คอลัมนิสต์

รัฐไทยเตรียมรับมือ บำนาญแห่งชาติ...โอนให้ 3,000/เดือน

รัฐไทยเตรียมรับมือ บำนาญแห่งชาติ...โอนให้ 3,000/เดือน

14 พ.ย. 2562

รัฐไทยเตรียมรับมือ บำนาญแห่งชาติ...โอนให้ 3,000/เดือน โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 


          วินาทีนี้ปัญหาสังคมระดับโลกคือ “สัดส่วนผู้สูงวัย” เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมคนชรา” (aged society) เฉพาะประเทศไทย ปี 2560 “คนวัยทำงาน” 100 คน ต้องช่วยกันดูแลผู้สูงอายุและเด็ก 51 คน และอีก 10 ปีข้างหน้า ในปี 2570 ต้องดูแลเพิ่มเป็น 64 คน...ดังนั้นรัฐไทยต้องเร่งสร้างหลักประกันให้ผู้สูงวัยทุกคนมีรายได้ หรือ “ระบบเงินบำนาญแห่งชาติ”

 

อ่านข่าว...'ไทย' เปิดตัวศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงอายุ

 

 

          ผลสำรวจธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2559 พบว่าคนไทยร้อยละ 35 ไม่มีเงินออม โดยเฉพาะคนที่ย่างเข้าสู่วัยชรา มีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่วางแผนการออมไว้ล่วงหน้า ส่วนอีกร้อยละ 60 คิดแล้วแต่ยังไม่ทำหรือทำไม่สำเร็จ ที่น่าสนกว่านั้นคือ

 

 

 

รัฐไทยเตรียมรับมือ บำนาญแห่งชาติ...โอนให้ 3,000/เดือน

 

 


          คนไทยมากถึงร้อยละ 25 ไม่เคยคิดหรือวางแผนเกี่ยวกับเงินที่จะเอามาใช้จ่ายเมื่ออายุเกิน 60 หรือตอนเกษียณจากการทำงาน !?!


          หมายความว่า คนไทยวัย 60 ปีขึ้นไป ที่มีอยู่ตอนนี้ 13 ล้านคน หรือร้อยละ 18 ของประชากรไทยทั้งหมดนั้น มี 4.5 ล้านคนที่ไม่มีเงินออม และอีก 3.3 ล้านคนไม่เคยวางแผนเตรียมเงินไว้ใช้ในวัยชรา...ทุกวันนี้ส่วนใหญ่อาศัยให้ลูกหลานดูแล หรือมีรายได้จาก “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ”


          แสงศิริ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ให้ข้อมูล “คมชัดลึก” ว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลจ่าย “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เดือนละตั้งแต่ 600–1,000 บาท ตามสัดส่วนอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่สภาพค่าครองชีพปัจจุบัน เงินช่วยเหลือนี้ไม่ค่อยเพียงพอเท่าไร เพราะไม่ได้กำหนดมาจากเกณฑ์ความต้องการพื้นฐานขั้นต่ำของคนไทย นั่นคือการคำนวณจาก “เส้นความยากจน” ซึ่งปี 2560 มีค่าประเมินอยู่ที่ 2,660 บาท หมายความว่าคนไทยจะใช้ชีวิตอยู่ได้ในแต่ละเดือนนั้น ควรมีเงินในกระเป๋าไม่ต่ำกว่านี้

 

 

รัฐไทยเตรียมรับมือ บำนาญแห่งชาติ...โอนให้ 3,000/เดือน

 


          "ข้อมูลการสำรวจพบผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยเงินเบี้ยยังชีพที่รัฐให้เดือนละ 600 บาท หมายความว่ามีเงินใช้แค่วันละ 30 บาท ทั้งที่เส้นความยากจน 2 ปีที่แล้วระบุว่าควรมีไม่ต่ำกว่า 2,660 บาท แปลว่าปี 2562 พวกเขาควรได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท เพราะค่าใช้จ่ายประจำวันเพิ่มสูงขึ้นทุกปี"




          แสงศิริ อธิบายต่อว่า ปัจจุบันรัฐจัดสรรงบประมาณจ่าย “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ประมาณปีละ 6–7 หมื่นล้านบาท หากปรับเปลี่ยนเป็นกฎหมายให้ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยบำนาญ 3,000 บาทต่อเดือน ตาม “ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ” ที่เครือข่ายภาคประชาชนกำลังช่วยกันผลักดันให้ผ่านรัฐสภานั้น จะเพิ่มงบประมาณส่วนนี้เป็นปีละ 2 แสนกว่าล้านบาท ถือเป็นจำนวนเงินไม่มากนัก หากเปรียบเทียบกับเงินงบประมาณส่วนอื่นๆ และผู้สูงอายุจะมีเงินใช้เป็นวันละ 100 บาท น่าจะพอเพียงในเบื้องต้น ส่วนรัฐบาลต้องหาวิธีจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เช่น ภาษีหุ้น ภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีโรงงาน ฯลฯ รัฐบาลทำได้แน่นอนถ้าปฏิรูประบบจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ และยังนำเงินกองทุนต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุเข้ามาร่วมได้ด้วย


