คอลัมนิสต์

ย้อนวีรกรรม ชวน ทำ บิ๊กทหาร กุมขมับ

ย้อนวีรกรรม ชวน ทำ บิ๊กทหาร กุมขมับ

13 ม.ค. 2563

นายชวน ยึด หลักการ ในการทำงาน แต่มักจะสวนทางกับแนวปฏิบัติของ กองทัพ ที่ทำ บิ๊กทหาร ต้องหงุดหงิดใจ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

      ในเวลานี้คงไม่มีอะไรจะดีไปกว่ารูดซิปปาก สำหรับ 6 สมาชิกวุฒิสภา (สว.)โดยตำแหน่ง  ประกอบด้วย พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ,พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร)

        ต้องยอมรับว่า ข้อเสนอไม่ควรบรรจุตำแหน่งข้าราชการประจำ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็น สว.ของ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา สร้างความขุ่นข้องหมองใจ กับทหารบางส่วน แต่ในขณะเดียวกันก็มีทหารจำนวนไม่น้อยในกองทัพ ที่เห็นด้วยกับหลักการนี้

         ย้อนวีรกรรม ชวน ทำ บิ๊กทหาร กุมขมับ

                                                                ชวน หลีกภัย

     ทั้งนี้ 'นายชวน' เข้าใจดีว่าสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่การมี ผบ.เหล่าทัพ ไปนั่งเป็น สว.สามารถทำงานได้ในห้วงสถานการณ์พิเศษ ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)การันตีไว้ว่าตรงตามวัตถุประสงค์ คือเกิดความเชื่อมโยงเรื่องความมั่นคง และทำการเมืองให้มีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ในอนาคตจะราบรื่นหรือไม่ 

      เพราะกรณีดังกล่าว นายชวน เคยประสบมาแล้ว หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)ชนะการเลือกตั้งและ นายชวน ก้าวขึ้นสู่ นายกรัฐมนตรีคนที่ 20 สมัยแรก เรียกว่า รัฐบาลชวน 1 แม้รัฐธรรมนูญขณะนั้น ไม่ได้เจาะจงหรือกำหนดตำแหน่ง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ต้องเป็น สว.เหมือน รัฐธรรมนูญปี 2560 

    ย้อนวีรกรรม ชวน ทำ บิ๊กทหาร กุมขมับ

                                               พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ 

      แต่ สว.ที่มาจากการแต่งตั้งส่วนหนึ่งมีข้าราชการประจำทหาร-ตำรวจ จำนวนมาก รวมถึง ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร. อย่าง "บิ๊กอู๊ด"พล.อ.อ. วรนาถ อภิจารี ที่ควบทั้งตำแหน่ง ผบ.ทสส. และ ผบ.ทอ.,พล.อ.วิมล วงศ์วานิช ผบ.ทบ.,พล.ร.อ.วิเชษฐ การุณยวนิช, ผบ.ทร.และ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ ผบ.ตร.

    ทั้งนี้ นายชวน เล็งเห็นว่า การทำหน้าที่ของข้าราชการประจำ ที่มานั่งเป็น สว.ในสมัยนั้นเกิดข้อจำกัดมากมาย ทำงานยาก ไม่คล่องตัว อุ้ยอ้าย จนเกิดปัญหาสับรางเวลาไม่ทัน จึงมี สว.ไม่เข้าประชุมอยู่เนืองๆ  อีกทั้งทำให้เกิดข้อครหาผลประโยชน์ทับซ้อน รับเงินเดือนสองทาง

ย้อนวีรกรรม ชวน ทำ บิ๊กทหาร กุมขมับ

                                                พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ

     ดังนั้นหากจะศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ในอนาคต นายชวน จึงสะท้อน 3 หลักการที่ได้ยึดถือมาตลอด คือ หลักประชาธิปไตย หลักความโปร่งใส สุจริต และ หลักประหยัด เช่น ในห้วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะไม่เดินทางไปเมียนมา เว้นระยะห่างกับสาธารณรัฐประชาชนจีน สนับสนุน ดาไลลามะ เรื่องสิทธิมนุษยชน

     หรือแม้แต่ในปี 2540-2544 ที่ประเทศไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ขณะนั้น นายชวน เป็น นายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม ไม่เคยใช้งบลับแม้แต่ครั้งเดียวอีกทั้งสั่งตัดงบทุกอย่างของกองทัพ ลดจำนวนนายพล 80,000 อัตรา พร้อมกำหนดกฎเกณฑ์การขยับขึ้นนายพลได้ยากขึ้น อีกทั้งสั่งยุบสำนักงานผู้ช่วยทูตทหาร ในต่างประเทศ

                                            ย้อนวีรกรรม ชวน ทำ บิ๊กทหาร กุมขมับ

                                            พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี

       เรียกว่าทำเอาทหารในกองทัพไม่พอใจเนื่องจากอัตรากำลังพลหายไปจำนวนมาก โดย           เฉพาะ'บิ๊กหมง'พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในขณะนั้น อยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะต้องทำงานร่วมกับ 'นายชวน' จะไม่ตัดก็ไม่ได้ พอตัดก็โดน 'ลูกน้อง' ต่อว่า

      ตลอดถึงสั่งคืนเครื่องบินขับไล่ F-18 ที่กองทัพอากาศ สั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกา โดยมีการวางเงินมัดจำ และอยู่ระหว่างการผลิต โดย 'นายชวน' ส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปเจรจากับท่านประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บิล คลินตัน เพื่อขอยกเลิกการสั่งซื้อเครื่องบิน F-18 ทั้งฝูงของไทย จนประสบความสำเร็จและไทยไม่เสียค่าปรับอะไรเลย

                                ย้อนวีรกรรม ชวน ทำ บิ๊กทหาร กุมขมับ    

                                                             พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์           

       แม้ในประวัติศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์กับกองทัพ จะมีความตึงเครียดและขัดแย้งทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2475 แต่ 'นายชวน'ก็ไม่ได้สืบสานเจตนารมณ์ความขัดแย้งในลักษณะเช่นนั้น แต่เป็นเรื่องของหลักการล้วนๆ อีกทั้งส่วนตัวแล้วยังคุ้นเคยกับแม่ทัพ นายกอง หลายคน ร่วมถึงนายทหารเคยร่วมทำงานด้วยกัน

      ทั้ง พล.อ. นฤนาท กัมปนาทแสนยากร,พล.อ. วัฒนชัย วุฒิศิริ ห้วงดำรงตำแหน่งรมช.กลาโหม,พล.อ. ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ในขณะที่ เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม หรือแม้ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีต ผบ.ทสส. และ ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพติมอร์ตะวันออก

     ย้อนวีรกรรม ชวน ทำ บิ๊กทหาร กุมขมับ

                                                    พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์

    นี่คือตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า 'นายชวน' ยึดหลักการ เช่นเดียวกับข้อเสนอ ไม่ให้บรรจุตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ เป็น สว. เพราะมองว่าไม่ควรมีข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองสวมตำแหน่งเดียวกัน นอกจากทำงานยากแล้ว ยังขัดหลักประชาธิปไตย รวมถึงผลประโยชน์ทับซ้อน

      แต่หลักการของ 'นายชวน' มักจะสวนทางกับแนวปฏิบัติของ'กองทัพ'ที่ทำ' บิ๊กทหาร'ต้องหงุดหงิดใจ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน