ย้อนดูจุดเริ่มต้น “ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019” พบครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แต่รัฐบาลจีนรายงานไปยัง “องค์การอนามัยโลก” อย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคม 2019 กว่าจะมีผลตรวจสอบยืนยันว่าเป็น เชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus) ก็ผ่านไปแล้วหลายอาทิตย์
วันที่ 13 มกราคม 2020 ไทยแลนด์พบเชื้อตัวนี้เป็นประเทศที่ 2 ของโลก จากนักท่องเที่ยวหญิง ชาวจีนวัย 61 ปี เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ซึ่งนำไปรักษาและเฝ้าดูอาการที่ “สถาบันบำราศนราดูร” จากนั้นมีรายงานการพบที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอเมริกา ล่าสุดวันที่ 22 มกราคม (อัพเดตถึง 20.00 น. ) จีนรายงานว่าเชื้อร้ายสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ระบาดจนทำให้มีผู้ป่วยแล้ว 444 คน เสียชีวิต 17 คน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสระบาดหลายประเทศประเมินว่า ตัวเลขแท้จริงอาจมากกว่านี้ 40 เท่า หรือหลายพันรายขึ้นไป โดยคำนวณจากสัดส่วนผู้ติดเชื้อจากจีนที่สามารถแพร่กระจายออกไปยังประเทศอื่นได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ยับยั้งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ต้องสกัดผู้ป่วยนักแพร่เชื้อ ( super spreader )
ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาหลายประเทศกล่าวเตือน ให้เร่งหาวิธีเฝ้าระวังไม่ให้ผู้ป่วยที่พบในแต่ละประเทศกลายเป็น ซูเปอร์สเปรดเดอร์ (super-spreader) หรือผู้ป่วยที่มีคุณสมบัติในการแพร่เชื้อโรคให้ผู้อื่นอย่างรวดเร็วและรุนแรง
ยกตัวอย่างจาก “โรคเมอร์ส” หรือ โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS : Middle East Respiratory Syndrome) รายงานการระบาดเมื่อปี 2012 เริ่มจากผู้ติดเชื้อรายแรกที่ซาอุดีอาระเบีย ต่อมาเชื้อกระจายไปอย่างรวดเร็วถึง 25 ประเทศ เช่น การ์ตา คูเวต จอร์แดน ฝรั่งเศส อิตาลี ฯลฯ ช่วงแรก “โรคเมอร์ส” ถูกเรียกชื่อเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เช่นกัน ขณะนั้นพบผู้ป่วยประมาณ 1,200 ราย เสียชีวิต 450 ราย ผ่านไป 3 ปี ในปี 2015 “ไวรัสเมอร์ส” กลับมาระบาดอีกครั้งที่น่าสนใจคือการระบาดรอบที่ 2 นั้น ในเดือนพฤษภาคม 2015 มีนักท่องเที่ยวชายวัย 68 ปีจากเกาหลีใต้เดินทางไปคูเวต ขากลับบ้านติดเชื้อไวรัสเมิร์สไปด้วย เมื่อมีอาการป่วยได้ไปรักษาในคลินิกและโรงพยาบาล 4 แห่ง กว่าจะยืนยันว่าเป็น “โรคเมอร์ส”
ปรากฏว่า “ชายวัย 68 ปี” รายนี้กลายเป็นหนึ่งใน ซูเปอร์สเปรดเดอร์ แพร่กระจายเชื้อต่อเนื่องไปให้ผู้ป่วยรายอื่น ๆ ถึง 122 คนภายในเวลาเพียง 20 วัน
หลังจากสื่อมวลชนเกาหลีใต้ร่วมกันกดดันไม่เห็นด้วยกับนโยบายปกปิดข้อมูล สุดท้ายรัฐบาลออกมายอมรับผิดว่าส่งเสียงเตือนประชาชนให้ป้องกันตัวช้าเกินไป ทำให้เชื้อแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรงโดยกลุ่มผู้ที่ติดเชื้ออันดับ 1 คือ “กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์” ในโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยเข้าไปรักษา มีทั้ง หมอ พยาบาล คนเข็นผู้ป่วย รวมถึงคนขับรถพยาบาลต่างพากันติดเชื้อเมอร์ส จากนั้นก็แพร่เชื้อไปให้ “คนป่วย” ที่มารักษาโรคในโรงพยาบาลเช่น คนป่วยที่ใช้ห้องเอกซเรย์เดียวกัน นอกจากนี้ “กลุ่มญาติ” หรือคนไปเยี่ยมคนป่วยในโรงพยาบาลก็ได้รับเชื้อและเอาไปแพร่ให้ผู้อื่นเช่นกัน ในที่สุดเกาหลีใต้ประกาศว่ามีผู้ติดเชื้อเมอร์สทั้งหมด186 ราย เสียชีวิต 36 ราย ส่วนตัวเลขทั่วโลกขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเมอร์ส 2,494 ราย เสียชีวิต 858 ราย
เช่นเดียวกับกรณี “ไวรัสโคโรนา 2019” ข้อมูลจากจีนระบุว่า มีเจ้าหน้าที่การแพทย์ติดไปแล้วไม่ต่ำกว่า 15 ราย !
ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอุบัติใหม่จากสัตว์สู่คน อธิบายให้ “คมชัดลึก” ฟังว่า “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” หมายถึงผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและมีศักยภาพในการแพร่เชื้อส่งต่อออกให้ผู้อื่นอีกหลายลำดับขั้น เปรียบเทียบกับเชื้อไวรัสไข้หวัดธรรมดา ผู้ป่วย 1 คนจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นเฉลี่ยประมาณ 1 ราย แต่เชื้อไวรัสตระกูลโคโรนานั้น อาจกระจายจากผู้ป่วย 1 คนไปยัง 5- 6 คนได้
“มีปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน เช่น ต้องเป็นผู้ป่วยที่รับเชื้อเข้าร่างกายแล้วบ่มเพาะไว้เยอะ มีอาการไอจามรุนแรง นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่มีคนใกล้ตัวหรือใกล้ชิดเยอะด้วย พ่อติดเชื้อ 1 คนส่งต่อให้แม่และลูก ๆ เป็นลำดับที่ 2 แม่ไปตลาดส่งต่อให้แม่ค้า หรือ ลูกไปโรงเรียนส่งต่อให้เพื่อน ๆ และเพื่อน ๆ ก็ส่งต่อไปอีกเป็นลำดับ 3 ลำดับ 4 กลายเป็นว่าเชื้อไวรัสจากผู้ป่วยเพียง 1 คน กระจายต่อไปได้หลายสิบคน”
หวั่นจีนกั๊กข้อมูล สถานการณ์ไวรัสโคโรนาปริศนา ใหญ่โตกว่าที่แถลง
ไทยไขปริศนา โคโรนาพันธุ์ใหม่ ท่ามกลางข้อมูลอันจำกัดจากจีน
ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นวิเคราะห์ต่อว่า จากข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้ ยังไม่สามารถบอกได้ว่า เชื้อโคโรนา 2019 มีความรุนแรงมากน้อยเพียงไร เนื่องจาก “จีน” ยังไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผู้ป่วยออกมาทั้งหมด เช่น ผู้ป่วยสัมผัสเชื้อกี่วันถึงมีอาการ การดำเนินการรักษาโรคของคณะแพทย์ทำอย่างไรบ้าง ผลการรักษาหรือการตอบสนองเป็นอย่างไร และที่สำคัญคือยังไม่ได้บอกถึงผลการแทรกซ้อนจากกระบวนการรักษาผู้ป่วยในแต่ละราย
“จากกฎระเบียบหรือแนวทางปฎิบัติขององค์การอนามัยโลก รัฐบาลจีนต้องแจ้งหรือรายงานรายละเอียดเหล่านี้ให้ประเทศอื่น ๆ ได้รับทราบ เพื่อช่วยกันหาทางรับมือและป้องกันไม่ให้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดไปมากกว่านี้ ตอนนี้รู้แต่เพียงว่าต้นตอน่าจะมาจากค้างคาว ส่วนสัตว์เลี้ยงประเภทใดที่ส่งเชื้อต่อมายังมนุษย์นั้น ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากคนติดเชื้อกลุ่มแรก ๆ มาจากตลาดขายปลาและขายเนื้อสัตว์ประเภทอื่นด้วย”
ทั้งนี้ หลายฝ่ายกำลังเป็นกังวลว่า การปกปิดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการแพร่ระบาด “ไวรัสโคโรนา 2019” ของรัฐบาลจีนนั้น อาจทำให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย คนติดเชื้อกลายเป็น ซูเปอร์นักแพร่เชื้อโรคโดยไม่ตั้งใจ เหมือนกรณีการระบาดของ “โรคเมอรส์” ในเกาหลีใต้
ประเทศจีนเคยมีประวัติด่างพร้อย ในกรณีไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของ “เชื้อไวรัสซาร์ส” (SARS) หรือ โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันที่ระบาดรุนแรงเมื่อปี 2545 ต้นตอโรคนี้มาจากเชื้อไวรัสโคโรน่าเช่นกัน ซึ่งผู้ป่วยโรคซาร์สคนแรกเป็นชาวนามณฑลกวางตุ้ง อาการป่วยคล้ายโรคปอดบวมติดเชื้อจนเสียชีวิต แต่จีนไม่คิดว่าเป็นโรคร้ายแรงจึงไม่รายงานให้องค์การอนามัยโลกทราบตามระเบียบที่กำหนดไว้ สุดท้าย มีผู้ติดเชื้อโรคซาร์สเดินทางจากกวางตุ้งมาพักที่โรงแรมในฮ่องกง กลายเป็น ซูเปอร์สเปรดเดอร์ แพร่เชื้อไวรัสตัวนี้ให้แขกคนอื่นๆในโรงแรม จนลุกลามไป 30 ประเทศทั่วโลก อาทิ เวียดนาม สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง แคนาดา ฯลฯ สุดท้ายมีผู้ติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 8 พันราย เสียชีวิต 770 กว่าราย
วินาทีนี้คนทั่วโลกกำลังเรียกร้องให้ “จีน” รีบนำรหัสพันธุกรรรมไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โคโรนาไวรัส 2019” ส่งให้องค์การอนามัยโลก เพื่อให้ทุกประเทศสามารถตรวจสอบและใช้ประโยชน์ด้านการรักษาผู้ป่วยและการป้องกันการแพร่ระบาดให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม โดยเฉพาะประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวชาวจีน เดินทางเข้ามาเฉลี่ยเดือนละ 8 – 9 แสนคน ที่ผ่านมาค่าตรวจเชื้อผู้ป่วยรายเดียวจากจีน ก็มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท ต้นทุนค่าจะลดลงอย่างมากกว่านี้ หากได้รับความร่วมมือจากจีน
หวังว่า “รัฐบาลบิ๊กตู่” จะไม่เกรงกลัว “จีน” มากเกินไป ควรประสานป้องกันทุกวิถีทางไม่ให้เกิด “ซูเปอร์นักแพร่เชื้อโรค” ในไทยแลนด์
ทีมรายงานพิเศษ คมชัดลึก