'ตั๊ดมะด่อ' เดือด ปราบ 'มัณฑะเลย์'สงครามกลางเมือง
สังเวย 3 ศพ ต้านเผด็จการ "ตั๊ดมะด่อ" จุดไฟแค้นชาวพม่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน คือสัญญาณความรุนแรง
วันที่ 21 ก.พ.2564 ที่กรุงเนปิดอว์ ญาติ มะ เมียะ เทว็ต เทว็ต ข่าย (Ma Mya Thwet Thwet Khine) นักศึกษาหญิงที่เสียชีวิตในการชุมนุมประท้วงการทำรัฐประหารโดย “ตั๊ดมะด่อ” หรือกองทัพเมียนมา ได้นำร่างของเธอฝังที่สุสานอย่างเงียบๆ
มะ เมียะ เทว็ต เทว็ต ข่าย เป็นศพแรกที่สังเวยเผด็จการทหารเมียนมา โดยเธอเข้าร่วมชุมนุมที่วงเวียนแห่งหนึ่งในกรุงเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2564 ระหว่างที่ตำรวจสลายการชุมนุม มีการฉีดน้ำ ยิงปืนใส่กลุ่มผู้ชุมนุม และมีกระสุนปืนนัดหนึ่งเจาะเข้าศรีษะของเธอ
ทีมกู้ชีพนำนักศึกษาหญิงวัย 20 ปี มาส่งที่ รพ.1000 เตียง คณะแพทย์บอกว่า สมองเธอตายแล้ว ยากที่จะรักษาให้หายได้ แต่ทางญาติไม่อนุญาตให้แพทย์ถอดเครื่องช่วยหายใจ ยื้อชีวิตเธอมาจนถึงวันที่ 19 ก.พ.2564 เธอก็สิ้นลม
วันที่ 20 ก.พ.2564 มีข่าวร้ายจากเมืองมัณฑะเลย์ ตำรวจ-ทหารสลายการชุมนุมที่อู่ต่อเรือ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 2 คน รวมกับกรณีของนักศึกษาหญิง เท่ากับว่านับตั้งแต่ “ตั๊ดมะด่อ” ยึดอำนาจ มีการประท้วงต้อต้านทหารทั่วประเทศ และเกิดเหตุรุนแรงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 คน
ชาวบ้านในมัณฑะเลย์ ชุมนุมประท้วงเผด็จการทหารพม่า
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เสียงปืนแตก "ตั๊ดม่ะด่อ" เข้มคุมอารยะขัดขืน
นองเลือดที่มัณฑะเลย์
เมืองมัณฑะเลย์ เป็นเมืองใหญ่ที่มีการชุมนุมประท้วงเผด็จการทหาร เรียกร้องประชาธิปไตยต่อเนื่องมาแต่วันที่ 2 ก.พ.2564 ได้เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมมาแล้ว 2-3 ครั้ง แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
วันเสาร์ที่ 20 ก.พ.2564 ตั้งแต่เช้า พนักงานอู่ต่อเรือยะดะหน่าโบ่ง เมืองมัณฑะเลย์ ได้เข้าร่วมอารยะขัดขืน ไม่ยอมทำงาน และออกมาชุมนุมประท้วงร่วมกับประชาชนย่านนั้น
ตอนเที่ยง ตำรวจพม่า ยกกำลังมากดดันให้พนักงานอู่ต่อเรือ กลับเข้าทำงาน แต่พนักงานไม่ทำตาม กลับร้องรำทำเพลงกับชาวบ้าน
ช่วงบ่าย ตำรวจกว่า 100 นาย และทหารสังกัด พล.ร.33 ได้ยกกำลังมาเผชิญหน้ากับพนักงานและชาวบ้านย่านที่ชุมนุมประท้วงอยู่ โดยขอร้องให้ทุกคนกลับเข้าสู่บ้านเรือน ซึ่งชุมชนละแวกริมแม่ฝั่งน้ำอิระวดี เป็นคนยากจน
ทหาร พล.ร.33 เข้าสลายการชุมนุม
