คอลัมนิสต์

หลบหนีกักตัว 'จิตสำนึกสาธารณะ' เสื่อม

หลบหนีกักตัว 'จิตสำนึกสาธารณะ' เสื่อม

04 เม.ย. 2563

กรณีคนไทยนับร้อยที่เดินทางจากต่างประเทศกลับไทย แต่ไม่ยอมให้ทางการกักตัว 14 วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด'โควิด-19' เป็นตัวอย่างหนึ่งของ "จิตสำนึกสาธารณะ " เสื่อม

      อ่านแล้ว..โดนใจอย่างมากกรณี 'Arch Chamnansil'  ซึ่งเป็นกัปตันการบินไทย ที่บินรับคนไทยกลับจากต่างประเทศ ได้แสดงความคิดเห็นถึงคนไทยที่ไม่ยอมรับมาตรการการกักตัว 14 วัน เพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และสร้างความปั่นป่วนที่สนามบินสุวรรณภูมิ 
       โดย Arch Chamnansil ได้แสดงความรู้สึกผ่านเฟซบุ๊กของเขาระบุว่า ถึงคนไทยที่หนีการกักตัว
       : คุณรู้ไหมว่าผมและพี่ๆ น้องๆ ลูกเรือ เสี่ยงติดโรค บินไปรับพวกคุณกลับบ้าน ทั้งๆ ที่รู้ว่าพวกคุณหลายๆ คนแอ๊บว่าสบายดี อัดยาลดไข้หลบการตรวจคัดกรองก่อนขึ้นเครื่องฯ แต่เราเข้าใจพวกคุณ เราไม่อยากเห็นคุณตายเป็นศพไร้ญาติเผารวมอยู่ต่างแดน  อย่างน้อยก็กลับมารักษาตัวที่บ้าน เราพาพวกคุณกลับบ้าน ผมต้องกักตัวเอง 14 วัน (นี่เป็นรอบที่ 2 แล้ว) 
    แล้วคุณเป็นใครครับ ทำไมถึงหนี?? รู้จักคำว่าจิตสำนึกสาธารณะไหมครับ??? ตอบมา!!! 

      ไม่เพียงแต่คนไทยนับร้อยเหล่านี้ที่ขาด"จิตสำนึกสาธารณะ" ไม่ยอมให้ทางการกักตัว  14 วัน ซึ่งอาจทำให้การพยายามของรัฐที่ผ่านมาในการควบคุมการแพร่ระบาดของ'โควิด-19' ในประเทศไทยล้มเหลวเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบข้างเคียงให้คนไทยคนอื่นได้รับเดือนร้อนในเรื่องการเดินทางกลับไทยไปด้วย

         “โปรอาร์ม” กิรเดช อภิบาลรัตน์ โพสต์เฟซบุ๊กตัวเอง กรณีมีกลุ่มคนไทยนับร้อยเดินทางมาจากต่างประเทศกลับไทยเมื่อวันที่ 3 เมษาฯ แต่ไม่ยอมรับการกักตัว

           “ทำไมพวกคุณทำแบบนี้ยังมีคนไทยอีกมากมายในต่างประเทศที่อยากกลับบ้านไม่ต่างจากคุณ เค้ามีพ่อแม่ครอบครัวรออยู่เหมือนกัน ความมักง่ายของพวกคุณจะทำคนไทยคนอื่นเดือดร้อน รัฐกักตัวคงไม่ถึงติดคุกหรอก แย่มาก” 

     ทั้งนี้  กลุ่มนักกอล์ฟอาชีพไทยที่คิดค้างที่สหรัฐฯ “โปรอาร์ม” กิรเดช  ภิบาลรัตน์, “โปรโม” โมรียา - “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล, “โปรแจน” วิชาณี มีชัย พยายามดิ้นรนหาทางกลับไทย และกำลังจะได้บินกลับบ้านในเร็วๆนี้ แต่หลังจากเกิดเหตุเมื่อคืนวันที่ 3 เม.ย.เคสดังกล่าว ทำให้รัฐบาลสั่งปิด สนามบินสุวรรณภูมิ ชั่วคราว ทำให้โปรไทยเหล่านี้จะยังไม่ได้กลับบ้าน  

