ศึกซักฟอกอลเวง
ศึกซักฟอกอลเวง โดย สถิตย์ ธรรม
ต่างบ้านต่างเมืองกำลังเผชิญสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาด ทำให้เห็นทุกฝ่ายผนึกกำลังความร่วมมือในการคิดค้นวิจัยหาสูตรยา สร้างภูมิคุ้มกันให้พี่น้องประชาชนได้ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ มีการแสดงถึงการให้กำลังใจซึ่งกันและกันปรารถนาให้เหตุร้ายผ่านพ้นไปด้วยดี
อ่านข่าว... เป้าถูกซักฟอก นายกฯเตรียมข้อมูลสู้ศึกอภิปราย
ทว่า ตัดภาพกลับมาบ้านเราสิครับ โดยเฉพาะฟาก "นักการเมืองไทย” คงสาละวนอยู่กับ "ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล” ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำอยู่เลย เพราะนับตั้งแต่เปิดสภาเมื่อปีที่แล้ว ระหว่างการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จนมีการลงมติเป็นที่เรียบร้อย
ตอนนั้น ประธานวิปฝ่ายค้านไปจนถึงท่านผู้แทนค่ายส้มหวาน ทิ้งท้ายในสภาคนละหมัดสองหมัด บอกว่า การอภิปรายในสภาที่ผ่านมาแค่วอร์มอัพ โดยหมัดน็อกของจริงขอให้รอการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยจะฉายหนังซ้ำว่าด้วยท่านผู้นำในร่างหัวหน้า คสช. ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งโดยมิชอบอีกรอบ
ดูเป็นอะไรที่ป่าวประกาศกันไว้ตั้งแต่ปีกระโน้น แต่ไหงเกิดรายการชักเข้าชักออก เอาแน่เอานอนไม่ได้สักที จากปลายปีที่แล้วลากมาถึงวานนี้ ต้องมานั่งถกวันอภิปรายกันอีกรอบ มีผู้นำฝ่ายค้าน ประธานวิปรัฐบาล ตัวแทนครม. โดยมีท่านประธานสภา ชวน หลีกภัย นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน
ผลการหารือ ก็ยังเป็นการยื่นเงื่อนไขต่อรองกันอยู่ หะแรกฝ่ายค้านขอกำหนดวันอภิปรายระหว่างวันที่ 19–21 กุมภาพันธ์ ฝ่ายรัฐบาลก็บอกว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีรัฐมนตรีติดภารกิจราชการ เช่น ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ หนึ่งในบัญชีดำของฝ่ายค้าน ท่านก็ติดราชการต่างประเทศในช่วงวันเวลาดังกล่าว จึงเสนอให้เลื่อนไปอภิปรายระหว่างวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ ฝ่ายค้านก็ยังไม่ยอมอีก ขอขยายเพิ่มเป็นวันที่ 24 -27 กุมภาพันธ์ แล้วไปลงมติไม่ไว้วางใจในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ โดยให้เหตุผลว่ามีผู้แทนพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อคิวขออภิปรายยาวเป็นหางว่าว เลยต้องขอวันอภิปรายมากหน่อย
การกำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ไปถึงวันไหน
แม้อยากได้คืบจะเอาศอก อยากได้ศอกจะเอาวา ยังไงต้องหาทางจบได้แล้วนะครับ เพราะอย่าลืมว่า พระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาสมัยสามัญครั้งที่ 2 กำหนดออกมาแล้วเป็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์
ฉะนั้นโปรโมชั่นตามเทศกาล "เปิดวาล์วน้ำลายให้ออกมาพ่นๆ จนท่วมสภา” จัดให้ท่านผู้แทนได้ไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้เท่านั้น จากนั้นปิดเทอมยาวลงพบปะประชาชน
แค่การเคาะวันอภิปรายยังมึนตึ้บ มิพักกล่าวถึงการตั้งญัตติอภิปราย แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมมาก่อนแล้ว มีการหารือครั้งแล้วครั้งเล่าเหมือนจะมีแค่พรรคเพื่อไทยที่ดูเป็นตัวตั้งตัวตีอยู่พรรคเดียว มิใช่พรรคอื่นเกรงใจในความเป็นพรรคแกนนำหรอกครับ แต่ปรากฏว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมดไม่มีความเป็นเอกภาพ
นอกจากพรรคการเมืองที่อยู่ในลักษณะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก อย่างพรรคเศรษฐกิจใหม่ สมาชิกส่วนใหญ่ประกาศจุดยืนไม่เป็นฝ่ายค้าน ปล่อยให้ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เล่นเกมแทงกั๊กเหยียบเรือสองแคมอยู่คนเดียว
ยังมีพรรคที่มีหัวหน้าเป็น ผู้แทนนอกสภา ถนัดเล่นเกมการเมืองข้างถนนปลุกระดมมวลชนไปวันๆ อีกเป็นไปตามสไตล์พรรคอีโก้สูง สรรหาเรื่องหาเรื่องราวร้องทุกข์จากเครือข่ายมวลชนเคลื่อนไหวสร้างประเด็นมายัดใส่ในที่ประชุมกรรมาธิการแต่ละคณะที่พรรคตนมีโควตาอยู่ ด้วยการใช้เป็นเวทีสร้างข่าวถล่มโจมตีรัฐบาลใช้อำนาจโดยมิชอบ ซึ่งดูเป็นวิธีอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบปัจจุบันทันด่วน โดยไม่ต้องไปรอหารือร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านอื่นๆ
ไม่แปลกหรอก ที่เนื้อหาญัตติอภิปราย 6 รมต. ซึ่งถูกกำหนดจาก "คนเกาะรั้วสภา” มีส่วนเข้ามายกร่างสรรหาวาทกรรมระดับเฮทสปีชตราหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม “เป็นผู้ไม่ยึดมั่นต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้นำประเทศที่กร่างเถื่อน มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู…” (เนื้อหาส่วนหนึ่งในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ) นี่แค่ยังไม่ถึงวันอภิปราย ก็มีการเรียกร้องให้ปรับแก้ไขเนื้อหาญัตติกันแล้ว เพราะมองว่ามีถ้อยคำเป็นเท็จ เหมือนญัตติหลอกด่าของนักเลงหัวไม้ข้างถนน
ถึงวันอภิปรายในสภาคงประท้วงกันน่าดู แล้วประชาชีอย่างเราท่าน จะหาสาระข้อเท็จจริงผ่านการตรวจสอบพฤติกรรมรมต.โดยท่านผู้แทนฝ่ายค้านได้อย่างไรเล่า