คอลัมนิสต์

จัดซื้อ 27 ลำ หมดงบกว่า 300 ล. จอดโชว์โรงเก็บ

จัดซื้อ 27 ลำ หมดงบกว่า 300 ล. จอดโชว์โรงเก็บ

16 ม.ค. 2563

ฉาวอีกเรือตรวจการณ์ ตม. ผลาญงบ 348 ล.ไร้ประโยชน์ จัดซื้อทับซ้อนงานตำรวจน้ำ 

 

               เรื่องฉาว สตช.โผล่อีก โครงการเรือตรวจการณ์ สตม.จัดซื้อ 27 ลำ ผลาญงบ 348 ล้าน ชี้ไร้ประโยชน์ ส่งมอบตม.จังหวัด จอดไว้โรงเก็บ ไม่ได้ลงน้ำลาดตระเวนแนวชายแดน สงสัยทับซ้อนตำรวจน้ำหน่วยงานหลัก ส่อเค้าทุจริต

 

               จากกรณีโครงการอื้อฉาวจัดซื้อจัดจ้างระบบไบโอเมทริกซ์ซึ่งถูกแฉพิรุธส่วนต่างว่าแพงเกินจริง ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อาจมีการทุจจริต ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดยผู้ลงนามเซ็นอนุมัติโครงการเป็น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.

 

               ใช้งบประมาณในส่วนของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) มูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท แต่คู่สัญญากับบริษัทเอกชนกลับเป็นสำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สกบ.) ที่มี พล.ต.ท.ติณภัทร ภุมรินทร์ เป็น ผบช.สกบ.

 

               โดยเรื่องดังกล่าวถูกนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ นำเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ จนเป็นปมร้อนอยู่ในขณะนี้นั้น

 

              ล่าสุดวันที่ 16 มกราคม มีรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องอื้อฉาวโผล่อีก โดยเรื่องนี้ยังคงเกี่ยวข้องกับสตม. ซึ่งเป็นโครงการเรือยนต์ตรวจการณ์ สตม. โดยใช้งบประมาณจำนวนหลายร้อยล้านบาทในการจัดซื้อ

 

จัดซื้อ 27 ลำ หมดงบกว่า 300 ล. จอดโชว์โรงเก็บ

 

               แต่เรือดังกล่าวกลับไม่ได้ใช้ประโยชน์จริงตามวัตถุประสงค์ที่เขียนไว้ในโครงการดังกล่าว เนื่องจากมี ตม.จังหวัดหลายแห่งที่รับมอบเรือไปแล้วนำไปจอดไว้บนบกที่โรงเก็บ ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์

 

               บางแห่งไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม.ขับเรือเป็น ขณะเดียวกันยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีกองบังคับการตำรวจน้ำ (บก.รน.) ที่ถือว่าเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติหน้าที่ทางน้ำ ตรวจการณ์ ลาดตระเวน ฯลฯ และโครงการนี้มีความซ้ำซ้อนกับตำรวจน้ำหรือไม่ หรืออาจจะเป็นการทุจริตเรื่องงบประมาณ

 

               แหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยกับสำนักข่าวเครือเนชั่น ว่าโครงการจัดซื้อเรือยนต์ตรวจการณ์ สตม. จำนวน 27 ลำ ใช้งบประมาณรวม 348,100,500 บาท โดยเรือตรวจการณ์ที่จัดซื้อ เป็นเรือยนต์ 2 ประเภท แบ่งเป็น เรือยนต์ขนาด 21 ฟุต ติดเครื่องยนต์ท้าย 1 เครื่องยนต์ จำนวน 8 ลำ ราคาลำละ 7,437,500 บาท รวม 59,500,000 บาท และเรือยนต์ขนาด 32 ฟุต ติดเครื่องยนต์ท้าย 2 เครื่องยนต์ จำนวน 19 ลำ ราคาลำละ 15,189,500 บาท รวม 288,600,500 บาท รวมมูลค่าในการจัดซื้อเรือยนต์ทั้ง 2 ประเภท ราคา 348,100,500 บาท

 

