ปีที่บอบช้ำ กรรม 'ธนาธร'
ปี 2563 เป็นปีวิบากของ "ธนาธร" นับแต่ยุบพรรคอนาคตใหม่ จนถึงการปราชัยในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น
++
ความปราชัยของคณะก้าวหน้า ในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น 42 จังหวัด น่าจะเป็นความผิดหวังส่งท้ายปี 2563 ของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”
การเลือกตั้ง ส.ส. 24 มี.ค.2562 กับการเลือกตั้งนายก อบจ. 20 ธ.ค.2563 ต่างกันแค่ปีเดียว แต่ผลลัพธ์ต่างกัน
นับแต่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ได้ก่อกำเนิดพรรคก้าวไกล ที่มารองรับ ส.ส.ที่เหลือของอนาคตใหม่ และทำหน้าที่ในสภาผู้แทนฯ โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือธงนำ
ส่วนนอกสภา “ธนาธร” และสหาย (อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่) ขับเคลื่อนคณะก้าวหน้า สู่สมรภูมิการเมืองท้องถิ่น
++
ยุบอนาคตใหม่
++
วันที่ 21 ก.พ.2563 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จากการกู้เงินจำนวน 191.2 ล้านบาท จากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค
พรรคอนาคตใหม่ ได้รับการรับรองจาก กกต. เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2561 รวมแล้วพรรคอนาคตใหม่ มีชีวิตอยู่ 507 วัน 1 ปี 4 เดือน 18 วัน
วันที่ 26 ต.ค.2563 ประชุม กกต. มีมติให้สำนักงาน กกต.แจ้งความดำเนินคดีอาญากับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ 15 คน ปมเงินกู้ เงิน 191.2 ล้าน
++
คณะก้าวหน้าจบเห่
++
ก่อนจะถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. วันที่ 30 พ.ย.2563 ที่ประชุมใหญ่ กกต. มีมติสั่งตั้งคณะกรรมการสืบสวน
กรณีการเคลื่อนไหวของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล และ พรรณิการ์ วานิช ในนามคณะก้าวหน้า ที่ส่งและช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครลงรับเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. ว่าเข้าลักษณะเป็นพรรคการเมือง ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 111 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่กำหนดว่าผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่มีลักษณะคล้ายกับพรรคการเมือง อาจต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งอาจต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี
เมื่อทราบผลเลือกตั้งท้องถิ่น “ธนาธร” พยายามปลุกปลอบใจเพื่อนพ้องว่า ถึงจะไม่ได้นายก อบจ.แม้แต่จังหวัดเดียว แต่คะแนนรวมทั้งประเทศ ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก(เลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562)
++
วิบากครอบครัว
++
ปลายปีนี้ จู่ๆ มีมือดี ขุดคดีเก่าของสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชายธนาธร ในขณะที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
คดีดังกล่าว เป็นเรื่องทุจริตของอดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ในกรณีเช่าที่ดินระยะยาว บริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ย่านชิดลม-เพลินจิต ที่กำลังจะหมดสัญญาในปี 2565
โดยสำนักอัยการสูงสุดแถลงว่า สกุลธรยังไม่ใช่ผู้ต้องหาคดีสินบนเจ้าหน้าที่ทรัพย์สินฯ จึงไม่ได้สั่งฟ้อง
หลังจากนั้น มีผู้เข้าร้องกองบังคับการปราบปราม ให้ดำเนินการสอบสวนคดีการทุจริตเรียกรับสินบนภายในสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่มีสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชายธนาธร ตกเป็นผู้เสียหาย จากการถูกปลอมแปลงเอกสาร
วันที่ 30 ธ.ค.2563 อดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ เข้าร้องทุกข์ต่อ พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม ผบก.ปทส. เพื่อให้ดำเนินคดีต่อสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาธนาธร หลังตรวจสอบพบว่ามีการบุกรุกที่ดินใน จ.ราชบุรี
คดีนี้ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ได้แจ้งร้องทุกข์ให้กรมป่าไม้ดำเนินการตรวจสอบที่ดินจำนวน 77 แปลงเนื้อที่รวมทั้งหมดกว่า 3,098 ไร่เศษของมารดาธนาธร
จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพบว่าที่ดินส่วนหนึ่งประมาณ 2 พันไร่ของสมพรนั้น เป็นพื้นที่ป่าสงวนและเขตหวงห้าม
สรุปว่า ปี 2563 เป็นปีที่ธนาธร บอบช้ำและเจ็บช้ำที่สุด มิเพียงแต่พ่ายแพ้ทางการเมือง หากแต่ครอบครัวก็พลอยเดือดร้อนตามไปด้วย