คอลัมนิสต์

แก้ปัญหายาเสพติด..ลำพังไทยเอาไม่อยู่

แก้ปัญหายาเสพติด..ลำพังไทยเอาไม่อยู่

15 พ.ย. 2562

แก้ปัญหายาเสพติด..ลำพังไทยเอาไม่อยู่ คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย   โดย...  กรกมล อักษรเดช

 

 

          เมื่อก่อนผลการจับกุมยาบ้าหลักหมื่นหลักแสนเม็ด ยาไอซ์จำนวน 10 กิโลกรัม ก็ถือเป็น “ผลงานชิ้นโบแดง” และปรากฏเป็นข่าวพาดหัวตามสื่อต่างๆ ว่าจับยานรก “บิ๊กลอต” 

 

อ่านข่าว... รวบเครือข่ายยานรก ยึดไอซ์หนัก 1 ตัน

 

 

          ทว่าทุกวันนี้ต้องเรียกว่าเป็น “ซูเปอร์บิ๊กลอต” เนื่องจากหลายต่อหลายครั้งมีการจับกุมแก๊งลำเลียงยาเสพติดยึดของกลางได้แบบ “มโหฬาร” เฉกเช่นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ตำรวจ ปส.จับกุมผู้ต้องหาได้ 3 คน ยึดของกลางยาไอซ์ได้ 1,000  กิโลกรัม หรือ 1 ตัน ซึ่งขนจากภาคเหนือตอนบน เป้าหมายส่งที่ภาคใต้ และส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย นี่จึงเป็นคำตอบว่านอกจากปัญหาผู้ค้า ผู้เสพในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นเส้นทางลำเลียงและจุดพักของเพื่อส่งไปประเทศที่สาม หรือทุกทวีปทั่วโลก จึงทำให้การจับกุมดูเหมือนว่า “ยิ่งจับยิ่งเยอะ”


          ด้วยเหตุนี้สำนักงาน ป.ป.ส. จึงเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่าย ว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดในอนุภูมิภาค (Mekong MOU) โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย 6 ประเทศสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา จีน เมียนมาร์ เวียดนาม สปป.ลาว (UNODC) และประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนการดำเนินงานเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหายาเสพติดแถบลุ่มน้ำโขง และจัดทำแผนปฏิบัติการในอนุภูมิภาค สำหรับการควบคุมยาเสพติด ฉบับที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 13-15 พฤสจิกายน 2562 โดย วันที่ 13 พฤศจิกายน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่าย ว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดในอนุภูมิภาค  และวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีและร่วมกันรับรองแผนปฏิบัติการ ฉบับที่ 11 และปฏิญญากรุงเทพฯ 2562

 

 




          เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า จะเน้นกลไกสำคัญในการแลกเปลี่ยนดำเนินงานเพื่อป้องกันการลักลอบผลิต การค้า และการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิดในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำที่มีการผลิตและลักลอบลำเลียงยาเสพติดเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการจัดทำแผนปฏิบัติการในอนุภูมิภาคเพื่อการควบคุมยาเสพติดฉบับที่ 11 ซึ่งแสดงออกถึงความร่วมมือจากทุกประเทศที่มีความตั้งใจแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และร่วมกันรับผิดชอบการดำเนินงาน โดยสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ เพื่อการควบคุมยาเสพติด และการรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ เพื่อความต่อเนื่องในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ถือเป็นหนึ่งเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงลดความต้องการยาเสพติดในประเทศซึ่งมีความสำคัญเพราะแม้ว่าจะสามารถทำลายแหล่งผลิตได้มากเท่าใดหากความต้องการยังคงมีอยู่แหล่งผลิตก็จะเกิดขึ้นใหม่


          ด้าน นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. บอกว่า ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา ขบวนการค้ายาเสพติดลักลอบนำเข้าเคมีพันธุ์และสารตั้งต้นเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยสารดังกล่าวมาจากประเทศจีนและอินเดีย หรือกลุ่มประเทศที่มีอุตสาหกรรมเครื่องหนัง หรือยาฆ่าแมลง แม้ที่ผ่านมาจีนจะมีการสกัดกั้นแต่ยังพบมีการลักลอบนำเข้าประเภทหัวเชื้อและเคมีภัณฑ์บางชนิด บางครั้งลักลอบนำเข้าผ่านประเทศไทย เนื่องจากสารที่ใช้ในเชิงอุตสาหกรรมบางชนิดไม่ผิดกฎหมาย แต่สารบางตัวสามารถนำไปสกัดและผลิตเป็นยาเสพติดบางชนิดได้ ทำให้การควบคุมเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ยังพบว่ากองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ยังมีอิทธิพลอยู่ตามแนวชายแดนไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีการผลิตยาเสพติดเพื่อส่งเข้ามาขายในประเทศไทย ขณะที่บางกลุ่มไม่ได้ผลิตแต่มีการเรียกเก็บค่าผ่านทางก่อนส่งเข้ามาตามแนวชายแดน ทำให้ยาเสพติดทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง 


          ปัญหานี้เห็นชัดว่าสถิติตัวเลขการจับกุมสูงขึ้นและปริมาณของกลางมากขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งถ้าประเทศไทยสู้เพียงลำพัง ปราบเก่งขนาดไหนก็เอาไม่อยู่ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากประเทศลุ่มน้ำโขง..!!