               สำหรับวัตถุประสงค์ที่อ้างเป็นเหตุผลในการจัดซื้อนั้น เพื่อใช้ตรวจการณ์บริเวณชายแดน เน้นชายแดนด้านที่ติดน้ำ โดยเรือขนาด 21 ฟุต จำนวน 8 ลำ ส่งมอบแล้ว 3 งวด แบ่งเป็น งวดที่ 1 ส่งมอบภายใน 90 วัน นับจากวันลงนามในสัญญา (24 มิถุนายน 2561) จำนวน 2 ลำ โดยมอบให้ ตม.จังหวัดมุกดาหาร และ ตม.จังหวัดอุบลราชธานี

 

               ส่วนงวดที่ 2 จำนวน 3 ลำ ส่งมอบภายใน 150 วัน นับจากวันลงนามในสัญญา (23 สิงหาคม 2561) ส่งมอบให้แก่ ตม.จังหวัดสตูล ตม.จังหวัดฉะเชิงเทรา และตม.จังหวัดหนองคาย สำหรับงวดที่ 3 จำนวน 3 ลำ ส่งมอบภายใน 180 วัน นับจากวันลงนามในสัญญา (22 กันยายน 2561) ส่งมอบให้ ตม.จังหวัดนครพนม ตม.จังหวัดบึงกาฬ และด่าน ตม.ท่าเรือกรุงเทพฯ

 

               ขณะที่เรือยนต์ขนาด 32 ฟุต จำนวน 19 ลำ มีการทยอยส่งมอบเป็น 5 งวด โดยงวดที่ 1 จำนวน 2 ลำ ส่งมอบภายใน 90 วัน นับจากวันลงนามในสัญญา (24 มิถุนายน 2561) ส่งมอบให้ ตม.จังหวัดนครศรีธรรมราช และตม.จังหวัดตรัง ส่วนงวดที่ 2 จำนวน 4 ลำ ส่งมอบภายใน 150 วัน นับจากวันลงนามในสัญญา (23 สิงหาคม 2561) ส่งมอบให้ ตม.จังหวัดสตูล ตม.จังหวัดตราด ตม.จังหวัดสมุทรสาคร และตม.จังหวัดสมุทรปราการ

 

               งวดที่ 3 จำนวน 4 ลำ ส่งมอบภายใน 220 วัน นับจากวันลงนามในสัญญา (22 ตุลาคม 2561) ส่งมอบให้ ตม.จังหวัดภูเก็ต ตม.จังหวัดสงขลา จำนวน 2 ลำ และตม.จังหวัดกระบี่ สำหรับงวดที่ 4 จำนวน 4 ลำ ส่งมอบภายใน 270 วัน นับจากวันลงนามในสัญญา (21 ธันวาคม 2561) ส่งมอบให้ด่าน ตม.เชียงแสน ตม.จังหวัดระนอง ตม.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และตม.จังหวัดชุมพร

 

               โดยงวดที่ 5 จำนวน 5 ลำ ส่งมอบภายใน 360 วัน นับจากวันลงนามในสัญญา (21 มีนาคม 2562) ซึ่งส่งมอบให้ ตม.จังหวัดจันทบุรี ตม.จังหวัดระยอง ตม.จังหวัดชลบุรี ตม.จังหวัดปัตตานี และตม.จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

               แหล่งข่าวคนเดิมบอกอีกว่า การจัดซื้อเรือยนต์ตรวจการณ์ให้หน่วยงานอย่าง สตม. ทำให้เกิดคำถามเรื่องความเหมาะสมและตรงตามภารกิจจริงหรือไม่ เพราะหากจะอ้างเรื่องการตรวจลำน้ำ หรือผลักดันคนเข้าเมืองผิดกฎหมายทางน้ำ ก็สามารถประสานกับกองบังคับการตำรวจน้ำ ซึ่งมีเรือและยุทโธปกรณ์ครบถ้วนกว่าได้

 

จัดซื้อ 27 ลำ หมดงบกว่า 300 ล. จอดโชว์โรงเก็บ

 

               นอกจากนั้นเฉพาะในลำน้ำโขงยังมีหน่วยปฏิบัติการพิเศษตามลำแม่น้ำโขง หรือ นปข. คอยลาดตระเวน สอดแนม และดูแลด้านความมั่นคงทุกจังหวัดริมน้ำโขงด้วย

 

