ตัวละครลับ ความรุนแรง บทเรียนรีเด็ม
เบื้องหลังความรุนแรง วงในม็อบแฉ "ตัวละครลับ" จุดชนวนความโกลาหล
ผ่านมาแล้ว 1 ปีเศษ จากแฟลชม็อบเล็กๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย และโรงเรียน หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ ช่วงปลายเดือน ก.พ.2563 ขยับออกมาเป็น “ม็อบบนท้องถนน” ตั้งแต่การขับไล่ประยุทธ์ ทะลุเพดานไปถึงการปฏิรูปสถาบันฯ
ย่างเข้าสู่ปีที่ 2 ของการม็อบ มีความรุนแรงทั้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ และผู้ชุมนุมบางกลุ่ม มีการจับกุมแกนนำด้วยกฎหมายมาตรา 112 เริ่มมีคำถามจากผู้มีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวการเมืองนอกสภา
การม็อบของเยาวชนปลดแอก และกลุ่มอื่นๆ ในนาม “ม็อบรีเด็ม” ซึ่งทำกิจกรรมมาได้ 3 ครั้ง แต่ก็จบด้วยความรุนแรงถึง 2 ครั้ง
ภาคีกลุ่มต่างๆ ที่ร่วมกันในนาม REDEM
สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้เคยออกแบบกิจกรรมอาทิตย์สีแดง ได้ประเมินการม็อบยุคใหม่ผ่านเวบไซต์ 101ทั้งข้อดีข้อเสียว่า “การที่ไม่มีแกนนำแล้ว มวลชนยังดำรงมุ่งหมายที่จะออกมาบนท้องถนน เป็นเรื่องที่รัฐจัดการยากมาก เพราะรัฐเป็นโครงสร้างแนวดิ่ง เขาคุ้นเคยว่าถ้าเด็ดหัวได้ ตัวและหางก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แต่แน่นอนว่าการที่ไม่มีแกนนำ มีอิสระกันมากๆ ก็ถูกแทรกแซงได้ง่าย อาจจะขาดการเคลื่อนที่แหลมคม ฉะนั้นอาจจะต้องดูบริบทว่าวิธีการแบบไหนจะเหมาะสม”
เหตุการณ์ความรุนแรงในการทำกิจกรรมของม็อบรีเด็มล่าสุด หลายคนคงคิดว่า บก.ลายจุด อ่านเกมขาด “การที่ไม่มีแกนนำ มีอิสระกันมากๆ ก็ถูกแทรกแซงได้ง่าย”
ม็อบไม่มีแกนนำ
ก่อนม็อบรีเด็ม หรือม็อบ 20 มีนาที่ท้องสนามหลวง จะเริ่มขึ้น กลุ่มแกนนำเยาวชนปลดแอก ได้ออกแบบกิจกรรม Free Arts ไม่มีการเดินขบวน ไม่มีแกนนำ ร่วมกันแสดงพลังให้เต็มพื้นที่ นำกิจกรรมมาร่วมกันทำ
ด้วยเหตุนี้ จึงมีกิจกรรมเต้นแอโรบิก ,สเกตบอร์ด ,เล่นว่าว และอื่นๆ รวมถึงพับจรวดจดหมาย ส่งไปให้ถึงรั้ววัง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม หวังระดมผู้คนให้ได้จำนวนมาก เหมือนช่วงออแกนิกม็อบปลายปีที่แล้ว
เมื่อการชุมนุมเริ่มต้นขึ้น ปรากฏว่า มีคนมาทำกิจกรรมไม่หนาแน่น และมีวัยรุ่นกลุ่มใหญ่ไปรวมตัวที่หน้าตู้คอนเทนเนอร์ พร้อมได้ทำการผูกแล้วลากตู้คอนเทนเนอร์ออกได้หนึ่งตู้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมทันที พร้อมเตือนว่ารถฉีดน้ำแรงดันสูงมีความพร้อมแล้ว หากฝ่าฝืนหรือกระทำการใดที่ทำลายทรัพย์สิน
ความโกลาหลก็บังเกิดขึ้น เมื่อตำรวจฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม ตามมาด้วยเสียงระเบิดปิงปอง ตำรวจกรูออกมาปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม สถานการณ์ความวุ่นวาย ไม่ต่างจากม็อบรีเด็มที่เคลื่อนไปหน้าค่าย ร.1 รอ.
สถานการณ์ความโกลาหล
ตัวละครลับ
ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ค Thanapol Eawsakul ได้โพสต์เฟซบุ๊คตอนดึกวันที่ 20 มี.ค.2564 โดยตั้งข้อสังเกตว่า “ขณะที่มีเยาวชน ที่อายุไม่ถึง 18 ปีจำนวนมากถูก คุมขัง เนื่องจากมาชุมนุม แต่มีเยาวชนคนหนึ่งที่ ยังสร้างความแปลกประหลาดใจ คือคนชื่อ "ภูมิ" ที่อ้างว่า อายุ 17 ปี คนนี้คือคนที่ไปยั่วยุตำรวจแทบทุกครั้งโดยเฉพาะหลังปีใหม่ คนนี้คือคนที่ตำรวจจับที่บอกว่าเป็นคนขับรถให้แอมมี่ไปเผารูป แล้วตำรวจกันให้เป็นพยาน..”
“ล่าสุด เป็นคนที่สั่งการให้ดึงตู้คอนเทนเนอร์ลงมาที่สนามหลวง จนเป็นการเริ่มต้นยิงน้ำ แกสน้ำตา กระสุนยาง ฯลฯ ที่น่าแปลกกว่านั้นคือ คนชื่อ "ภูมิ" ยังไม่ถูกดำเนินการใดๆ”
ชื่อ “ภูมิ หัวลำโพง” ถูกพูดถึงมาก่อนหน้านี้ โดยเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ “เจ๊จุก คลองสามวา” ในช่วงที่มีข่าวเยาวชนชาย อายุ 17 ปี เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ในฐานะพยาน กรณีอยู่ในเหตุการณ์การเผาป้ายหน้าเรือนจำคลองเปรม
หากพูดจาภาษานักการข่าว “ภูมิ” อาจเข้าข่าย “ตัวละครลับ” ซึ่งหากพลิกอ่านเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในอดีต ไม่ว่า 14 ตุลา หรือพฤษภา 35 ก็มีตัวละครลับ คอยจุดสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง
ด้วยเหตุนี้ สมบัติ บุญงามอนงค์ จึงพยายามเสนอการออกแบบกิจกรรมการเมืองแนวสันติวิธี ซึ่งเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2564 บก.ลายจุด ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ @nuling “ผมเสนอให้กิจกรรม #รูปที่มีทุกบ้าน เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างแรงกดดันให้มีการปล่อยตัวแกนนำและมวลชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยทั้งหมด เพราะมีเพียงหนทางเดียวที่จะหยุดกิจกรรม #รูปที่มีทุกบ้าน ได้คือการปล่อยตัวพวกเขา”
บก.ลายจุด สะท้อนให้เห็นว่า การใช้ฝาบ้านของตนเองเป็นพื้นที่การต่อสู้ทางการเมือง ปลอดภัยและไม่เจอการปราบปราม
หากประชาชนทำกิจกรรมดังกล่าวพร้อมกันทั้งประเทศ จะส่งผลสะเทือนยิ่งกว่าการนัดไปชุมนุมบนท้องถนน