          “เครือข่ายประชาชนกำลังหาแนวร่วม ตอนนี้มีทั้งพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคสนใจผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว และจากการรวบรวมรายชื่อได้ถึง 1 หมื่นกว่าชื่อ ภายในเวลา 1 ปีนั้น แสดงให้เห็นว่าคนไทยอยากให้มีบำนาญแห่งชาติ หมายความว่าคนไทยทุกคนที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป มีสิทธิรับสวัสดิการเดือนละ 3,000 บาท ไม่จำเป็นต้องยากจนหรือยากไร้เท่านั้น” แสงศิริ กล่าว

 

 

 

รัฐไทยเตรียมรับมือ บำนาญแห่งชาติ...โอนให้ 3,000/เดือน

 


          ล่าสุดวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้รวมตัวกันยื่น รายชื่อประชาชนที่สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... จำนวน 14,654 รายชื่อ ให้ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา โดยมี แทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการประธานรัฐสภา เป็นผู้รับมอบหนังสือแทน


          “นิมิตร์ เทียนอุดม” ตัวแทนเครือข่ายฯ ยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยสร้างระบบบำนาญแห่งชาติให้ผู้สูงวัยมีชีวิตอยู่ได้ โดยไม่เป็นภาระลูกหลาน


          “ตอนนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การใช้ดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีที่ต้องให้ความเห็นชอบเบื้องต้นต่อร่างกฎหมาย ถ้าบิ๊กตู่มองว่า ระบบบำนาญแห่งชาติเป็นภาระหรือเป็นเรื่องการเมือง แล้วไม่ยอมเซ็น หรือไม่เห็นชอบเอาเข้าสภา ก็หมายความว่าบิ๊กตู่ไม่สนใจความพยายามของคนไทยกว่า 1.5 หมื่นคนที่มาร่วมกัน รายชื่อเหล่านี้ก็จะสูญเปล่าทันที” นิมิตร์กล่าว


          ทั้งนี้ “ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ...” ที่ภาคประชาชนเชื่อว่า คือจุดเริ่มต้นแก้ไขปัญหาคนยากจนที่เรื้อรังมานานนั้น มีจำนวน 25 มาตรา โดยสรุปเนื้อหาสำคัญได้ดังนี้

 

 

รัฐไทยเตรียมรับมือ บำนาญแห่งชาติ...โอนให้ 3,000/เดือน

 


          นิยามคำว่า “บำนาญแห่งชาติ” หมายถึง เงินรายเดือนเป็นบำนาญพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้แก่ผู้มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป เพื่อเป็นหลักประกันรายได้โดยมีจำนวนไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่กำหนดโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


          กำหนดให้มีการตั้ง “คณะกรรมการบำนาญแห่งชาติ” ประกอบไปด้วย 3 ฝ่าย คือ 1.ตัวแทนฝ่ายรัฐ เช่นนายกรัฐมนตรี, รมว.คลัง, รมว.แรงงาน, รมว.พัฒนาสังคมฯ, ผอ.สำนักงบประมาณ ฯลฯ 2.ผู้แทนองค์กรเอกชนที่มิใช่แสวงหาผลกำไร ด้านผู้ใช้แรงงาน ด้านผู้สูงอายุ ด้านเด็ก เยาวชน ด้านสตรี ด้านชาติพันธุ์ ด้านคนพิการ ด้านเกษตรกร ด้านผู้ป่วยเรื้อรัง ด้านชุมชนแออัด ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกองทุนการออมของชุมชน และ 3.ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 คน ที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านรัฐสวัสดิการ โดยมีวาระ 4 ปี แต่จะดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระติดต่อกันไม่ได้


          อำนาจหน้าที่หลักคือ กำหนดนโยบายและอนุมัติแผนงบประมาณประจำปี เพื่อจ่ายบำนาญแห่งชาติ รวมถึงหาวิธีการจ่ายเงินให้สะดวกสบายและครอบคลุมประชาชนทุกคน


          ที่น่าสนใจคือ ร่างกฎหมายข้างต้น กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดหางบประมาณและต้องพิจารณากำหนดอัตราบำนาญแห่งชาติใหม่ทุกๆ 3 ปี และหากเกิด กรณีรัฐจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานล่าช้า ไม่ครบถ้วน ต้องโดนปรับให้จ่ายเงินต้นพร้อม "ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี" จนกว่าจะจ่ายครบ


          นับว่าเป็นร่างกฎหมายที่ผ่านการคิดอย่างรอบด้าน มีการพยายามป้องกันไม่ให้ “รัฐเบี้ยว” ไม่จ่ายหรือจ่ายล่าช้าด้วย ในเมื่อมีคนไทยเกือบ 1.5 หมื่นคน มาร่วมแรงร่วมใจเสนอร่างกฎหมายนี้แล้ว หวังว่า “กระแสสังคม” จะช่วยกันผลักดันและกดดันให้ “รัฐบาลบิ๊กตู่” ตอบรับ นโยบายบำนาญแห่งชาติ อย่างเร่งด่วน !


          เพราะตอนนี้สังคมไทยมีผู้สูงวัย 13 ล้านคน ที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้คือผู้ทำงานเสียภาษี เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมไทย และอีก 20 ปีข้างหน้าคนที่อยู่ในวัยทำงานในวันนี้จะเกษียณสะสมกันจนยอดพุ่งขึ้นอีก 1 เท่าหรือกว่า 22 ล้านคน

 

          หากวินาทีนี้คนไทยไม่ช่วยกันเตรียมความพร้อม “ระบบสวัสดิถ้วนหน้า”... ผู้สูงวัย 22 ล้านคน จะกลายเป็นภาระหนักอึ้งทับถมลูกหลานในอนาคต...