คอลัมนิสต์

โควิด : สึนามิซัดการศึกษาเกิดกระแสThai MOOCฟื้นคืนชีพ

โควิด : สึนามิซัดการศึกษาเกิดกระแสThai MOOCฟื้นคืนชีพ

23 เม.ย. 2563

เจ้าวายร้ายไวรัสโควิด-19 ตัวเร่งให้สรรพสิ่งต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วบังคับให้การจัดการศึกษาทั่วโลกต้องเปลี่ยน เมื่อเยาวชนกว่า 1,700 ล้านคน จำเป็นต้องหยุดอยู่บ้าน ทำให้โลกของการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน  จนเกิดกระแสThai MOOC ฟื้นคืนชีพ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ "ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์" อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์  อดีตผอ.นิด้าโพล สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า สะท้อนภาพการจัดการศึกษาในภาวะวิกฤตโควิด-19 กับ “คมชัดลึก ออนไลน์” ว่า สถานการณืการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ Thai MOOC ( Thai MOOC : Thai Massive Open Online Course) หรือ “ไทย มุก” กลับมาอยู่ในความสนใจ ของคนในแวดวงการศึกษาอีกครั้ง

  อ่านข่าว : โควิด..เจ็บแต่ไม่จบ

เพราะ Thai MOOC คือ ระบบการศึกษาแบบเปิดที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป สามารถเข้าเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตได้ โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆมาเป็นข้อจำกัด ไม่มีการเก็บค่าลงทะเบียนเรียน ไม่ต้องสอบเข้า และไม่มีการจำกัดจำนวนรับ จึงอาจจะกล่าวได้ว่า Thai MOOC เป็นการเปิดโอกาสการศึกษาให้ทุกคนได้เรียนความรู้ที่สนใจได้โดยไม่มีเงื่อนไข นั่นเอง

 Thai MOOC  มีพัฒนาการมายาวนาน จากจุดเริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกา จากที่ปรึกษาทางการเงินคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ที่สหรัฐ ต้องการสอนหลานที่อยู่ประเทศอินเดีย ได้สร้างโปรแกรมการสอนวิชาคณิตศาสตร์ให้กับหลาน มีการโต้ตอบและสื่อสารสองทางระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน สามารถสอบถามตอบได้  หากไม่เข้าใจบทเรียนสามารถย้อนกลับมาศึกษาได้ ฯลฯ จากนั้นแต่ละชาติในโลกได้นำมาปรับใช้เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของสังคม

 

โควิด : สึนามิซัดการศึกษาเกิดกระแสThai MOOCฟื้นคืนชีพ

 ประเทศไทยพัฒนาไปสู่การเรียนการสอนแบบออนไลน์ เด็กเรียนอยู่บ้าน ไม่ต้องเข้าห้องเรียน เวลาสอบเปิดวิดีโอผู้เรียนสามารถสื่อสารกับครูหรืออาจารย์ได้ แต่ยังพบการทุจริตการสอบทางออนไลน์ในทุกระดับ ด้วยข้ออ้างอินเทอร์เน็ตหลุดบ้าง ไฟฟ้าดับบ้าง ฯลฯ 

 "จุดอ่อนการเรียนออนไลน์ในไทย ยังไม่มีวิธีคุมการสอบออนไลน์ที่ได้ผลจริง ทำให้เด็กยุคโควิด 100% ทุจริตการสอบหมดสิ้น ไม่รู้ว่าจะคุมอย่างไร เพราะเด็กอ้างเน็ตหลุด อ้างไฟฟ้าดับบ้าง ในจังหวะนั้นเด็กเปิดถามกันได้ หรือส่งไลน์ถามเพื่อน หรือเปิดหนังสือตอบข้อสอบ จากระบบสอบเดิมที่มีครูหรืออาจารย์คุมห้องสอบป้องกันการทุจริตได้ระดับหนึ่ง"​​​​​​​

 ปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิดบังคับให้การเรียนออนไลน์กลายเป็นเรื่องจำเป็น แต่อย่าลืมว่าไทยมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างรุนแรง เด็กแต่ละคนไม่เท่าเทียมกัน เด็กบางคนไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ อยู่บ้านเช่า หรืออาศัยอยู่คอนโด เน็ตอาจจะไม่เแรงพอที่จะวิดีโอคอลเรียนออนไลน์ แต่คนรวย มีเงิน มีเน็ต มีห้องสตูพิเศษ มีอุปกรณ์พร้อมเรียนออนไลน์

 เรียนกับครูออนไลน์ต้องเกิดอย่างจริงจัง ถามว่ากระทรวงศึกษาธิการทุกวันนี้เตรียมพร้อมแค่ไหน ดูแลเด็กได้ทุกกลุ่มหรือไม่ ในช่วงที่เลื่อนเปิดเทอมเป็น 1 กรกฏาคม 2563 อีกทั้งช่วง 3 เดือนก่อนเปิดเทอม เด็กอยู่บ้าน ต้องเรียนรู้แบบไหน แต่การแจกแท็บเล็ตคุณภาพคงสู้คอมพิวเตอร์ไม่ได้หากจะใช้เพื่อการเรียนรู้  รัฐบาลต้องช่วยให้เด็กเข้าถึงการเรียนออนไลน์อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกันทุกคน

"การเรียนการสอนท่ามกลางโควิด ครู อาจารย์ ถูกบังคับให้เปลี่ยนรูปแบบวิธีการสอนใหม่ เพราะการเรียนออนไลน์หัวใจสำคัญอยู่ที่ 3 เรื่องใหญ่คือ 1.หลักสูตร 2.เนื้อหา 3.คนสอน ต้องมีคุณภาพจริงๆ เมื่อโลกของการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนหรืออาศัยครูสอนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป" ผศ.ดร.อานนท์ ฝากทิ้งท้าย

  0 กมลทิพย์ ใบเงิน 0 เรียบเรียง