แก้ปัญหารุนแรงในโรงเรียน
แก้ปัญหารุนแรงในโรงเรียน บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดี
นับเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาของเยาวชน กรณีนักเรียนชั้น ม.1 ถูกยิงเสียชีวิตจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่อายุเพียง 13 ปีด้วยกันทั้งคู่ สาเหตุมาจากการสะสมความคับแค้นใจในเรื่องการกลั่นแกล้งและทะเลาะวิวาทกันอยู่บ่อยครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้สะท้อนภาวะการใช้ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจนถึงขั้นต้องการเอาชีวิตอีกฝ่ายและลงมือกระทำอย่างขาดการยับยั้งชั่งใจ เด็กในวัยนี้เป็นช่วงวัยที่ยังขาดประสบการณ์ชีวิตและขาดการไตร่ตรองถึงผลการกระทำ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่หน่วยอื่นๆ ในสังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างเกราะป้องกันให้แก่ลูกหลานและเยาวชน โดยเฉพาะครอบครัวมีความสำคัญพอๆ กับสถานศึกษาที่ยิ่งต้องปูพื้นฐานด้านจิตใจตลอดจนสร้างแนวทางในการแจ้งเตือน รวมไปถึงการสอดส่องเฝ้าระวังและเริ่มต้นที่ตัวเองไม่ยอมรับความรุนแรงทุกรูปแบบ
อ่านข่าว-เด็ก ม.1 ขโมยปืนพ่อ ยิงเพื่อนดับแค้นหลังถูกล้อหน้าห้องเรียน
ปัญหาความรุนแรงไม่ว่าจะในสังคมครอบครัว สังคมสถานศึกษา หรือสังคมในสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่เด็กได้รับจะถูกซึมซับและส่งผลกระทบต่อตัวเด็ก โดยจะเกิดบาดแผลทางจิตใจ มีภาวะวิตกกังวลซึมเศร้าจนถึงไม่มั่นใจไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่าความรุนแรงที่เด็กเจอในวัยเด็กจะติดตามไปถึงตอนที่โตเป็นผู้ใหญ่ และอาจส่งต่อความรุนแรงต่อสังคมและครอบครัวในอนาคตของเขาด้วย ทั้งนี้จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขปี 2562 พบว่าสถานการณ์การรังแกกันในโรงเรียนมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น โดยพบว่ามีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 6 แสนคน โดยประเทศไทยมีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันสูงถึงร้อยละ 40 ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่มากและเป็นเรื่องยากในการเข้าแก้ไขปัญหาแต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขในเรื่องนี้
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมสุขภาพคนไทยในปี 2563 ที่น่าเป็นห่วงกังวลซึ่งรวมถึงกลุ่มวัยเด็กและเยาวชน โดยมีประเด็นที่น่าจับตาคือข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ปี 2562 พบว่าทุก 1 ชั่วโมงจะมีคนพยายามฆ่าตัวตาย 6 ราย โดยมีกลุ่มเด็กเยาวชนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จถึงปีละ 300 ราย และยังพบแนวโน้มการเข้ารับคำปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น และประเด็นที่ควรให้ความสนใจจากการกระแสบนโลกออนไลน์พบว่าสาเหตุที่ทำวัยรุ่นเครียด อันดับ 1 มาจากปัญหาความสัมพันธ์ โดยเฉพาะครอบครัว ตามด้วยเรื่องหน้าที่การงาน การถูกกลั่นแกล้ง และความรุนแรง ซึ่งวัยรุ่นมักโพสต์ข้อความอยากฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นด้วย และปัจจัยอีกเรื่องที่เข้ามาสร้างผลกระทบคือภัยคุกคามออนไลน์ที่ยิ่งเสพติดออนไลน์ยิ่งเสี่ยงสูง
งานวิจัยหลายชิ้นเสนอมุมมองว่าเยาวชนที่ชอบกลั่นแกล้งเพื่อนหรือใช้ความรุนแรงพบว่าส่วนใหญ่เคยเป็นผู้ถูกกระทำมาก่อน ขณะที่เด็กที่ถูกกระทำเมื่อโดนกระตุ้นจนเกิดความกดดันมากๆ ก็มีการตอบสนองออกมาด้วยวิธีการรุนแรงที่สูงขึ้นไป ซึ่งระยะสั้นส่งผลเสียต่อการเรียนต่อสุขภาพจิตและในระยะยาวอาจมีผลต่อการปรับตัวในสังคมนำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าวและต่อต้านสังคม รวมทั้งจะกระทำรุนแรงต่อผู้อื่นต่อๆ ไปอีก ดังนั้นสังคมครอบครัวเป็นพื้นฐานแรกที่ต้องใส่ใจเยาวชนและเสริมสร้างทักษะการดำรงชีวิต ขณะเดียวกันสถานศึกษาต้องเข้ามามีส่วนในการพัฒนาจิตใจเยาวชนสร้างวัคซีนป้องกันการใช้ความรุนแรง รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการเชิงรุกวางแนวทางคู่ขนานในการมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไปกับการสร้างเยาวชนของชาติที่มีความพร้อมด้านจิตใจที่สมบูรณ์