เปิดรายได้ "30 เทศบาลนคร" มหาศาลนับพันล้าน
28 มีนาคม 2564 เลือกตั้ง"เทศบาล" แม้ว่าเราจะมีเทศบาลทั่วประเทศถึง 2,472 แห่ง แต่ไฮไลท์อยู่ที่"เทศบาลนคร" ซึ่งมีอยู่ 30 แห่ง เนื่องจากเป็นเทศบาลใหญ่สุดและมีงบประมาณจำนวนมาก.. มาดูกันถึงรายได้แต่ละเทศบาล
การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลซึ่งจะมีขึ้นทั่วประเทศในวันที่ 28 มี.ค.นี้ แม้ว่าจะมีเทศบาลทั่วประเทศมากถึง 2,472 แห่ง แต่ที่น่าสนใจก็คือ "เทศบาลนคร "ซึ่งเป็นเทศบาลที่มีขนาดใหญ่สุดและมีงบประมาณมากสุด
"คมชัดลึกออนไลน์" เปิดรายชื่อ"เทศบาลนคร" 30 แห่ง และรายได้ของแต่ละเทศบาลในปีงบประมาณ 2562 มีดังนี้
1.เทศบาลนครนนทบุรี 2,659.74 ล้านบาท 2.เทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา 1,901.48 ล้านบาท 3.เทศบาลนครปากเกร็ด จ.นนทบุรี 1,851.23 ล้านบาท 4.เทศบาลนครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ 1,782.84 ล้านบาท 5.เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 1,572.55 ล้านบาท
6.เทศบาลนครอุดรธานี 1,555.98 ล้านบาท 7.เทศบาลนครนครราชสีมา 1,493.41 ล้านบาท 8.เทศบาลนครขอนแก่น 1,491.53 ล้านบาท 9.เทศบาลนครแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 1,378.74 ล้านบาท 10.เทศบาลนครนครศรีธรรมราช 1,278.37 ล้านบาท
11.เทศบาลนครภูเก็ต 1,254.45 ล้านบาท 12.เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี1,219.14 ล้านบาท 13.เทศบาลนครยะลา 1,074.86 ล้านบาท 14.เทศบาลนครปฐม1,023.90 ล้านบาท 15.เทศบาลนครนครสวรรค์ 1,017.39 ล้านบาท
16.เทศบาลนครเชียงราย 967.44 ล้านบาท 17.เทศบาลนครตรัง 905.85 ล้านบาท 18.เทศบาลนครสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 880.59 ล้านบาท 19.เทศบาลนครรังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 870.10 ล้านบาท 20.เทศบาลนครอุบลราชธานี 835.67 ล้านบาท
21.เทศบาลนครระยอง 812.43 ล้านบาท 22.เทศบาลนครสงขลา 805.29 ล้านบาท 23.เทศบาลนครพิษณุโลก 782.56 ล้านบาท 24.เทศบาลนครลำปาง 757.81 ล้านบาท 25.เทศบาลนครสมุทรปราการ 729.89 ล้านบาท
26.เทศบาลนครสมุทรสาคร 639.91 ล้านบาท 27.เทศบาลนครแม่สอด จ.ตาก 593.23 ล้านบาท 28.เทศบาลนครอ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร 581.78 ล้านบาท 29.เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา 568.61 ล้านบาท
30.เทศบาลนครสกลนคร 542.98 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่างบประมาณของ"เทศบาลนคร"ในแต่ละปี แต่ละ"เทศบาลนคร"มีรายได้หลายร้อยล้านบาทและหลักพันล้านบาท
ทั้งนี้รายได้ของ"เทศบาล" มาจาก 3 ทาง
1.รายได้จากการจัดเก็บเอง เช่น.. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย, ภาษียาสูบ, ภาษีจากสถานค้าน้ำมัน , ภาษีจากผู้เข้าพักโรงแรม, อากรการฆ่าสัตว์, ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าปรับ, ทรัพย์สิน, สาธารณูปโภคและการพาณิชย์
2.รายได้จากรัฐจัดสรร เช่น ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์หรือล้อเลื่อน, ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บตามประมวลรัษฎากร, ภาษีมูลค่าเพิ่ม ,ภาษีเฉพาะกิจ, ภาษีสุรา, ภาษีสรรพสามิต, ค่าภาคหลวงไม้, ค่าภาคหลวงแร่, ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม, รายได้จากกฎหมายอุทยานแห่งชาติ, ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน
3.รายได้จากเงินอุดหนุน หมายถึง เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นแหล่งรายได้เสริมที่รัฐบาลให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยเหลือเสริมรายได้ทางการคลังให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐบาลสามารถใช้เป็นกลไกในการกำกับและควบคุมฐานะการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เงินอุดหนุนทั่วไป, เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ
แต่เมื่อนำงบประมาณของ"เทศบาล" ไปเปรียบเทียบกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นปรากฏดังนี้
งบประมาณสูงสุดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ปีงบประมาณ 2562)
-กรุงเทพมหานคร 103,377.94 ล้านบาท
-เมืองพัทยา 4,302.99 ล้านบาท
-อบจ.ชลบุรี 4,026.51 ล้านบาท
-เทศบาลนครนนทบุรี (เทศบาลที่มีรายได้งบประมาณมากที่สุด) 2,659.74 ล้านบาท
-อบต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 752.54 ล้านบาท
แน่นอนว่า "กรุงเทพมหานคร" องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีรายได้มากกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นๆ เพราะ กทม.เป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางแทบจะทุกอย่างของประเทศ
สำหรับเงินค่าตอบแทนรายเดือน "นายกเทศมนตรี"และ"สมาชิกสภาเทศบาล" มีดังนี้
นายกเทศมนตรี เงินเดือน 14,280 – 75,530 บาท
สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) เงินเดือน 3,520 – 19,440 บาท
(ขึ้นอยู่กับรายได้มากน้อยของเทศบาลนั้นๆ)
ยกตัวอย่างเช่น เทศบาล ที่มีรายได้ต่อปีเกิน 300 ล้านบาท นายกเทศมนตรี จะได้เงินต่อเดือน 75,530 บาท
-เทศบาล ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1 ล้านบาท นายกเทศมนตรี จะได้เงินต่อเดือน 14,280 บาท
รายได้เทศบาลมากมายมหาศาลขนาดนี้ ชาวบ้านอย่างเราๆเมื่อเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปบริหาร"เทศบาล"ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ก็ต้องคอยตรวจสอบการใช้จ่ายเงินทองของ"เทศบาล" ด้วย ไม่ใช่เลือกตั้งเสร็จแล้วก็จบกัน ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้มีการนำเงินไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง รั่วไหล หรือทุจริต