ตำรวจต้องทนแรงกดดันอย่าคิดสั้น
ตำรวจต้องทนแรงกดดันอย่าคิดสั้น คอลัมน์... อ๊อด เทอร์โบ..ดับเครื่องชน [email protected]
‘ดับเครื่องชน’ ได้รับจดหมายจากคุณ ‘ประพล’ ตำรวจไทยถึงเรื่อง 9 มาตรการที่ผู้บังคับบัญชาเสนอมาเพื่อนำไปปฏิบัติลดการคิดสั้นหรือฆ่าตัวตายของตำรวจไทย และอาจนำไปประยุกต์กับชีวิตของอาชีพอื่นๆ ได้
เวลานี้เราจะเห็นข่าวเรื่องตำรวจฆ่าตัวตายอยู่เสมอเพราะตำรวจมีปืนคู่ชีวิต เรียกว่าใกล้อาวุธร้ายและมีบางคนทนต่อแรงกดดันไม่ไหวเลยหาทางออกโดยการปลิดชีพตัวเอง
อะไรเป็นสาเหตุ? อะไรทำให้ตำรวจเครียด? โปรดอ่านจดหมายต่อไปนี้ดู เพราะสรุปง่ายๆ ว่าตำรวจต้องเจอแต่เรื่องร้ายๆ ไม่ค่อยมีเรื่องดีๆ
ขอร่วมเป็นกำลังใจให้ตำรวจต่อสู้กับชีวิตและงานซึ่งมีมากมาย และทนต่อความกดดันไปได้ด้วยดี
อ๊อด เทอร์โบ
ตำรวจเครียดเพราะอะไร ?
จดหมายจากคุณ ‘ประพล’ ตำรวจไทยต่อไปนี้ อยากจะบอกว่าเป็นวัฒนธรรมหรือวงจรของตำรวจซึ่งมีแต่เรื่องเครียดๆ เข้ามาโดยอาชีพ-การเงิน-การงาน-การดำรงชีวิต ฯลฯ
จนเห็นว่ามีตำรวจฆ่าตัวตายเพราะทนต่อแรงกดดันไม่ไหว จนผู้บังคับบัญชาต้องหาทางป้องกันแก้ไขด้วย 9 มาตรการที่แจ้งมา
ขอเป็นกำลังใจให้ตำรวจทุกคนและอย่าหาทางออกด้วยการคิดสั้นเลย-หาทางปฏิบัติที่ดีมีอีกมาก โปรดนำไปพิจารณา
ออกมาตรการเข้มข้น
ป้องกันตำรวจฆ่าตัวตาย
ผมเป็นนายตำรวจที่ขออนุญาตไม่แจ้งชื่อและสังกัด แต่อยากจะบอกให้รู้ว่าทุกวันนี้ผมเครียดเหลือเกิน เช่นเดียวกับตำรวจทุกคนก็ว่าได้ และยิ่งเครียดจนถึงกับหวาดผวาเรื่องมีตำรวจฆ่าตัวตาย
ได้มีการตั้งกรรมการตำรวจผู้ใหญ่ขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งมี 9 ข้อและขอนำมาแจ้งให้ทราบดังนี้
1.สังเกตพฤติกรรมลักษณะกลุ่มเสี่ยงของข้าราชการตำรวจที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย ให้การช่วยเหลือ ระงับยับยั้งเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียชีวิต ช่วยเหลือฟื้นฟูสร้างความเข้มแข็งด้านจิตใจ ตลอดจนติดตามและประเมินความเสี่ยง
2.ให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะการจัดการชีวิต การพัฒนาจิตใจ การพัฒนาความรู้ ทักษะเกี่ยวกับจิตเวชเบื้องต้น และการป้องกันการฆ่าตัวตายให้ข้าราชการตำรวจในสังกัดเพื่อการรับมือกับปัญหาสุขภาพจิต
3.สร้างสัมพันธภาพและความไว้วางใจกับตำรวจกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งประสานครอบครัวร่วมแก้ปัญหา
4.สร้างเครือข่ายประสานช่วยเหลือตำรวจกลุ่มเสี่ยง เช่น โรงพยาบาลตำรวจ สายด่วนสุขภาพจิตฯ
5.วิเคราะห์ศึกษาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเป็นรูปธรรม
6.เชิญ เรียก หรือสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดให้ข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการแก่คณะกรรมการ
7.ให้ประธานคณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพิ่มเติมได้
8.ติดต่อประสานงานกับส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรและบุคคลเพื่อตรวจสอบรวบรวมหลักฐานหรือข้อมูล ตลอดจนกำหนดแนวทางและวิธีการรองรับการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามความจำเป็น
9.ปฏิบัติการอื่นใดที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตตำรวจและครอบครัวให้เป็นรูปธรรม
ผมไม่ทราบว่าจะมีการนำไปปฏิบัติได้ผลขนาดไหนเพราะเราอยู่ใกล้ปืน และต้องแบกรับอะไรอีกมากมาย และจดหมายฉบับนี้อยากจะบอกพี่น้องตำรวจทุกนายว่า ผู้บังคับบัญชาของเราไม่ได้นิ่งเฉย ดูดายและอยู่แบบตัวใครตัวมัน แต่มีแนวทางปฏิบัติเข้มข้น
คนภายนอกและสังคมมองว่าตำรวจทำอะไรก็ต้องอาศัยเงิน ไม่ว่าจะเป็นการขอตำแหน่ง โยกย้าย เลื่อนยศและอยู่ภายใต้การเมือง
ผมอยู่ในวงการและรับราชการตำรวจมานาน ก็ต้องยอมรับว่าจริง แต่อย่าลืมว่าตำรวจดีๆ ก็มีเยอะอย่าเหมารวมหมดเลยจะทำให้หมดกำลังใจ-ขอร้องละครับ
ประพล (ตำรวจไทย)
ผู้สูงอายุ-คนแก่พึงปฏิบัติ
อย่าประมาท-ต้องระวัง!
