คอลัมนิสต์

สัญญาณอันตราย

สัญญาณอันตราย

18 พ.ย. 2562

สัญญาณอันตราย บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2562

 

 

 

          สถานการณ์การเลิกจ้างงานในประเทศไทย 2562 น่าเป็นห่วงไม่น้อย หลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขการว่างงาน สูงที่สุดในรอบ 2-3 ปี โดยเฉพาะสถานการณ์การเลิกจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมของประเทศที่พบว่า ครึ่งปีหลังมีโรงงานใหญ่หลายแห่งปิดตัวลง และลอยแพพนักงานหลายร้อยคน เหตุจากเศรษฐกิจประเทศถดถอยเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการมีกำไรจากการส่งออกลดลง ต้นทุนสูงขึ้นแต่รายได้ลดลง รวมทั้งสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา-จีน ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้จีดีพีหลายประเทศร่วงอย่างหนัก ทั้งยุโรป หรือชาติยักษ์ใหญ่ในเอเชีย รัฐบาลประเทศต่างๆ ก็มีการออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจ และการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวนี้ ถึงขั้นที่ไอเอ็มเอฟออกมาประกาศว่า มีประเทศกว่าร้อยละ 90 ที่ได้รับผลกระทบนี้ รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงประเทศไทยด้วย

อ่านข่าว...  หม่อมเต่า ไม่ห่วงเลิกจ้าง รง.เปิดใหม่สูงกว่าปิด 2 เท่า
 

 

 

 


          เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวตาม โดยเฉพาะกลุ่มซัพพลายเออร์ขนาดเล็กที่ผลิตเพื่อส่งออกได้รับผลกระทบมาก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบรุนแรง และทำให้เห็นว่ายังมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจโลกจะยังชะลอตัวต่อไป ขณะเดียวกันหน่วยงานอื่น เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการสนับสนุนเงินทุนไหลออกเพื่อดูแลเศรษฐกิจอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการร่วมมือกันในการประคองเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด หากเราปล่อยไปตามน้ำ ไม่ทำอะไรเลยเศรษฐกิจก็จะแย่ลงกว่านี้ แต่จะให้พูดเต็มปากว่าเศรษฐกิจไม่ดีก็ไม่ใช่ แต่จะพยายามให้ดีที่สุด ซึ่งการออกมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาถือเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลเศรษฐกิจ

 

          การใช้ยาแรงทั้งลดดอกเบี้ยและแจกเงินในโครงการชิมช้อปใช้เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ตามมาด้วยโครงการ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย หวังกระตุ้นการท่องเที่ยว ท่ามกลางคำถามมากมายว่าเม็ดเงินราว 19,000 ล้านบาทนี้จะถึงมือรากหญ้าที่เป็นเป้าหมายอย่างแท้จริงสักเท่าไร และหากผู้เข้าร่วมโครงการเอาเงินไปจับจ่ายใช้สอยซื้อของใช้ในชีวิตประจำวันตามห้างดังต่างๆ กลายเป็นว่ามาตรการชิมช้อปใช้นี้ ก็วนเงินกลับเข้าสู่นายทุนเหมือนเดิม จึงกลายเป็นความกังวลว่าหากนโยบายที่รัฐบาลหวังจะให้เศรษฐกิจดีขึ้นกลับไม่ประสบความสำเร็จ ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รู้สึกว่าดีขึ้น การค้าขายตกต่ำ บรรดาผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่ประสบปัญหา ลูกค้าหดหาย ประชาชนไม่มีกำลังซื้อ รัฐบาลจะมีไม้เด็ดอะไรออกมาอีก




          เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในวัฏจักรชะลอตัวเริ่มมีสัญญาณการจ้างงานลดลงเป็นความเสี่ยงต่อตลาดแรงงานไทย โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ประมาณ 5.24 แสนคน อาจต้องประสบปัญหาภาวะว่างงานสูงขึ้น สำหรับการว่างงานของไทยอยู่เป็นอันดับ 7 จาก 181 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นอัตราว่างงานเฉลี่ยร้อยละ 1.2 หรือประมาณกว่า 400,000 อัตรา มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเป็นระยะๆ ส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาแค่ระยะสั้นๆ ไม่มั่งคั่งยั่งยืน ไม่ได้สร้างงาน ดังนั้นภาครัฐ ภาคธุรกิจ ตลาดแรงงาน และภาคการศึกษา ทุกฝ่ายต้องตื่นตัว มีการตั้งรับและวางแผน รวมถึงบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนตนเอง องค์กรและประเทศไทยก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน นับว่าเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องรับมือให้ทันกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป