เปิดตัว"มหาเศรษฐี" นายกฯดึงแก้วิกฤติ 'โควิด-19'
เป็นความคิดที่บรรเจิดเมื่อนายกฯ เตรียมทำ จม. เปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีในเมืองไทยให้มาช่วยกันแก้ไขวิกฤติ โควิด-19 เพราะคนเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ.. เปิดปูมมหาเศรษฐี ที่นายกฯเทียบเชิญ และเขารวยได้อย่างไร
เปิดตัวมหาเศรษฐีเมืองไทยที่ได้รับเชิญจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) ให้มาร่วมเป็น “ทีมไทยแลนด์” เพื่อร่วมมือกันฝ่าวิกฤติ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19)
- ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)
คอลัมน์ ‘My Memoirs’ของสื่อญี่ปุ่น เป็นคอลัมน์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวบันทึกความทรงจำของบุคคลชั้นนำระดับโลก ซึ่งล่าสุดได้นำเสนอบันทึกความทรงจำของ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นนักธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก
ธนินท์ เจียรวนนท์
ทั้งนี้สำนักข่าวนิกเคอิ ได้กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ถือเป็นบริษัทที่เข้าไปปฏิวัติโต๊ะอาหารของญี่ปุ่น โดยได้ส่งออกไก่สดแช่แข็งไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นรายแรกตั้งแต่พ.ศ.2516 ทำให้คนญี่ปุ่นได้บริโภคไก่ซึ่งเป็นอาหารโปรตีนได้ในราคาถูก
นอกจากนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นในประเทศไทย และยังเป็นบริษัทที่ลงทุนใน"อิโตชู"โดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของ"อิโตชู"ซึ่งเป็นบริษัทการค้าชั้นนำมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น ทั้งยังเป็นบริษัทประสบความสำเร็จในการเข้าไปลงทุนในประเทศจีน
รวยเป็นที่ 2 เป็นรองเพียงตระกูลซัมซุงในเอเชีย
ประเทศไทยจะเกิดวิกฤติการเมือง หรือผ่านพ้นไปกี่รัฐบาล ก็ไม่ได้สะทกสะเทือน ธุรกิจของ "ตระกูลเจียรวนนท์" เนื่องจากฐานการขยายเศรษฐกิจที่มั่นคงแข็งแรงเติบโตแบบก้าวกระโดดสู่ตลาดโลก
และจากการสำรวจข้อมูลย้อนหลังกลับไป 10 ปีนับจากปี 2551จนถึงปี 2561 พบว่าในปี 2561 ตระกูลเจียรวนนท์ มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นนับ 10 เท่า โดยการถือครองทรัพย์สินรวม 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 9.37 แสนล้านบาท จากปี 2551 ที่ถือครองทรัพย์สินอยู่ที่ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท
หากเปรียบเทียบจัดอันดับในเอเชีย "ตระกูลเจียรวนนท์" ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังได้รับการจัดอันดับให้รวยเป็นที่ 2 เป็นรองเพียง "ตระกูลซัมซุง" ในเอเชีย
เหตุผลส่วนใหญ่ที่ทำให้"ตระกูลเจียรวนนท์"ยังสามารถครองความเป็นมหาเศรษฐีที่ 1 ในไทยที่ผ่านมานั้น มาจากแรงหนุนของราคาหุ้นสำคัญหลายๆตัว ที่เครือซีพีถือครอง ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในประเทศไทย และที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดฯ ต่างประเทศ รวมไปถึงความแข็งแกร่งของธุรกิจของอาณาจักรซีพี
บริษัทหลักเครือเจริญโภคภัณฑ์
จากข้อมูลผลสำรวจเฉพาะบริษัทหลักๆ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในบริษัทสำคัญของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี ประกอบด้วย
- บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักของซีพี ในกลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร ซึ่งประกอบธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจร ตั้งแต่ผลิตอาหารสัตว์ เพาะพันธุ์สัตว์ เลี้ยงเนื้อสัตว์เพื่อการค้า แปรรูป อาหารสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์ซีพี และอื่นๆ ในปี 2560 มีรายได้ 523,179.98 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,532 ล้านบาท
- บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ทำธุรกิจหลักคือธุรกิจร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น จบปี 2560 มีรายได้ 489,403.25 ล้านบาท กำไรสุทธิ 19,907.71 ล้านบาท
- บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจหลักห้างแม็คโคร ในปี 2560 มีรายได้รวม 186,754.02 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,178.13 ล้านบาท
- บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต และบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ฯลฯ ปี 2560 มีรายได้รวม 147,602.80 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,322.53 ล้านบาท
ขณะที่ในต่างประเทศ กลุ่มบริษัทสำคัญที่ได้รับการจับตาในฐานะบริษัทที่สร้างรายได้หลักให้กับเครือซีพีในปัจจุบัน คือ กลุ่มบริษัท ผิง อัน (PING AN) ที่ซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง ให้บริการทางการเงินทุกชนิด ตั้งแต่ธนาคารไปจนถึงการลงทุน ธุรกิจหลักครึ่งหนึ่งอยู่ในธุรกิจประกันชีวิต รองลงมาอยู่ในธุรกิจประกันภัย ธุรกิจธนาคาร และธุรกิจหลักทรัพย์ โดยเครือซีพีของตระกูลเจียรวนนท์ได้เข้าไปซื้อหุ้น ผิง อัน มาตั้งแต่ปี 2556 จาก HSBC เป็นมูลค่าสูงถึง 2.9 แสนล้านบาท นับเป็นดีลประวัติศาสตร์ในการซื้อหุ้นของจีนที่มากที่สุดโดยบริษัทต่างชาติในเวลานั้น
ธุรกิจของ ผิง อัน นั้น เติบโตอย่างก้าวกระโดดตามการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในเวลาหลายปีที่ผ่านมา จบปี 2560 ผิง อัน มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 43% เป็น 4.65 แสนล้านบาท และเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงถึง 5.98 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2561) และอาจจะนับได้ว่าเป็นบริษัทที่สร้างผลตอบแทนให้กับเครือซีพีมากกว่าบริษัทหลักซึ่งจดทะเบียนในไทย อย่าง ซีพีเอฟ ซีพี ออลล์ และ ทรู รวมกัน
----------------------
- กลุ่มสหพัฒน์
ตระกูล “โชควัฒนา” ที่ขับเคลื่อนอาณาจักรธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของไทยอย่าง “เครือสหพัฒน์” องค์กรเก่าแก่ 78 ปี แห่งนี้ มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในแต่ละปีร่วม “3 แสนล้านบาท”
“บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา”
เท้าความถึงอาณาจักร “สหพัฒน์” มี “ดร.เทียม โชควัฒนา” เป็นผู้วางรากฐานธุรกิจให้ยิ่งใหญ่ โดยเริ่มต้นจากการเปิดร้านค้าขายสินค้าเบ็ดเตล็ดในชื่อ “เฮียบเซ่งเชียง” เมื่อปี 2485 จากนั้นขยับขยายกิจการให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนมีบริษัทในเครือร่วม 300 บริษัท ทั้งก่อตั้งเอง และร่วมทุนกับ “พันธมิตร” (Strategic partners) นานาประเทศ โดยเฉพาะ “ญี่ปุ่น” มีความสนิทแนบชิดกันอย่างมาก ถือเป็น “จิ๊กซอว์” ที่ช่วยให้สหพัฒน์กลายเป็นองค์กรธุรกิจที่แข็งแกร่งอย่างยาวนานจวบจนทุกวันนี้
ปัจจุบันการขับเคลื่อนค่ายสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์แห่งนี้ปรากฏภาพแม่ทัพใหญ่ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ในฐานะ “ประธานเครือสหพัฒน์” บุตรคนที่ 3 ของดร.เทียม จากทั้งหมด 8 คน แต่กระนั้น “บุณยสิทธิ์” ยังมีพี่น้องที่ร่วมหัวจมท้ายทำงานขนาบข้างกันทุกคนทั้ง บุณย์เอก-บุญปกรณ์-บุญชัย-บุญเกียรติ-ศิรินา-ณรงค์ โชควัฒนา
ขณะที่การปรากฏภาพต่อสาธารณะจะเห็น “3ทหารเสือ” คือ “บุณยสิทธิ์-บุญชัย-บุญเกียรติ” รับบทสำคัญบนเกมธุรกิจการค้า
ภาพการรับรู้(Perception)ที่มีต่อเครือสหพัฒน์ ในอดีตคือการอยู่ใน “ภาคการผลิต” มีโรงงานผลิตสินค้าจำนวนมาก ครอบคลุมธุรกิจอาทิตย์อัสดงอย่าง “สิ่งทอ” ที่เคยเป็นพอร์ตโฟลิโอที่ใหญ่มากของบริษัท ปัจจุบันได้โฟกัส “ดาวรุ่ง” ในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงธุรกิจบริการมากขึ้น
ส่วนบริษัทหัวหอกที่ยังคงรักษา “จุดแข็ง” ของเครือไว้มีมากมาย เช่น สหพัฒนพิบูล จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า ทำตลาดแบรนด์ดังของในเครือและนอกเครือครอบคลุมอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล และสินค้าในครัวเรือน ตั้งแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า น้ำแร่มองต์เฟลอร์ ชาเขียวพร้อมเครื่องดื่มยูนิฟ ผงซักฟอกเปา ยาสีฟัน-แปรงฟันซิสเท็มมา ร่วมทุนกับลอว์สัน อิงค์ เจแปน เปิดร้านสะดวกซื้อ “ลอว์สัน 108” เป็นต้น
ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล ลุยธุรกิจแฟชั่น ขายสินค้าแบรนด์ไทยควบคู่อินเตอร์แบรนด์ เช่น บีเอสซี, ลาคอสต์, กีลาโรช, แด็กซ์ฯ ไทยวาโก้ ผลิตและจำหน่ายชุดชั้นใน “วาโก้” เบอร์ 1 ในตลาดชุดชั้นในสตรี, ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเบอร์ 1 “มาม่า”, ไลอ้อน (ประเทศไทย) ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ยาสีฟัน-แปรงฟันแบรนด์ ซิสเทมม่า ซอลส์ ผงซักฟอกเปา วิปโฟมอาบน้ำโชกุบุสสึ ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กแบรนด์โคโดโมฯ, สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้งส์ รับหน้าที่ลงทุนในธุรกิจ มี “โอกาส” เติบโตสูง เช่น อาหารและเครื่องดื่ม(ฟาร์มเฮ้าส์ มาม่าฯ) สินค้าอุปโภคบริโภค และพัฒนาสวนอุตสาหกรรม เป็นต้น
------------
- ศุภชัย อัมพุช ผู้ก่อตั้ง เดอะมอลล์
วันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก"เดอะมอลล์กรุ๊ป" ผู้เป็นเจ้าของศูนย์การค้าชั้นนำมากมายในประเทศ อาณาจักร เดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่สร้างรายได้ถึง 58,000 ล้านบาท ในปี 2562
ไม่ว่าจะเป็น เดอะมอลล์, เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์, บลูพอร์ต หัวหิน และ สยามพารากอน (ร่วมทุนกับ สยามพิวรรธน์)
ทุกวันนี้ "เดอะมอลล์"ไปเปิดที่ไหนศูนย์การค้าในย่านนั้นต้องสะเทือน ตัวเลขแสนตารางเมตรยังน้อยไป
จุดแข็งของเดอะมอลล์ คือการเป็นศูนย์การค้าครบวงจร มีห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ และแหล่งบันเทิงต่างๆ โดยมีแม่เหล็กสำคัญ คือ สวนน้ำ สวนป่า และเครื่องเล่นต่างๆ มาเป็นตัวดึงดูด กลุ่มเป้าหมายครอบครัวเป็นหลัก
---------------------------------
-ทศ จิราธิวัฒน์ ผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัล ดูแลธุรกิจค้าปลีก โรงแรม ท่องเที่ยว
"ตระกูลจิราธิวัฒน์ " เจ้าของอาณาจักรเซ็นทรัล และเป็นตระกูลที่เคยได้รับการจัดอันดับร่ำรวยอันดับ 2 ของประเทศไทย
ทศ เป็นลูกชายคนสุดท้องของนายสัมฤทธิ์ และนางวนิดา จิราธิวัฒน์
ทศ จิราธิวัฒน์
เขาสําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ที่ Wesleyan University และปริญญาโท ด้านการเงินที่ Columbia University สหรัฐอเมริกา
ปัจจุบันดํารงตําแหน่งประธานกรรมการบริหารและ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเซ็นทรัล เป็นผู้นําพาอาณาจักรเซ็นทรัลให้รุดหน้าอย่างแข็งแกร่ง โดยในปี 2561 มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 6 แสนล้านบาท
