
"มินอ่องหล่าย" หลังพิงมังกร สู้ม็อบสามนิ้ว
แปลกแต่จริง รัฐมนตรีต่างประเทศจีนบินพบ "ซูจี" และ "มินอ่องหล่าย" ก่อนหน้าการรัฐประหารใต้รัฐธรรมนูญ คอลัมน์... ท่องยุทธภพ โดย... ขุนน้ำหมึก
++
พลันที่กองทัพเมียนมา อาศัยมาตรา 417 รัฐธรรมนูญ ปี 2551 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี ซึ่งเป็นการทำรัฐประหารใต้รัฐธรรมนูญครั้งแรกของโลก นานาชาติฝั่งตะวันตก ส่งเสียงคัดค้านอึงมี่ เรียกร้องให้ปล่อยตัวอองซานซูจี และนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง...
รู้จัก "มินอ่องหล่าย" ลูกบุญธรรม "ป๋าเปรม"
รมต.ต่างประเทศจีน พบมินอ่องหล่าย เมื่อ 11 ม.ค.2564
ขณะที่ หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวในการแถลงข่าวประจำวันที่นครปักกิ่งว่า "เราได้รับทราบสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา และอยู่ในกระบวนการทำความเข้าใจสถานการณ์"
พร้อมกับยืนยันว่า “จีนเป็นมิตรประเทศของเมียนมา เราหวังว่าทุกฝ่ายในเมียนมาจะสามารถรับมือกับความแตกต่างภายใต้รัฐธรรมนูญ กรอบของกฎหมาย และพิทักษ์เสถียรภาพของสังคมและการเมือง"
นักวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองหลายคนมองว่า จีนรับรู้มาก่อนว่าต้องเกิดการยึดอำนาจในเมียนมา เนื่องจากวันที่ 11-12 มกราคม 2564 หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางมาเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
รมต.ต่างประเทศจีน พบอองซานซูจี เมื่อ 12 ม.ค.2564
ห้วงเวลานั้น ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอองซานซูจี กับกองทัพเมียนมา เรื่อง กกต.กระทำการทุจริตการเลือกตั้ง เริ่มตรึงเครียด เมื่อตัวแทนกองทัพเมียนมา ขอให้เลื่อนการเปิดประชุมสภาฯ ออกไปก่อน แต่ฝ่ายอองซานซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(เอ็นแอลดี) ปฏิเสธข้อเสนอเหล่านั้น
บังเอิญ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนมาเยือนเมียนมา ในจังหวะเมียนมามีวิกฤตการเมือง ย่อมเป็นเรื่องไม่ธรรมดา
++
มังกรรู้ดี
++
ย้อนไปวันที่ 11 ม.ค.2564 หวังอี้ รมต.ต่างประเทศจีน ได้พบกับอูวินมิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา(เวลานั้น) และอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ(เวลานั้น) ได้หารือกันในประเด็นความมั่นคงชายแดน ความร่วมมือระดับภูมิภาค และบทบาทของจีนในการสร้างสันติภาพในเมียนมา และการส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับประเทศ
วันถัดมา(12 ม.ค.) หวังอี้ ได้พบกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพแห่งชาติ ได้หารือกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ การมาเยือนเมียนมาของหวังอี้ ก็ได้บอกว่า จีนจะมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ 1 ลอตโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และจะหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านวัคซีนกับเมียนมาต่อไป
การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ในย่างกุ้ง
ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่อองซานซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) บริหารประเทศ ได้แสดงออกถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับจีน ด้านหนึ่ง กรณีโรฮิงญา ส่งผลให้นานาชาติกดดัน “ซูจี” จึงทำให้จีนเข้ามามีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม จีนยังสนับสนุนกองทัพเมียนมา และมีอิทธิพลเหนือกองกำลังชาติพันธุ์ในรัฐฉาน และรัฐคะฉิ่น
++
ต้านเผด็จการ
++
ประเทศตะวันตก อาจรู้สึกแปลกใจ หลังการรัฐประหาร บรรยากาศตามเมืองต่างๆของเมียนมา ทั้งกรุงเนปิดอว์ และกรุงย่างกุ้ง เงียบสงัด ไม่มีทีท่าว่าประชาชนจะเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพเมียนมาแต่อย่างใด
การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ในย่างกุ้ง
มีเพียงกลุ่มพลังมวลชนของพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ที่ออกมาชุมนุมแสดงจุดยืนสนับสนุนกองทัพเมียนมา ในเขตย่างกุ้ง
ส่วนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ได้เรียกร้องให้กองทัพปล่อยตัวอองซานซูจีโดยเร็ว ก็ยังไม่มีการปลุกระดมให้สมาชิกพรรคออกมาชุมนุมบนท้องถนน
การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ในย่างกุ้ง
ที่น่าสนใจ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ของเมียนมาจำนวนหนึ่ง เชิญชวนผ่านโซเชียลให้แสดงอารยะขัดขืน หยุดงาน ไม่ยอมรับการรัฐประหาร โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.นี้เป็นต้นไป
เมื่อค่ำวันที่ 2 ก.พ.2564 ประชาชนในนครย่างกุ้งออกมาแสดงท่าทีคัดค้านการเข้ายึดอำนาจของกองทัพ ด้วยการจุดเทียน พร้อมกับชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านอำนาจเผด็จการ นอกจากนี้ ยังมีการบีบแตรรถยนต์ และเคาะหม้อ กระทะ กะละมังตามอาคารที่พักอาศัย
โลกยุคดิจิตอล กองทัพเมียนมามิอาจปิดกั้นการสื่อสารสมัยใหม่ได้ จึงมีชาวพม่าจำนวนไม่น้อยที่ใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ แสดงจุดยืนต่อต้านการรัฐประหารโดยสันติ