คอลัมนิสต์

ถึงเวลากำจัดพลาสติก ชุบชีวิตทะเลไทย

ถึงเวลากำจัดพลาสติก ชุบชีวิตทะเลไทย

02 ธ.ค. 2562

ถึงเวลากำจัดพลาสติก ชุบชีวิตทะเลไทย โดย...   สาลินี ปราบ

 



 

          ปัญหาขยะทะเลถือเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในวงกว้าง


          ทุกๆ ปีขยะพลาสติกกว่า 8 ล้านตัน รั่วไหลลงสู่ท้องทะเล ส่วนใหญ่เป็นขยะที่มาจากบนบกถึงร้อยละ 80 และเป็นพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งถึงร้อยละ 60

 

อ่านข่าว...  ตำรวจน้ำ..นำพาขยะทะเลกลับบ้าน

 

 

 

          ความเลวร้ายของขยะเหล่านี้ ไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตในทะเลมากกว่า 700 สายพันธุ์ แต่ขยะทั้งหมดเมื่อปล่อยนานไปจะแปรสภาพเป็นขยะชิ้นเล็กๆ จนมองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น เพราะมีอนุภาคเล็กมาก เรียกว่า ไมโครพลาสติก หรือ พลาสติกจิ๋ว


          แน่นอนว่า เจ้าไมโครพลาสติกเหล่านี้ เมื่อปนเปื้อนอยู่ในทะเลปริมาณมาก ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะแทรกซึมเข้าไปอยู่ในอวัยวะภายในของสัตว์ทะเลต่างๆ เช่นที่เคยมีข่าวพบพลาสติกจิ๋วในท้องปลาทูจากทะเลตรัง เมื่อมนุษย์บริโภคปลาทูหรือสัตว์น้ำที่มีพลาสติกจิ๋วปนเปื้นอยู่ เจ้าพลาสติกจิ๋วเหล่านั้นก็จะถูกย้ายมาอยู่ในร่างกายมนุษย์แทน หากสะสมมากๆ เข้าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

 

 

ถึงเวลากำจัดพลาสติก ชุบชีวิตทะเลไทย

 


          ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ไมโครพลาสติกที่พบในปลาทูมีปริมาณเฉลี่ยถึง 78 ชิ้น/ตัว


          ไมโครพลาสติก มีขนาดเล็กกว่า 0.5 มิลลิเมตร ปลาและสัตว์ทะเลบางชนิดกินแพลงตอนในน้ำ ก็จะกินไมโครพลาสติกเข้าไปด้วย จากนั้นก็ไปอยู่ในท้องบางส่วนสลายตัวกลายเป็นนาโนพลาสติก อาจเข้าสู่กระแสเลือดและเนื้อเยื่อปลาได้ เมื่อเรากินสัตว์น้ำเหล่านี้เข้าไป อาจเป็นสาเหตุเสี่ยงต่อหลายโรค ตามที่องค์การอนามัยโลกเคยเตือนไว้


          ผศ.ดร.ธรณ์ เตือนว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคของความน่าหวาดหวั่น เพราะขยะที่สะสมในทะเลกำลังกลับมาทำร้ายเราอย่างสาหัส ทางแก้มีอยู่ทางเดียวคือ ลดขยะทะเลให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดเม็ดโฟมและไมโครพลาสติกมากไปกว่านี้ และสำคัญที่สุดคือต้องรีบทำ เพราะเวลาเราเหลือน้อยแล้ว

 

 

 

ถึงเวลากำจัดพลาสติก ชุบชีวิตทะเลไทย

 


          ด้าน องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล WWF (World Wide Fund for Nature) เป็นองค์กรหนึ่งที่มองเห็นปัญหาเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพบข้อมูลว่า ขยะพลาสติกในทะเลกว่าร้อยละ 60 ของโลก มาจากภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ WWF จึงได้ริเริ่มโครงการ Plastic Smart Cities ขึ้นในปี 2561 โดยร่วมกับเมืองต้นแบบ 25 เมือง จาก 5 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และ ไทย ในการรณรงค์ลดปริมาณการใช้พลาสติ ส่งเสริมการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการรั่วไหลของขยะไปสู่ธรรมชาติ


          ในประเทศไทย WWF มีเป้าหมายทำงานร่วมกับ 5 เมืองนำร่องระดับท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลนครสงขลา เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี เทศบาลเมืองป่าตอง จ.ภูเก็ต และเทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ


          ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ที่โรงแรมภูเก็ต เกรซแลนด์ รีสอร์ท แอนด์สปา ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง จ.ภูเก็ต เทศบาลเมืองป่าตอง และ WWF-ประเทศไทย พร้อมพิธีประกาศเจตนารมณ์เพื่อลดมลภาวะจากพลาสติกระดับเมือง โครงการ Plastic Smart Cities ของ 5 เมืองนำร่อง เพื่อหารือแนวทางและกำหนดวิธีการในการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single Use Plastic) รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในกลุ่มผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายที่จะลดพลาสติกที่รั่วไหลไปสู่ธรรมชาติให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2564


          พิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WWF-ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า โครงการ Plastic Smart Cities มีการดำเนินการทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งประสบปัญหายขยะพลาสติกในทะเลเช่นเดียวกัน


          เธอบอกว่าขยะทะเลมีต้นตอมาจากขยะบนบก และส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก เช่นในเมืองไทยขยะที่ถูกทิ้งและไหลลงทะเลมีประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ถือว่าเยอะมาก หากนับสถิติโลกพบว่า เมืองไทยเป็นประเทศที่มีการผลิตขยะพลาสติกเป็นลำดับ 6 ของโลก ดังนั้น WWF-ประเทศไทย จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดขยะดังกล่าว โดยสร้างกลไกบางอย่างให้ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติก จึงเกิดโครงการนำร่องขึ้นใน 5 พื้นที่ดังกล่าว

 

 

 

ถึงเวลากำจัดพลาสติก ชุบชีวิตทะเลไทย

 


          “รูปแบบการดำเนินการจะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับการจัดการของแต่ละเมือง โดย WWF เป็นตัวกลาง รวมทั้งจะมีการทำงานร่วมภาคธุรกิจ เอกชนและมหาวิทยาลัย เพราะปัญหาพลาสติกเป็นปัญหาซับซ้อนและไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่งแต่ต้องสร้างความตระหนักในสังคมว่า ปัญหาพลาสติกเป็นปัญหาของทุกคน”


          พิมพ์ภาวดี บอกถึงเหตุผลที่เลือกป่าตอง เป็นหนึ่งในเมืองนำร่อง เพราะเมื่อพูดถึงเมืองท่องเที่ยวของไทย ชาวต่างชาติจะรู้จักภูเก็ต ด้วยความสวยงามของหาดทรายสีขาว ทะเลสวย แต่หากภาพลักษณ์ดังกล่าวหายไปเพราะปัญหาขยะพลาสติกก็จะเป็นปัญหาใหญ่ จึงเลือกเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมากๆ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ รวมทั้งอีก 4 ท้องถิ่น ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเช่นกัน เพราะหากชายหาดหรือทะเลเต็มไปด้วยพลาสติกนักท่องเที่ยวก็คงไม่มา ซึ่งจะใช้เวลาในการนำร่องและประเมินผล 2-3 ปีในการเก็บข้อมูลและทำความเข้าใจว่าพลาสติกมีที่มาอย่างไร รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งของภาคีในชุมชนต่างๆ


          “อยากฝากว่า ปัญหาพลาสติกเป็นปัญหาของทุกคน และอาจจะเป็นปัญหาที่เราทิ้งไว้ให้ลูกหลาน เพราะพลาสติกไม่ย่อยสลาย ปัจจุบันคนไทย 1 คนใช้ถุงพลาสติกคนละ 8 ใบ หากลดได้ก็อยากให้ทุกคนช่วยกันลดเพื่อให้ติดเป็นนิสัยต่อไป”


          ขณะที่ เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง แสดงความยินดีที่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ และดูขมีขมันที่จะเร่งลงมือทำงานในทันที


          เธอมองว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อหาดป่าตองอย่างมาก หลังจากนี้จะลงพื้นที่พูดคุยกับทุกภาคส่วนให้มาร่วมกันขับเคลื่อนป่าตองให้ปลอดพลาสติก เพราะทุุกวันนี้ป่าตองก็ประสบกับปัญหาขยะ และขยะพลาสติกมีเยอะมาก


          นายกหญิงเมืองป่าตอง บอกถึงแนวทางการดำเนินงานว่า จะเริ่มด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจกันก่อน แม้ว่าวันนี้ยังไม่มีกฎหมายบังคับให้เลิกใช้ถุงพลาสติก แต่ในอนาคตอันใกล้ต้องมีแน่นอน ถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งจะต้องคิดหาวิธีการลดการใช้พลาสติกลง


          “เมื่อพี่น้องประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและช่วยกันจะเป็นเรื่องที่ดี รวมทั้งถ้ารัฐบาลประกาศมาตรการลดละเลิกใช้พลาสติกจะเป็นเรื่องที่มีพลังมาก เพราะการสร้างจิตสำนึกเพียงอย่างเดียวคงไม่ทันกับการผลิตพลาสติกออกสู่เมือง อย่างในช่วงฤดูมรสุมเราจะเห็นว่าชายหาดป่าตองมีขยะที่ถูกพัดมาจากทะเลจำนวนมาก ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี และหากโครงการนี้ทำได้สำเร็จจะช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับสัตว์น้ำในทะเลได้ด้วย”


          ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่โหมดลดละเลิกการใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง และน่าจะส่งผลดีต่อโครงการ Plastic Smart Cities ที่เริ่มขับเคลื่อนอย่างมีเป้าหมายแล้วตั้งแต่วันนี้