ผมเป็นคนแก่อายุใกล้ 80 ปีแล้ว และวันก่อนได้รับข้อความจากเพื่อนๆ วัยเดียวกันแนะนำมา โดยนำข้อความมาจากท่านอาจารย์ ‘นพ.เกษม วัฒนชัย’ น่าสนใจและขอนำมาเผยแพร่ต่อไป
ขอเรียนให้ทราบว่าคนแก่ต้องระวังและควรปฏิบัติโดยยึดถือหลักการว่าอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ในเสี้ยววินาที ดังนี้ครับ
1.ให้เดินโดยมีไม้เท้าหรือเกาะราว เมื่อมีราวให้จับอย่ากลัวเสียหน้า ทุกคนถ้าไม่รีบตายไปก่อนต้องเป็น สว.แน่นอน กำลังขาจะลดลง 2.ระวังเมื่อเดินพื้นผ่านระดับ ห้ามเดินถอยหลังและต้องเดินให้ช้าลง 3.เวลาลงจากรถ สว.ควรก้าวลงจากรถให้ช้าลงสักนิด จากนั้นหยุดยืนตั้งตัวสักครู่ก่อนออกเดินไปที่ใดก็ตาม 4.ขึ้นลงบันไดให้เกาะราวจับเสมอ อย่าประมาท พลาดท่าขึ้นมากระดูกแตกหักได้
5.นุ่ง/ถอดกางเกงหรือใส่เสื้อผ้าต้องมีที่เกาะหรือพิงได้ และนั่งสวมใส่จะปลอดภัยกว่า 6.สว.ไม่ควรรับเป็นประธานหรือเจ้าภาพเผางานศพ เพราะท่านจะต้องขึ้นเมรุคนเดียวโดยไม่มีราวจับ แต่ถึงแม้มีราวจับก็ถูกประดับด้วยดอกไม้ นอกจากจะมีคนคอยพยุง เพราะเห็นสะดุดล้มมาหลายรายแล้ว
7.ยืนอาบน้ำต้องมีราวจับหรือมีแผ่นกันลื่นที่พื้นเสมอเพราะจะลื่นล้มง่าย ถ้ามีเก้าอี้นั่งอาบน้ำจะปลอดภัยมากขึ้น 8.ถ้ายืนอาบน้ำในอ่าง เวลาออกจากอ่างต้องระวังให้มากๆ เพราะเท้ามักจะสะดุดขอบอ่างเป็นเหตุให้เสียหลักล้มกระแทกได้ง่ายๆ 9.ไม่ควรใช้บันไดชนิดพาดพิงหรือกางออกทำงานบนที่สูง เพราะมักพลาดตกลงมา 10.ไม่ควรใช้ส้วมนั่งยอง เพราะอาจหน้ามืดล้มได้
11.ไม่ลุกพรวดพราดเวลาถ่ายทุกข์เสร็จหรือตื่นนอนใหม่ๆ ให้ค่อยๆ ลุกขึ้นยืน ให้ระบบไหลเวียนเลือดปรับตัวก่อน 12.เข้าห้องน้ำในบ้านต้องไม่ใส่กลอนประตู เพราะถ้ามีเหตุฉุกเฉิน ลูกหลานหรือคนในบ้านจะเข้าช่วยได้ทัน 13.ถ้าจำเป็นต้องขับรถ ให้ขับช้าลงเพราะประสาทคนสูงอายุจะเชื่องช้ากว่าวัยหนุ่มสาว
14.เวลาล้มให้หดมือเก็บห้ามเอามือยัน ถ้าใช้มือยัน 90% แขนหัก ดังนั้นให้ยอมเจ็บตัวฟกช้ำ 1-2 สัปดาห์ก็หาย ดีกว่าแขนหักเจ็บตัวนาน และ 15.อย่าคิดทะนงว่าท่านเป็น สว.ที่ยังแข็งแรงดีอยู่ คิดแบบนี้เกิดอุบัติเหตุ แขนหัก ขาหัก สะโพกแตกมานักต่อนักแล้ว
จึงเรียนมาเพื่อความปรารถดีและพยายามปฏิบัติตัว อย่าให้เป็น สว.หรือผู้สูงวัยหรือคนที่ป่วยหรือบาดเจ็บจนสร้างภาระให้ลูกหลาน
ศักดา (คนสูงอายุ)
เรียนคุณ ‘ศักดา’ คนสูงอายุ
ผมเองได้รับข้อความนี้มาจากผู้ใหญ่ที่เคารพท่านหนึ่งเช่นกัน และพอดีได้รับจดหมายของท่านจึงขอเป็นสื่อกลางนำมาและต้องขออนุญาตท่าน ‘นพ.เกษม วัฒนชัย’ เพราะมีประโยชน์มาก
ข้อความต่างๆ ชัดเจนอยู่แล้วและขอเรียนย้ำว่าจงรับสภาพว่าความแก่หรือสูงวัย สูงอายุ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ
จึงควรปฏิบัติตัวและอย่าประมาทว่ายังแข็งแรงเหมือนสมัยก่อน ทุกอย่างย่อมเสื่อมสภาพเป็นธรรมดาของชีวิต
อ๊อด เทอร์โบ