ได้เวลาปลดล็อก เหลื่อมล้ำ เงินเดือน คนมหาวิทยาลัย
ได้เวลาปลดล็อก เหลื่อมล้ำ เงินเดือน คนมหาวิทยาลัย คอลัมน์... ล่าความจริง..พิกัดข่าว โดย... ปกรณ์ พึ่งเนตร
ในขณะที่นักการเมืองบางคนกำลังหันหลังให้สภา แล้วใช้มวลชนนอกสภากดดันเรียกร้องให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ...
แต่ปรากฏว่าเครือข่ายคณาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัยที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของเงินเดือนและรายได้ กลับบ่ายหน้าเข้า “สัปปายะสภาสถาน” เพื่อใช้กลไกรัฐสภาในการจัดการปัญหาของพวกตนในแบบสันติวิธี
ทั้งๆ ที่คณาจารย์เหล่านี้ ซึ่งมีสถานะเป็น “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” และกลุ่มที่เป็น “พนักงานมหาวิทยาลัย” หรือ พม. ทั้งสายผู้สอน และสายสนับสนุน ได้รับความเดือดร้อนร่วมๆ 2 แสนคน และต้องอึดอัดคับข้องใจกับความเหลื่อมล้ำมานานร่วม 2 ทศวรรษ
กลุ่มคณาจารย์ที่เป็น “ข้าราชการ” มีปัญหาเงินเดือนน้อยกว่าข้าราชการครูตามโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ราวๆ 3 พันบาทต่อเดือน หรือ 8% จากปัญหาการขึ้นเงินเดือนแบบ “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 หรือกว่า 8 ปีก่อน ตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น (รัฐบาลประชาธิปัตย์) ซึ่งพยายามผลักดันให้ขึ้นเงินเดือนครูด้วยเหตุผลทางการเมือง เนื่องจากใกล้เลือกตั้ง
แต่การขึ้นเงินเดือนครู กลับไม่รวมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งมีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาด้วย ทำให้ส่วนต่างเงินเดือนของข้าราชการทั้งสองกลุ่มในระดับเดียวกัน (ซีเดียวกัน) อยู่ที่ 2,940 บาท หรือเกือบ 4 หมื่นบาทต่อปี และเป็นแบบนี้มานานกว่า 8 ปีแล้ว ส่งผลให้เกิดปัญหาสมองไหล กระทบขวัญกำลังใจ เพราะฐานเงินเดือนต่ำกว่า เมื่อมีการปรับเงินเดือน ก็ยิ่งได้ปรับน้อยกว่า ช่องว่างยิ่งห่างมากขึ้นไปอีก
บุคลากรกลุ่มนี้มีราวๆ 2 หมื่นคนทั่วประเทศจากทุกมหาวิทยาลัย!
ขณะที่กลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัย (พม.) เป็นเจ้าหน้าที่และคณาจารย์ที่ไม่ได้มีสถานะเป็นข้าราชการ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายควบคุมจำนวนข้าราชการของรัฐบาลในอดีต จึงมีการออกมติ ครม.เมื่อปี 2542 ให้เปิดตำแหน่ง “พนักงานมหาวิทยาลัย” ขึ้นมา แต่เนื่องจากพนักงานกลุ่มนี้จะไม่มีสวัสดิการและบำเหน็จบำนาญเหมือนข้าราชการ มติครม.จึงกำหนดให้ได้เงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ คือ พม.สายผู้สอน ซึ่งก็คือคณาจารย์ ได้เงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ 1.7 เท่า และสายสนับสนุน พวกเจ้าหน้าที่ธุรการ นักวิจัยต่างๆ จะได้เงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ 1.5 เท่า
แต่ปรากฏว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา พม.ไม่เคยได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนเลย กลับถูกมหาวิทยาลัยหักเอาไว้คนละ 5,000-6,000 บาทต่อเดือน หรือมากกว่า 70,000 บาทต่อคนต่อปี อ้างว่าหักมาทำสวัสดิการภาคบังคับ แต่บางมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ทำจริง หรือทำไม่ครบ หรือทำแล้วไม่ดีเท่ากับจำนวนเงินที่หักไป ทำให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรม
ปัจจุบันมี พม.ทั่วประเทศมากถึง 1.6 แสนคน จึงเกิดคำถามว่าเงินที่หักไปหายไปไหน ถูกมหาวิทยาลัยนำไปทำอะไรกันแน่ เพราะเม็ดเงินสูงมาก
ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ประธานชมรมข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ชขอท.) และสมาคมพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันเคลื่อนไหวเรียกร้องไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะสภาล่าง สภาสูง และคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องของทั้งสองสภา เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น ประธาน ทปสท. บอกว่า ผลตอบรับออกมาเป็นบวก โดยเฉพาะที่ได้ประสานงานกับ ส.ส.สิระ เจนจาคะ และ ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่ง ดร.รงค์ เป็นอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย จึงเข้าใจปัญหาอย่างมาก
นอกจากนั้นยังมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้มีการเชิญปลัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ เข้าชี้แจงด้วย สรุปว่า ในส่วนของคณาจารย์มหาวิทยาลัยกลุ่มที่เป็นข้าราชการ และได้รับเงินเดือนน้อยกว่าครูกลุ่มอื่นๆ ได้มีการเตรียมข้อมูล รายชื่อ และตัวเลขที่ต้องเยียวยาเอาไว้เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากเรื่องนี้ไม่ได้ตั้งงบไว้ในปี 63 จึงกำลังประสานสภาพิจารณาหาทางออก ขณะที่รูปแบบการเยียวยา ได้เตรียมเอาไว้หลายรูปแบบ เพื่อให้ ก.พ.อ.พิจารณา
ส่วนการจ่ายเงินเดือนเต็มจำนวนให้ พม. ที่ประชุมขอให้ปลัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ หรือรัฐมนตรี ขอมติ ครม.ออกแนวปฏิบัติให้สถาบันอุดมศึกษาจ่ายเงินเดือนให้ พม.ให้เป็นไปตามมติ ครม. ไม่มีการหักเอาไว้ หรือจ่ายต่ำกว่าคุณวุฒิที่มติ ครม.กำหนดเมื่อ 20 ปีก่อน และเสนอให้ปรับขึ้นเงินเดือนของกลุ่ม พม.นี้ จาก 4% ต่อปี เป็น 6% ต่อปีเหมือนกับข้าราชการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วย
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว คือแก้กฎหมายเพื่อเปลี่ยนสถานภาพ พม.กลับมาเป็นข้าราชการ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของบุคลากรทั้ง 2 ประเภท และเพิ่มความมั่นคงในบั้นปลายชีวิตหลังเกษียณ หรืออีกแนวทางหนึ่ง คือผลักดันร่างกฎหมายพนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อให้บุคลากรกลุ่มนี้มีกฎหมายรองรับ และมีช่องทางการดูแลสวัสดิการอย่างเป็นระบบต่อไป
ทุกเรื่องมีแนวโน้มดี เหลือเพียงรูปธรรมเท่านั้นว่าจะเกิดขึ้นจริงเมื่อใด !