ม็อบทะลุฟ้าจากราษฎรถึง Redem
วันแห่งม็อบ ราษฎรเดินทะลุฟ้า ม็อบไม่มีแกนนำ Redem เคลื่อนเข้าสู่ภาวะอนาธิปไตย คอลัมน์ .. ท่องยุทธภพ โดย .. ขุนน้ำหมึก
++
วันเสาร์ที่ 6 มี.ค.2564 มีม็อบเยอะ มากันทุกเฉดสี ทำเอาคนกรุงเทพฯ กังวลเรื่องความรุนแรง แถมในโซเชียล “เซเลบขาใหญ่” พยากรณ์ถึงขั้นนองเลือด
ม็อบแรก “แดงก้าวหน้า” เป็นเครือข่ายแดงวิทยุชุมชนเก่า พยายามจัดกิจกรรมร่วมกับกลุ่มอาชีวะมาหลายรอบ แต่คนร่วมน้อย เที่ยวนี้ไม่รู้ว่า “แดงลำลูกกา” จะมาร่วมด้วยหรือเปล่า โดยพวกเขาจะออกเดินจากโลตัสรังสิต มาที่หน้า ร.11 รอ.บางเขน
ม็อบที่สอง “อาชีวะพิทักษ์ประชาชน เพื่อประชาธิปไตย” เป็นกลุ่มอาชีวะมีนบุรี และอาชีวะสมุทรปราการ เรียกร้อง 2 ข้อคือ ให้รัฐบาลลาออก และแก้รัฐธรรมนูญคืนอำนาจให้ประชาชน กลุ่มนี้ไม่เอาข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ
ตอนแรกจะนัดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ตอนหลัง เปลี่ยนใจย้ายไปที่ ร.11 รอ. สมทบกับกลุ่มคนเสื้อแดง เพราะไม่งั้นคนจะโหรงเหรง
ม็อบที่สาม “กลุ่ม REDEM” นัดหมายชุมนุมบริเวณห้าแยกลาดพร้าว และเคลื่อนขบวนไปบริเวณศาลอาญารัชดา ทำกิจกรรมทิ้งขยะ คาดว่า จะมีคนหนุ่มสาวเข้าร่วมเยอะ เหมือนยุคม็อบไม่มีแกนนำ แต่ความเสี่ยงก็ตามมา หลายคนหวั่นมือที่สามแทรก
ม็อบที่สี่ “เดินทะลุฟ้า” กิจกรรมของกลุ่มเอ็นจีโอ ร่วมกับกลุ่มราษฎร เดินจากขอนแก่นมาถึงแยกเกษตรฯ คาดหมายว่าจะไปสมทบกับม็อบ REDEM
ม็อบที่ห้า “กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน” และ “ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน” (ศปปส.) นัดรวมพลทำกิจกรรมที่ด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แยกราชประสงค์
++
ม็อบไทย
++
กิจกรรม “เดินทะลุฟ้า” ออกจากขอนแก่น มุ่งหน้ากรุงเทพฯ หลายคนนึกว่าเป็นเรื่องของ “ไผ่ ดาวดิน” คนเดียว แต่จริงๆแล้ว เจ้าภาพเดินทางไกลเที่ยวนี้คือ กลุ่มราษฎรและ People Go Network
หลายคนคงจำได้ เมื่อปี 2561 เครือข่าย People Go Network ได้จัดกิจกรรม “We walk เดินมิตรภาพ” เดินจากปทุมธานีไปขอนแก่น เพื่อให้กำลังใจ “ไผ่ ดาวดิน” ซึ่งตอนนั้น ถูกคุมขังชั่วคราวระหว่างการต่อสู้คดีอาญา ม.112
เครือข่าย People Go Network ประกอบด้วยเอ็นจีโอสายสุขภาพ, นักเคลื่อนไหวภาคประชาชน และนักวิชาการบางกลุ่ม นำโดย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรม และหัวหน้าพรรคสามัญชน และนิมิตร เทียนอุดม มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