               อย่างไรก็ตามเมื่อส่องดูภารกิจของสตม.ซึ่งเขียนไว้ในเว็บไซต์ของหน่วยงาน เขียนเอาไว้กว้างๆ สรุปสาระสำคัญได้ว่า มีหน้าที่ในการตรวจสอบบุคคลและยานพาหนะที่ใช้เดินทางเข้าออกประเทศ รวมทั้งให้บริการคนต่างด้าวขณะพำนัก

 

               จึงเป็นหน่วยงานมีภารกิจทั้งงานให้บริการในการเดินทางข้ามแดนและการรักษาความมั่นคงของประเทศ สกัดกั้นบุคคลต้องห้ามหรือไม่พึงประสงค์ไม่ให้เดินทางเข้ามาหรือออกนอกราชอาณาจักร รวมทั้งป้องกันภัยคุกคามต่อความมั่นคงในรูปแบบต่างๆ

 

               ทั้งนี้การจัดซื้อและส่งมอบเรือยนต์ตรวจการณ์ สตม. จนถึงขณะนี้ส่งมอบไปหมดแล้ว โดยจากการตรวจสอบในเว็บไซต์ของตม.จังหวัดต่างๆ พบว่ามีการลงภาพและข่าวการรับมอบเรือกันอย่างคึกคัก

 

               ส่วนใหญ่รับมอบตั้งแต่ปี 2561 เช่น ตม.จังหวัดหนองคาย รับมอบเรือยนต์ตรวจการณ์ ขนาด 21 ฟุต จำนวน 1 ลำ บริเวณท่าทรายอิทธิศักดิ์ขนส่งหนองคาย ต.กวนวัน อ.เมืองหนองคาย พร้อมทดสอบเรือยนต์ในลำน้ำโขง

 

จัดซื้อ 27 ลำ หมดงบกว่า 300 ล. จอดโชว์โรงเก็บ

 

               ขณะที่เว็บไซต์ด่านตรวจคนเข้าเมืองเชียงแสน ได้เผยแพร่ข่าวเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 เกี่ยวกับจัดพิธีปล่อยเรือยนต์ตรวจการณ์ลงน้ำ หลังได้รับจัดสรรเรือยนต์ตรวจการณ์จากสตม. โดยภายในงานมี พ.ต.อ.ณัชธฤต ปิ่นปัก ผู้กำกับการ ด่าน ตม.เชียงแสน พร้อมข้าราชการตำรวจในสังกัด เข้าร่วมพิธี มีการทำพิธีเจิมเรือเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย

 

               ขณะเดียวกันเว็บไซต์ข่าวสดเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 ก็ได้รายงานข่าว พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. ขับเรือยนต์ตรวจการณ์ของตม.จังหวัดอุบลราชธานี บริเวณจุดผ่อนปรนทางการค้า อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี เพื่อตรวจสอบความพร้อมการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงการบูรณาการกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่และเสริมสร้างภารกิจด้านความมั่นคงให้มีความเข้มแข็ง อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

               นอกจากนี้จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมของสำนักข่าวเครือเนชั่น ยังพบว่า โครงการจัดซื้อเรือยนต์ตรวจการณ์ของสตม. ดำเนินการโดย สกบ.ตร. เหมือนกับโครงการไบโอเมทริกซ์ แต่ใช้งบประมาณจากเงินค่าธรรมเนียมที่เก็บตามด่านตรวจคนเข้าเมืองมาใช้ในการจัดซื้อ ซึ่งเริ่มโครงการในยุค พล.ต.ท.ณัฐธร เพราะสุนทร เป็น ผบช.สตม.

 

               โดยเรือยนต์ตรวจการณ์ต่อเสร็จและมีการส่งมอบกันช่วงปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่ พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น หรือ “บิ๊กบัว” เพื่อนร่วมรุ่น นรต.36 ของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา มานั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการ สตม. ต่อจาก พล.ต.ท.ณัฐธร ขณะที่ พล.ต.ท.ณัฐธร สายตรง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามารับหน้าที่หลังเกิดเหตุวิกฤติลอบวางระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์เมื่อปี 2559 และหลังจากนั้นก็มีการเสนอจัดซื้อระบบไบโอเมทริกซ์

 

               รายงานข่าวระบุว่า ในช่วงที่มีการส่งมอบเรือยนต์ตรวจการณ์ไปประจำตามด่าน ตม.ในหลายจังหวัดที่มีพื้นที่ปฏิบัติการทางน้ำ ปรากฏว่า สตม.ไม่มีกำลังพลที่สามารถขับเจ้าเรือยนต์ตรวจการณ์ดังกล่าวได้จนต้องโอนย้ายเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานข้างเคียงที่สามารถขับเรือได้มาเป็นตำรวจ ตม.