      และหลังจากเจ้าหน้าที่ขีดเส้นตาย ให้คนที่หนีการกักกันตัวมารายงานตัวในเวลา 18.00 น.ของวันนี้ (4 เม.ย.) พบว่ายังมีประชาชนที่ยังไม่มารายงานตัวอีกถึง 50 คน

     เมื่อไปดู ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของ'จิตสำนึกสาธารณะ' ว่า  การตระหนักรู้และคำนึงถึงส่วนรวมร่วมกัน หรือการคำนึงถึงผู้อื่นที่ร่วมสัมพันธ์เป็นกลุ่มเดียวกัน
     ส่วนสำหรับ 'สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ' ได้ให้ความหมายจิตสำนึกสาธารณะไว้ว่า การรู้จักเอาใจใส่เป็นธุระและเข้าร่วมในเรื่องของส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ มีความสำนึกและยึดมั่นในระบบคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงาม ละอายต่อสิ่งผิด เสียสละในการช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมส่วนรวม
     ยกตัวอย่างเช่น การที่คุณทิ้งเศษกระดาษ ทิชชู่ในถังขยะ  ไม่ทิ้งตามถนนหนทาง ก็ถือว่า คุณมีจิตสำนึกสาธารณะ

    ในชีวิตประจำวันของเรา เราจะเห็นป้ายประเภท อาทิ  “โปรดลุกขึ้นให้ เด็ก สตรีคนชรานั่ง”  ,ป้าย “โปรดรักษาความสะอาด”,, “โปรดทำความสะอาดก่อนออกจากห้องน้ำ”, “ปิดน้ำ ปิดไฟ ปิดแอร์ ก่อนออกจากห้อง”,“โปรดทิ้งขยะลงในถัง”, “ห้ามสูบบุหรี่”, “ขึ้นลงชั้นเดียวโปรดใช้บันได” ฯลฯ เราคุ้นชินกับป้ายเหล่านี้ เพราะพบเห็นกันบ่อย ๆ แทบทุกแห่งที่เราผ่านไป 
     แท้ที่จริง ป้ายเหล่านี้ บอกให้รู้ว่า คนส่วนใหญ่ยังขาด “ จิตสำนึกสาธารณะ” ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมจึงต้องเขียนป้ายเตือน ซึ่งอาจจะได้ผลบ้างสำหรับคนที่ยังมีจิตสำนึกสาธารณะ และอาจไม่ได้ผลเลยสำหรับคนที่ขาดจิตสำนึกสาธารณะ

    ดังนั้น จึงควรมีการปลูกฝัง “จิตสำนึกสาธารณะ” ให้แก่คนในสังคมตั้งแต่เด็ก โดยบุคคลในครอบครัวและครู ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการอบรมสั่งสอนและเป็นแบบอย่างที่ดี

    อย่างกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นเมื่อวานนี้( 3 เม.ย. )กับกรณีทีคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ ไม่ยอมให้กักตัว 14 วัน และหลบหนี ต้องติดตามตัวกันจ้าละหวั่นเพื่อให้มากักตัวตามกฎหมาย  ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาของผู้คนที่มีจิตสำนึกเสื่อม จนแยกผิดแยกถูกไม่ออก หรือไม่แยแสในความลำบากเดือดร้อนของผู้อื่น แค่ตัวเองได้ประโยชน์หรือได้รับความสะดวกจากการฝ่าฝืนกฎก็เพียงพอแล้ว

    อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :คนไทยนับร้อยฝ่าฝืนกลับประเทศแหกสุวรรณภูมิกักตัวโควิด-19