ไม่น่าแปลกใจที่ ส.ศิวรักษ์ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์) นักคิดคนดังจะร่วมเดินนำขบวนเดินทะลุฟ้า คืนอำนาจให้ประชาชนด้วย เนื่องจาก ส.ศิวรักษ์ ก็ต้องการให้มีการแก้ไข ม.112 มานานแล้ว
ส.ศิวรักษ์ ร่วมให้กำลังใจเดินทะลุฟ้า
สำหรับกิจกรรมเดินทะลุฟ้า เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ร่วมคิดร่วมทำกับไผ่ ดาวดิน และทราย-อินทิรา เจริญปุระ พร้อมกับกลุ่ม unme of anarchy นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมุ่งหวังที่จะให้กำลังใจเพื่อน 4 คนในเรือนจำ และร่วมรณรงค์ให้ยกเลิก ม.112
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน
จะว่าไปแล้ว พวกเขามิได้คาดหวังถึงขั้นยกเลิก ม.112 เพียงแต่ต้องการเสียงสนับสนุนพรรคก้าวไกล ที่กำลังเสนอแก้ไข ม.112 ในสภาฯ
ด้านหนึ่งที่เครือข่าย People Go Network กระโจนเข้าร่วมกลุ่มราษฎร ก็หวังที่จะขยายแนวร่วมให้กว้างขวาง มิจำกัดเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่เท่านั้น
ไผ่ ดาวดิน สนินสนมกับเลิศศักดิ์มานาน
++
ม็อบฮ่องกง
++
มีความชัดเจนว่า Redem ไม่ใช่เยาวชนปลดแอก แต่ลึกๆแล้ว Redem ก็เป็นการรวมตัวกันของแกนนำเยาวชนปลดแอก และสมาชิกกลุ่มนักเรียนเลวบางคน
“REDEM-ประชาชนสร้างตัว” ซึ่งย่อมาจาก RESTART DEMOCRACY สร้างประชาธิปไตยให้เกิดใหม่อีกครั้ง มีกลิ่นอายซ้ายใหม่ มาตั้งแต่การเสนออุดมการณ์ค้อนเคียวเมื่อปลายปีที่แล้ว
“การต่อสู้ของมวลชนที่มวลชนเป็นผู้ตัดสินใจได้เริ่มขึ้นแล้ว ถ้าไม่สู้ก็ต้องอยู่อย่างไทย แสวงหาวิธีใหม่ๆ ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะเผด็จการและนำไปสู่สังคมนิยมประชาธิปไตยเพื่อคนเท่ากันไปด้วยกัน”
การออกแบบ “ม็อบไม่มีแกนนำ” แต่ใช้การสื่อสารผ่านเครื่องมือยุคดิจิตอล ไม่ใช่เรื่องใหม่ “ม็อบฮ่องกง” ก็ทำมาแล้ว ซึ่งตอนหลัง ม็อบไม่มีแกนนำสไตล์ฮ่องกง กลายเป็น “ม็อบอนาธิปไตย” คนฮ่องกงเริ่มเบื่อหน่าย สุดท้ายแกนนำก็ถูกกวาดเข้าคุกจนหมด
สืบเนื่องจาก “แอมมี่เอฟเฟกต์” เจอ ม.112 กรณีเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำ จึงทำให้กลุ่ม Redem ออกแบบขนขยะไปทิ้งหน้าศาลอาญารัชดา และคาดหมายว่า กลุ่ม Redem จะมีกิจกรรมสุดพิสดารแถมตอนท้าย
ผู้อาวุโสซ้ายไทยที่ผ่านงานจัดตั้งมาก่อน ต่างไม่เห็นด้วยกับกลยุทธ์ “ไม่มีแกนนำ ไม่มีการจัดตั้ง” เพราะสุ่มเสี่ยงเกิดอนาธิปไตยสูง และจะนำไปสู่การล้อมปราบ เหมือนเหตุการณ์พฤษภาคม 2553
บังเอิญว่า “ต่างรุ่น ต่างวัฒนธรรม” เสียงท้วงติง จึงไม่มีพลังเพียงพอต่อการปรับเปลี่ยนแนวคิดม็อบเด็ก จึงต้องให้ม็อบ Redem เคลื่อนตัวไปข้างหน้า ทั้งที่รู้ว่า จุดจบคืออะไร?