปิดใช้งานสามารถจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำผิดกฎหมายรูปแบบต่างๆ ได้จำนวนมาก เห็นได้จากข่าวที่ปรากฏว่า เพียงแค่ 3 วัน ก็สามารถจับกุมได้มากถึง 8 พันราย ทั้งหลบหนีเข้าเมือง พาสปอร์ตปลอม โอเวอร์สเตย์ ฯลฯ จากนั้นก็มีการจับกุมคนร้าย หรือผู้ต้องหาตามหมายจับ จากการแจ้งเตือนของไบโอเมทริกซ์อย่างต่อเนื่อง นี่จึงแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์มีประสิทธิภาพขนาดไหน


          พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. บอกว่า ผลการดำเนินงานด้วยระบบไบโอเมทริกซ์ จำนวน 16 ท่าอากาศยานนานาชาติ พบบุคคลที่อยู่ในบัญชีดำและบัญชีเฝ้าระวังมากกว่า 1 พันคน จับปรับบุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักรเกินกำหนด จำนวนกว่า 4.5 หมื่นคน นำค่าปรับส่งแผ่นดินได้มากกว่า 81 ล้านบาท และจับบุคคลตามหมายจับได้กว่า 700 คน โดยระบบไบโอเมทริกซ์จะอ่านค่าจากชิพที่ฝั่งอยู่ในหนังสือเดินทางกับภาพผู้โดยสาร หากมีข้อมูลจะทำการเทียบกับใบหน้า หู ตา จมูกและปาก ว่าแตกต่างจากภาพที่จัดเก็บในชิพหรือไม่ ซึ่งจะตรวจด้วยแสงต่างๆ เช่น แสงยูวี แสงอินฟาเรด หากมีความแตกต่าง หรือไม่พบฐานข้อมูลในระบบคาดการณ์เข้าข่ายพาสปอร์ตปลอมหรือบุคคลต่างด้าว จึงทำการตรวจสอบขั้นตอนต่อไป

 

 

ไบโอเมทริกซ์ เพิ่มประสิทธิภาพ ตม.ไทย 

 



          ล่าสุดผลงานของไบโอเมทริกซ์ก็สามารถช่วยตำรวจจับคนดังที่กำลังเป็นกระแสสังคม โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ นั่นคือ นายธนณัฏฐ์ สิริปิยพร หรือ เสี่ยท็อป อายุ 49 ปี เสี่ยคนดังที่เป็นข่าวหลอกพริตตี้สาวชาวจังหวัดบุรีรัมย์แต่งงาน จัดงานใหญ่อลังการ สุดท้ายทิ้งให้ฝ่ายเจ้าสาวเป็นหนี้งานแต่งหลายล้านบาทก่อนจะถูกสังคมตามขุดประวัติฉาวเรื่อยมา สุดท้ายก็จนมุมคาสนามบินดอนเมืองด้วยคดีค้างเก่าจ่ายเช็คเด้ง


          เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.ต.ท.สมพงษ์ เปิดเผยว่า สำหรับ เสี่ยท็อป เป็นบุคคลตามหมายจับระหว่างพิจารณาศาลแขวงพระนครเหนือ ข้อหากระทำความผิดฐานพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 โดยหมายจับดังกล่าวได้รับประสานจากตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ เป็นหมายจับระหว่างพิจารณาศาลแขวงพระนครเหนือ คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.8062/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อ.9319/2559 ข้อหากระทำความผิดฐานพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ขณะที่เสี่ยท็อปเดินทางกลับ มีการตรวจพบการแจ้งเตือนบุคคลมีหมายจับและยืนยันตัวบุคคลจากระบบไบโอเมทริกซ์ ที่ช่องตรวจคนเข้าเมืองสนามบินดอนเมือง ขณะเดินทางกลับจากฮ่องกง ด้วยเที่ยวบิน เอฟดี 505 จึงสั่งการให้จับกุมตัว นอกจากนี้ยังพบว่าเสี่ยท็อป เคยมีประวัติเคยถูกดำเนินคดีฉ้อโกง 2 ครั้ง ที่ จ.สงขลา ด้วย

 

 

 

ไบโอเมทริกซ์ เพิ่มประสิทธิภาพ ตม.ไทย 

 


          ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์จะประสบความสำเร็จมากหรือน้อยยังต้องขึ้นอยู่กับการปฏิบัติหน้าที่ของคน นั่นหมายถึงการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ตำรวจท้องที่ ศาล และสตม. หากหน่วยงานใดละเลยข้อมูลก็จะไม่ได้ถูกส่งเข้าระบบ ต่อให้มีเทคโนโลยีขั้นสูงขนาดไหนก็ช่วยอะไรไม่ได้ แต่ถ้าประสานความร่วมมืออย่างจริงจัง แม้จะหนีการจับกุมหลายปี เปลี่ยนชื่อไปแล้วหลายครั้ง แต่ด้วยข้อมูลที่ได้รับจากตำรวจศาลและระบบไบโอเมทริกซ์ที่มีประสิทธิภาพก็สามารถตรวจจับใบหน้าว่าเป็นบุคคลตามหมายจับได้..!!