-----------------------------------
- เจริญ สิริวัฒนภักดี มีทรัพย์สิน 3.43 แสนล้านบาท ประธานกรรมการบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ในวันนี้เขาคือผู้กุมบังเหียน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใหญ่ที่สุดของไทย มีชื่อเสียงโด่งดังจากเบียร์ช้างและเหล้าแสงโสม
เจริญ สิริวัฒนภักดี
"เจริญ" นำไทยเบฟฯเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศสิงคโปร์เมื่อปี 2549 หลังจากความพยายามเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยไม่เป็นไปตามแผนจากการประท้วงต่อต้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สินทรัพย์ขนาดใหญ่อื่นๆ ของเขารวมไปถึงบริษัทอสังหาริมทรัพย์นอกตลาดหุ้นอย่าง ทีซีซี แลนด์ กรุ๊ป และ กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ บริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจเครื่องดื่มและอสังหาฯ ของสิงคโปร์ ที่ "เจริญ"คว้าเอาไว้ได้ในปี 2556 หลังการต่อสู้อันดุเดือดกับ Mochtar Riady มหาเศรษฐีชาวอินโดนีเซีย ต่อด้วยการรุกคืบธุรกิจรีเทล
เมื่อปี 2559 'เจริญ'ได้ขยายอาณาจักรด้วยเม็ดเงินมากกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการเข้าซื้อกิจการ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์
------------------------------------
- อนันต์ อัศวโภคิน มีทรัพย์สิน 3.66 หมื่นล้านบาท
เขาเป็นผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน )
จบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาฯ ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา
อนันต์ อัศวโภคิน
กลับมาเมืองไทยเขาตั้งใจจะเข้าทำงานที่บริษัทไอบีเอ็ม องค์กรในฝันของคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น แต่ถูกผู้เป็นแม่ขอร้อง โดยให้เหตุผลว่า ผู้คนเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ที่ดินไม่มีวันงอกเพิ่มขึ้น ธุรกิจที่ดินต่างหากที่น่าทำ
จนในที่สุด "อนันต์ "ได้ตัดสินใจเข้ามาช่วยผู้เป็นแม่ทำโครงการหมู่บ้าน “ศรีรับสุข” ย่านบางเขน เป็นโครงการแรก และก่อตั้งบริษัทแลนด์แอนด์ เฮ้าส์ ขึ้นเมื่อปี 2516
ประสบการณ์ของผู้เป็นแม่ถูกผนึกรวมกับการบริหารจัดการแบบสมัยใหม่ของหนุ่มนักเรียนนอก ส่งผลให้แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โตวันโตคืนแบบเงียบๆ แต่กำไรเพียบ
ปี 2561 รายได้ 39,852 ล้านบาท ของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มาจากที่อยู่อาศัยประมาณ 84% หรือ 30,514 ล้านบาท และยังมีรายได้จากค่าเช่าที่มาจากบริษัทในเครือต่างๆ เช่น โรงแรมเซ็นเตอร์พ้อยท์ เทอร์มินอล 21 และอพาร์ตเมนต์ที่อเมริกา อีกกว่า 10% หรือ 3,733 ล้านบาท
--------------------
- คีรี กาญจนพาสน์ นักธุรกิจผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์สิน 6.20 หมื่นล้านบาท ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ผู้ให้บริการรถไฟลอยฟ้าที่มีชื่อเสียงของกรุงเทพฯ และอสังหาริมทรัพย์
คีรี กาญจนพาสน์
"บีทีเอส"เป็นบริษัทหนึ่งในกิจการร่วมค้าที่ชนะการประมูลระบบขนส่งมวลชน 2 โครงการใหม่ในเดือนธันวาคม 2559
ส่วนการรุกคืบในธุรกิจโรงแรมของบีทีเอส บมจ.บีทีเอสฯได้ตกลงเข้าซื้อกิจการ Vienna House เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งกลุ่มบริษัทนี้มีอสังหาริมทรัพย์กระจายอยู่ในทวีปยุโรปและเอเชีย