บ่ายสามโมง ตำรวจ-ทหารได้เข้าสลายการชุมนุม ระดมยิงปืน ทั้งกระสุนยาง กระสุนจริง แก๊สน้ำตา และยิงหนังสะติ๊ก ใส่กลุ่มผู้ชุมนุม จนชาวบ้านต้องวิ่งหลบกระสุนกันจ้าละหวั่น
เบื้องต้นสำนักข่าว The Mandalay News Journal รายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 35 คน และถูกจับกุม 50 คน ข่าวบางกระแส ระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 7 คน ซึ่งในช่วงกลางคืน ชาวบ้านรอบอู่ต่อเรือ รู้สึกหวาดกลัว การไล่ล่าจับกุม จึงอพยพไปพักนอนในวัด
อาสาสมัครกู้ภัยในมัณฑะเลย์บอกกับนักข่าวว่า “มีผู้เสียชีวิต 2 คน เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกยิงที่ศีรษะ” และในช่วงค่ำ โซเชียลพม่าได้เผยแพร่ภาพเยาวชนคนหนึ่ง วัย 19 ปี อ้างว่า เป็นเหยื่อกระสุนในการสลายม็อบที่อู่ต่อเรือ
หลังข่าวการปราบม็อบที่มัณฑะเลย์เผยแพร่ออกไป ทำให้ชาวย่างกุ้ง ออกมาชุมนุมจุดเทียนไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตในค่ำคืนนั้น
ชาวโซเชียลพม่า ประนามการสลายการชุมนุมที่มัณฑะเลย์
กองทัพพม่าเกรียงไกร
นักวิเคราะห์การเมืองในเมียนมา มองว่า การที่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารภาครัฐ (SAC) ตัดสินใจนำทหารออกมาปราบม็อบ เป็นสิ่งที่ท้าทายพลังประชาชน และจุดไฟแค้นให้ลุกโชน
ตั๊ดมะด่อหรือกองทัพเมียนมา ติดอันดับ 1 ใน 4 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามการจัดอันดับของเว็บไซต์ The Global Firepower Index ตามหลังอินโดนีเซียที่อยู่อันดับ 1 รองลงมาคือเวียดนาม และไทย
เว็บไซต์ The Global Firepower Index ยังจัดให้ตั๊ดมะด่อ เป็นกองทัพที่แข็งแกร่งติดอันดับที่ 31 ของโลก ได้พิจารณาจากปัจจัย 50 ข้อ เช่น งบประมาณด้านการทหาร กำลังพลและอาวุธยุโธปกรณ์ ระบบโลจิสติกส์ เป็นต้น
กองทัพเมียนมา มีกำลังพลจำนวน 516,000 นาย โดยจำนวน 406,000 นายเป็นทหารที่ประจำการและรับราชการ ขณะที่อีก 110,000 นายเป็นกำลังพลสำรอง
ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ กองทัพเมียนมา มีรถถังจำนวน 592 คัน รถหุ้มเกราะสายพาน 1,358 คัน ปืนใหญ่อัตตาจร 108 กระบอก ปืนใหญ่ 884 กระบอก เครื่องยิงจรวด 108 กระบอก เครื่องบินรบ 56 ลำ เครื่องบินขับไล่โจมตี 77 ลำ เครื่องบินขนส่ง 97 ลำ เครื่องบินฝึกรบโจมตี 58 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 86 ลำเป็นต้น
ด้วยเชื่อว่า ตั๊ดมะด่อยิ่งใหญ่เกรียงไกร นายพลมินอ่องหล่าย จึงตัดสินใจยึดอำนาจ โดยไม่หวั่นว่า พรรคเอ็นแอลดีของออง ซานซูจี จะปลุกระดมมวลชนต่อต้านรัฐบาลทหาร เรือนแสนเรือนล้าน
นายพลมินอ่องหล่าย ขี่หลังเสือ