 

จัดซื้อ 27 ลำ หมดงบกว่า 300 ล. จอดโชว์โรงเก็บ

 

               รวมทั้งตรวจสอบจังหวัดต่างๆ ริมแม่น้ำโขง ส่วนใหญ่ได้รับการยืนยันว่าแทบไม่เคยเห็นเรือยนต์ตรวจการณ์ของ สตม.ออกปฏิบัติการในลำน้ำ โดยส่วนมากเห็นจอดอยู่บนบก เช่น ในโรงจอดรถของหน่วย จนเกิดคำถามว่ามีการใช้งานคุ้มค่ากับงบประมาณลำละหลายล้านบาท หรือทั้งโครงการที่ใช้งบไปกว่า 348 ล้านบาท หรือไม่

 

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลอดทั้งวันสำนักข่าวเนชั่นพยายามสอบถามผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แต่ไม่มีใครสะดวกหรือสามารถให้ข้อมูลและชี้แจงได้ โดยเฉพาะในรายการเก็บตกจากเนชั่นภาคเย็น ทางเนชั่นทีวีช่อง 22 ที่เป็นรายการสด ออกอากาศเวลา 15.30 น. ก็ระบุว่าทีมงานพยายามติดต่อเพื่อสอบถามและให้ชี้แจงกรณีการจัดซื้อเรือยนต์ตรวจการณ์ สตม. รวมทั้งการใช้งานกับ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. ก็ติดภารกิจ ไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์

 

               จากนั้นติดต่อไปยัง พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ รองผบช.สตม. ก็แจ้งว่าไม่สะดวกจะให้สัมภาษณ์เช่นกัน กระทั่งติดต่อไปยัง พล.ต.ต.จักรทิพย์ ศตพิมลศักดิ์ ผู้บังคับการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศตรวจคนเข้าเมือง (ผบก.ศท.ตม.) ก็ได้รับคำอธิบายว่า รู้เฉพาะเรื่องรถยนต์สายตรวจอัจฉริยะ ส่วนเรื่องเรือยนต์ตรวจการณ์ไม่รู้ จึงไม่สามารถอธิบายหรือชี้แจงให้ได้

 

               ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับคดีที่คนร้ายบุกยิงรถยนต์ส่วนตัวของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษาพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีต ผบช.สม. ซึ่งเหตุเกิดเมื่อช่วงค่ำวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา กระทั่งทำให้เรื่องการทุจริตจัดซื้อไบโอเมทริกซ์กลายเป็นปมร้อนขึ้นมา เนื่องจากเจ้าตัวออกมาระบุว่าสาเหตุที่ถูกยิงรถเกิดจากเรื่องนี้ โดยจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

 

               ซึ่งเมื่อช่วงเช้าวันที่ 16 มกราคม พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. บอกถึงคดีดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานมาโดยตลอด ในเบื้องต้นมีการสอบปากคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีทั้งสิ้น 145 ปาก รวบรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุพบหัวกระสุนปืนในที่เกิดเหตุ 1 หัว และในรถยนต์คันเกิดเหตุ 7 หัว

 

               ส่วนรายงานผลพิสูจน์ของพฐ. ทราบผลเบื้องต้นแต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะอยู่ในสำนวนการสอบสวน นอกจากนี้ได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดจำนวน 134 ตัว และกำลังตรวจสอบเพิ่มเติมอีก

 

               พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวด้วยว่า ขอยืนยันคดีนี้ บช.น.สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเต็มที่ โดยตั้งแต่เกิดเหตุวันแรก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ขณะนั้นไปราชการต่างประเทศ ได้โทรมาสั่งการให้ดำเนินการตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ ซึ่ง ผบ.ตร. ได้สั่งการอีกหลายเรื่องตามปกติ