การดำเนินกิจการของบีทีเอสยังรวมไปถึง บมจ.วีจีไอ โกลบอล มีเดีย ซึ่งให้บริการด้านสื่อโฆษณา และยังเข้าร่วมทุนกับ บมจ.แสนสิริ เพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมเกาะแนวรถไฟฟ้า
อีกหนึ่งบริษัทใต้ร่มเงาของบีทีเอสคือ บริษัท แรบบิท อินเตอร์เน็ต จำกัด ซึ่งจับมือกับบริษัท LINE จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อจัดตั้งระบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ในนาม แรบบิท ไลน์ เพย์
------------------------
- "ปลิว ตรีวิศวเวทย์" มีทรัพย์สินรวม 1.43 หมื่นล้านบาท ผู้ก่อตั้ง บมจ.ช.การช่าง (CK) บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่หัวแถวระดับประเทศ ที่สืบสานเรื่องราวความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบันรวม 48 ปี
"ปลิว ตรีวิศวเวทย์"
" ช.การช่าง" ในยุคเริ่มต้นนั้น เน้นรับงานอาคารและงานโยธา โดยโครงการส่วนใหญ่นั้นเป็นโครงการจากภาครัฐและกองทัพเป็นหลัก จากวันนั้น ธุรกิจของ "ช.การช่าง" ขยายตัวอย่างสม่ำเสมอ และมีงานเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน
---------------------
ตระกูลโอสถานุเคราะห์ ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โอสถสภา มูลค่าทรัพย์สิน 3 พันล้านเหรียญ หรือ 9.8 หมื่นล้านบาท
-------------------
-ประยุทธ มหากิจศิริ มีทรัพย์สินรวม 5.06 หมื่นล้านบาท “เจ้าพ่อเนสกาแฟ” เป็นสมญานามที่คุ้นเคย แต่ในความเป็นจริงแล้ว"ประยุทธ"คือเจ้าของบริษัทผู้ผลิตกาแฟให้กับ “เนสกาแฟ” แบรนด์ดังของธุรกิจข้ามชาติบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ที่เขาไม่ได้มีหุ้นส่วนโดยตรง แต่กิจการกาแฟของ"ประยุทธ"คือโรงงานผลิตกาแฟภายใต้ บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด อาณาจักรธุรกิจที่สร้างรายได้เพิ่มความมั่นคง มั่งคั่ง ให้กับครอบครัว “มหากิจศิริ”
ประยุทธ มหากิจศิริ
นอกเหนือจากธุรกิจอื่นใน “พีเอ็ม กรุ๊ป” ซึ่งมีกิจการมากกว่า 10 บริษัท เนื่องจากประยุทธ บุกเบิกธุรกิจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม เหล็ก ทองแดง กาแฟ อสังหาริมทรัพย์ สนามกอล์ฟ รวมทั้งกิจการด้านขนส่งสินค้า พลังงาน และโครงสร้างพื้นฐาน
-----------------
- สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ
ทุกปี "นิตยสารฟอร์บส์" จะเผยแพร่การจัดอันดับให้ "สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ"ประธานบริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด หรือ ไทยซัมมิท กรุ๊ปส์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย ติดโผทำเนียบเศรษฐีเมืองไทยด้วย
สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ
"สมพร" มีมูลค่าทรัพย์สิน (ปี 2560) กว่า 40,000 ล้านบาท ด้วยทรัพย์สินรายได้ที่เติบโตจากธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ ที่รับช่วงต่อจากสามี "พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ" (ถึงแก่กรรมปี 2545) ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทไทยซัมมิทฯ จนชื่อเสียงสมพรเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ของประเทศไทยและบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งภูมิภาคเอเชีย ทำให้ "สมพร"ก้าวขึ้นสู่ทำเนียบหญิงเหล็กแห่งวงการชิ้นส่วนรถยนต์ทันที
วงในจากอุตสาหกรรมยานยนต์ ระบุว่า เฉพาะในธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยทรัพย์สินที่ถืออยู่ ก็คาดว่ามีมูลค่าราว 7-8 หมื่นล้านบาท แต่ถ้านับรวมอาณาจักรการลงทุนทั้งหมดของสมพร ทั้งที่เปิดเผยและไม่(อยาก)เปิดเผย รวมกันแล้วมีมูลค่านับแสนล้านบาท!
