คอลัมนิสต์

"นิรโทษกรรม"แค่ "กระแสลม " ?

"นิรโทษกรรม"แค่ "กระแสลม " ?

21 มิ.ย. 2563

การออกกฎหมายนิรโทษกรรมสร้างความปรองดรองของคนในชาติไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมาแกนนำเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งผู้คนในสังคม ก็มีแนวคิดเรื่องนี้ มีความพยายาม มีความต้องการ แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ และเรื่องเงียบหายไปในที่สุด คราวนี้จะซ้ำรอยหรือไม่

จู่ๆระยะนี้มีการปูดเรื่อง"นิรโทษกรรม"ขึ้นมาอีกครั้ง โดยอ้างถึงการสร้าง"ความปรองดอง"ที่ถือเป็นพันธกิจหนึ่งของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  
 ข่าวที่ออกมาพยายามเรียกความน่าเชื่อถือโดยอ้างว่าเป็นแหล่งข่าวระดับสูงว่า พล.อ.ประยุทธ์ ให้ “ทีมปฏิบัติการลับ” รวบรวมรายชื่อบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีการเมืองทั้งในชั้นศาลและการดำเนินคดีทั้งหมดเพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการนิรโทษกรรม มีการตั้งคณะกรรมการหลายชุดขึ้นมาศึกษาแนวทางนิรโทษกรรมให้กับคดีซึ่งมีการกระทำผิดมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ที่ไม่รวมถึงคดีทุจริตและคดีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สำหรับช่วงเวลาที่จะนำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นอาจเป็นช่วงกลางปีหรือปลายปีนี้
 

                  \"นิรโทษกรรม\"แค่ \"กระแสลม \" ?  

รายงานข่าวดังกล่าวยังมีการอ้างถึงนายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)และคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. ที่เคยเขียนบทความ เรื่อง “การอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์”เมื่อปี2562 ระบุว่า การนิรโทษกรรมต้องอาศัยความพยามยามทุกภาคส่วนรวมทั้งภาครัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่ขยับตัวในเรื่องนี้ โอกาสเป็นไปได้ยาก
อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ก็เพิ่งแถลงการณ์ว่ารัฐบาลเตรียมปรับเปลี่ยนการทำงานแบบ "New Normal" หลังวิกฤติ "โควิด-19" โดยให้ทุกภาคส่วนร่วมวางอนาคตประเทศไทย ก้าวข้ามการเมืองไปให้ได้และเนื่องจากนายกฯยังไม่ได้อธิบายในรายละเอียดว่าการทำงานแบบ"New Normal" ดึงทุกภาคส่วนร่วมวางอนาคตประเทศเป็นอย่างไร จึงทำให้คนคิดไปได้ว่า เรื่อง"นิรโทษกรรม" มีความเป็นไปได้  
ทำให้ทางรัฐบาลต้องออกมาปฏิเสธกระแสข่าวว่า ไม่มีมูลความจริงใดๆ  
แต่ปฏิเสธ ก็ปฏิเสธไป แต่ความจริงเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ และจนบัดนี้ก็ยังไม่ใครรู้ว่าข่าวปล่อยนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร
เมื่อสอบถามไปยัง "ประสาร มฤคพิทักษ์" หนึ่งในกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรอง สปช. ซึ่งข่าวที่ปล่อยออกมามีการอ้างถึงนายประสานด้วย โดยนายประสาน บอกว่า ตอนนี้รัฐบาลคงไม่ถึงขนาดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ส่วนรัฐบาลจะมีความพยายามในเรื่องการสร้างความปรองดองหรือไม่ ตนไม่ทราบ แต่ตนเคยเป็น สปช.  ตอนนั้นมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการปรองดองแห่งชาติที่มี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานฯ ตั้งแต่ปี 2558 ทำเป็นรายงานออกมาและรายงานผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)แล้วด้วย จากนั้นส่งรายงานไปยัง "รัฐบาล คสช." ต่อมาเรื่องไปอยู่ที่คณะกรรมาธิการการเมืองของ สนช. ที่มีนายกล้านรงค์  จันทิก เป็นประธานและมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯขึ้นมา มีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธานยก ร่าง พ.ร.บ.อำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยในเรื่องการปรองดอง ต้องมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ยอมรับกันได้ทุกภาคส่วน เสื้อสีอะไรก็รับได้หมด เพื่อเป็นการคืนความปรองดองสู่บ้านเมือง จะได้ไม่เป็นอริต่อกันเพราะเราอยู่ในความขัดแย้งมานานสิบกว่าปีแล้ว ตนพยายามส่งเสียงว่ารัฐบาลควรทำให้เกิดความปรองดองด้วยก็เท่านั้น