ชื่อเสียงของ "สมพร" เป็นที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้นในวงการธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ เมื่อ "เอก" ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ บุตรคนที่ 2 ลงมาบริหารธุรกิจเต็มตัว ในตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิทฯ (ก่อนตัดสินใจไปเล่นการเมือง)
เพราะนับตั้งแต่ที่ "ธนาธร" เข้าไปบริหาร ทำให้กลุ่มบริษัทไทยซัมมิทฯ มีรายได้เติบโตขึ้นอย่างมาก จาก 16,000 ล้านบาท ขยับเป็นรายได้ 80,000 ล้านบาท ขยายอาณาจักรธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ออกนอกประเทศ ไปยังจีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, อเมริกา มาเลเซีย และเวียดนาม จนมีบริษัทในเครือ แตกแขนงแล้วมากกว่า 40 บริษัท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ธุรกิจของ "สมพร" นอกจากชิ้นส่วนรถยนต์แล้ว ยังมีสินทรัพย์ด้านอสังหาฯ โดยเฉพาะในพื้นที่โซนภาคตะวันออก ที่ดินแปลงงามที่สมพรและครอบครัวถือครองอยู่ในมือล้วนอยู่ในทำเลทองแทบทั้งสิ้น ไล่ตั้งแต่ที่ดินย่านบางนา ระยอง ชลบุรี โดยเฉพาะบางปะกง ศรีราชา ไปยังปลวกแดง ทั้งที่ดินที่พัฒนาแล้วและยังไม่ได้พัฒนาอีกจำนวนมากมาย อีกทั้งธุรกิจอพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม รีสอร์ต สนามกอล์ฟ ("พัฒนากอล์ฟ แอนด์ สปอร์ท รีสอร์ท" ที่ศรีราชา) ซึ่งที่ดินเหล่านี้ในช่วง 20-30 ปีก่อน มีราคาถูกกว่าปัจจุบันหลายเท่าตัว
ที่ดินเหล่านี้เป็นทรัพย์สินที่นางสมพร สะสมมากับนายพัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ (สามี) โดยเฉพาะที่ดินที่บางนา ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานของบริษัทไทยซัมมิทฯ ที่แรกเริ่มซื้อไว้จำนวน 21 ไร่ ต่อมาด้วยความฉลาดของนายพัฒนา ที่มีนโยบายขยายที่ดินให้มีขนาดใหญ่ขึ้น จนมีมากกว่า 200 ไร่ เนื่องจากขยายซื้อจนที่ดินบริเวณนั้นไม่สามารถซื้อได้อีกแล้ว ต่อจากนั้นนายพัฒนา ก็เดินเรื่องขอให้พื้นที่ดังกล่าวตั้งเป็นเขตอุตสาหกรรมเฉพาะกิจไทยซัมมิทขึ้นมา เมื่อสนามบินสุวรรณภูมิเกิดขึ้นทำให้มูลค่าที่ดินบริเวณดังกล่าวสูงขึ้นมา 100 เท่า จากที่เคยซื้อมาในราคา 100,000-400,000 บาทต่อไร่
หากนับรวมหลายพื้นที่ที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์น่าจะเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากมาย ไม่แพ้ธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ ที่เป็นพันธมิตรกับทุกค่ายรถยนต์ที่เข้ามาปักฐานการผลิตในประเทศไทย นี่ยังไม่นับรวมทรัพย์สินที่"สมพร" ถือหุ้นส่วนบุคคลในสถาบันการเงินอีกหลายแห่ง รวมถึงมูลค่าซื้อขายหุ้นในต่างประเทศอีกจำนวนมากมาย
----------------------
- สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ "GULF" บริษัทด้านพลังงาน มีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 2.22 แสนล้านบาท
สารัชถ์ รัตนาวะดี
ในปี 2562 วารสารการเงินธนาคารร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทย โดยวัดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประเภทบุคคลธรรมดาในประเทศที่ถือหุ้นสัดส่วน 0.5% ขึ้นไป ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดก่อนวันที่ 30 กันยายน 2562 ปรากฏว่า นายสารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ถือครองหุ้นมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 รวม 120,960 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 63,315 ล้านบาท หรือ 109.84%
-----------------
-สันติ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการบริหาร บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
"ตลาดเบียร์"ในบ้านเรามีมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาทถูกครอบครองโดยเบียร์เพียงไม่กี่แบรนด์ และส่วนแบ่งการตลาดกว่า 90% เป็นของเบียร์ไทย
แน่นอนว่าถ้าพูดถึงเบียร์ไทย ก็คงไม่หนีพ้นเจ้าใหญ่อย่าง "เบียร์สิงห์" ของตระกูล ภิรมย์ภักดี (บุญรอดบริวเวอรี่)
บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ นั้นมีประวัติมาอย่างยาวนาน เพราะเริ่มธุรกิจผลิตเบียร์มาตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 7 โดยพระยาภิรมย์ภักดียื่นหนังสือขออนุญาตจากรัฐบาลและได้รับอนุมัติเพื่อตั้งโรงต้มกลั่นเบียร์แห่งแรกของไทยในปี 2476 ซึ่งผู้บริหารในยุคปัจจุบันก็เริ่มเข้าสู่รุ่นที่ 4 ของตระกูลภิรมย์ภักดีแล้ว
โดยธุรกิจในเครือ ได้แก่ 1.ธุรกิจแอลกอฮอล์ 2.ธุรกิจนันแอลกอฮอล์ 3.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 4.ธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง และ 5.ธุรกิจจัดจำหน่ายและอื่นๆ
- ชาติศิริ โสภณพนิช หรือโทนี่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ มีทรัพย์สินรวม 2.35 หมื่นล้านบาท ติดอันดับรายชื่ออภิมหาเศรษฐีไทยแทนที่ ชาตรี โสภณพนิช ผู้เป็นพ่อที่เสียชีวิต
--------------------
- “ไมเนอร์ กรุ๊ป” ยักษ์ใหญ่ในด้านธุรกิจโรงแรม อาหาร และไลฟ์สไตล์
เริ่มจากบริษัทโฆษณา สู่บริษัทระดับสากลบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือเรียกสั้นๆ ว่าไมเนอร์ เป็นที่รู้จักอย่างดีในฐานะหนึ่งในธุรกิจใหญ่แห่งหนึ่งของไทย โดยมี 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์
ไมเนอร์ได้เริ่มก่อตั้งในปี 2510 โดย “วิลเลี่ยม ไฮเน็ค” ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เริ่มจากการเป็นบริษัทโฆษณา และบริษัททำความสะอาดสำนักงาน จนในปี 2521 ได้เริ่มเข้าลงทุนโรงแรม และร้านอาหารในพัทยา หลังจากนั้นปี 2523 เริ่มเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหารได้สิทธิแฟรนไชส์พิซซ่าฮัทเข้ามาบริหารในไทย
ซึ่งคำว่าไมเนอร์ หรือ Minor มีความหมายว่า “ผู้เยาว์” นั่นหมายถึงสถานะของ"วิลเลี่ยม"ในตอนเริ่มธุรกิจที่เริ่มจากตอนอายุ 17 ปี มีสถานะทางกฎหมายเป็นผู้เยาว์นั่นเอง
พอถึงปี 2544 "ไมเนอร์"ได้เริ่มสร้างแบรนด์โรงแรมหรูภายใต้แบรนด์อนันตราเป็นแบรนด์แรก และสร้างแบรนด์ The Pizza Company
และในปี 2548 ไมเนอร์ได้เริ่มขยายธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศเข้าลงทุนในมัลดีฟส์เป็นที่แรกซึ่งในหลายปีต่อมาก็ยังมีการลงทุนต่อเนื่องขึ้นเรื่อยๆ ทั้ง 3 กลุ่ม มีการซื้อกิจการ นำเข้าแบรนด์ใหม่ๆ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ปัจจุบัน"ไมเนอร์"มีการทำธุรกิจครอบคลุม 64 ประเทศ ใน 5 ทวีป มีโรงแรม และรีสอร์ทรวม 546 แห่ง ร้านอาหาร 2,130 สาขา และร้านสินค้าแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ 429 แห่ง