"อย่างไรก็ตามกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นวางกรอบกว้างๆว่าลักษณะพฤติกรรมคดีแบบไหนที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมเท่านั้น เช่น ต้องไม่ใช่คดีทุจริต,ไม่ใช่คดี ม.112,ไม่ใช่คดีอาญาร้ายแรง ทำให้ถึงกับชีวิตหรือเผาทำลายทรัพย์สินแต่เป็นการทำผิดเล็กน้อย เช่น ทำผิด พ.ร.บ.จราจร, พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์  หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แต่ไม่ได้ลงไปถึงว่าคดีไหนเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ เช่น คดี กปปส. โดนข้อหากบฏ ก่อการร้าย, คดี นปช.ก่อการร้าย,คดีกลุ่ม นปช.ปิดล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ หรือรวมถึงคดีแพ่งที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง เช่น คดีพันธมิตรฯยึดสนามบิน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายกว่า 500 ล้านบาทหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดภายหลังกฎหมายนิรโทษกรรมผ่านสภาออกมา ทำหน้าที่เป็นตะแกรงร่อนซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยฝ่ายกฎหมาย อัยการ รวมทั้งผู้ที่มีส่วนได้เสีย นำกฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกมาปรับใช้กับแต่ละคดีว่าเข้าข่ายหรือไม่และใช้กับคดีที่อยู่ในขั้นตอนไหนของกระบวนการยุติธรรม "

 อันที่จริงเรื่องการนิรโทษกรรมคดีการเมืองเพื่อให้เกิดความปรองดองขึ้นในสังคมไทยนั้น อดีตแกนนำเสื้อสีจากพันธมิตรฯ,นปช.และ กปปส.จำนวนหนึ่ง ได้มีการพูดคุยกันมาหลายรอบแล้ว รวมทั้งบทความที่นายประสาร เขียนเรื่อง" การอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ "นอกจากข้อมูลได้มาจาก"คณะกรรมการศึกษาแนวทางการปรองดองแห่งชาติ" ที่นายประสานเคยเป็นกรรมการชุดนี้แล้ว ก็มาจากการที่นายประสาน ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับทราบความต้องการจากกลุ่มบุคคลต่างๆในสังคมที่ต้องการให้เกิดความปรองดองของคนไทยด้วยกันขึ้นในชาติด้วย  

ส่วนข่าวปล่อยคราวนี้ มีบางคนมองว่า อาจมาจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่โดนคดี หากมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ตนเองก็จะได้อานิสงส์ไปด้วย

ในส่วนของรัฐบาลเองก็ต้องคิดหนักเพราะตอนนี้สังคมไทยไปไกลกว่าเรื่อง "สีเสื้อ" ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง เนื่องจากได้มีกลุ่มคน ขบวนการล่วงละเมิดสถาบันสำคัญของชาติ เคลื่อนไหวแรงขึ้นเรื่อยๆ คนเหล่านี้ยังไม่โดนดำเนินคดี ม.112 แต่อาจโดนแค่ผิด พ.ร.ก. ฉุกเฉิน,  พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.บ.จราจร หากมีการออกกฎหมาย"นิรโทษกรรม"คนเหล่านี้ก็จะยิ่งได้ใจ เคลื่อนไหว รวมตัวกันมากขึ้น

อีกทั้งเรื่องการออก"กฎหมายนิรโทษกรรม"นั้น หากทำไม่ดี แทนที่จะสร้างความปรองดอง อาจกลับสร้างผลตรงข้าม เกิดแรงต้านและออกมาชุมนุมคัดค้านส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาล อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วใน"สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ "กรณี"ร่าง พ.ร.บ นิรโทษกรรมสุดซอย "

เรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมก็คงได้แต่คิด หวังกันไปและสุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไปตาม"กระแสลม"