คอลัมนิสต์

แพ้ทั้งในกระดาน และนอกกระดาน

แพ้ทั้งในกระดาน และนอกกระดาน

15 เม.ย. 2564

แพ้ทั้งในกระดาน และนอกกระดาน

ถามว่าม็อบเด็กหรือม็อบราษฎรนั้น”ขาลง”หรือไม่ คำตอบคือ ใช่  

ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้ ม็อบราษฎร ตอนแรกทำท่าน่ากลัวเพราะระดมกันทางออนไลน์ทางโซเชี่ยลมาแต่ละครั้งทำเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯกินไม่ได้นอนไม่หลับ 

ชุมนุมที่ไหนคนพรึบปิดถนนทุกจุดที่นัดแนะกันไป และที่สำคัญคือเมื่อม็อบไม่มีแกนนำ ยิ่งลำบากในการเจรจาพูดคุย  

ตอนแรกที่บรรดาลูกๆหลานๆออกมาชุมนุม พ่อแม่ก็ปล่อยเพราะอยากให้ลูกเรียนรู้ประชาธิปไตย แต่พอนานวันเข้าข้อเรียกร้องต่างๆเริ่มเลยเถิด ยิ่งมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จึงทำให้พ่อแม่ห้ามลูกไปร่วมม็อบ” 

ผู้ปกครองเด็กรายหนึ่งบอกเหตุผลที่ม็อบเริ่มอ่อนแรงลง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอาแล้ว "พปชร."แตกยับ ดับฝัน "บิ๊กแป๊ะ" วืดเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. 
 

 ความจริงต้องยอมรับว่า การแตกกันเอง ไม่ว่าจะด้วยเรื่องอุดมการณ์ วิธีคิด หรือเรื่องเงินก็แล้วแต่ ทำให้”เอกภาพ”ของม็อบหายไป 

สิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยหลักทำให้ม็อบอ่อนแรงคือ 1. ข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน 2. ความรุนแรง 

ปัจจัยแรกคือเรื่องปฏิรูปสถาบัน นี่ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในการชุมนุม เพราะเป็นที่ทราบดีว่า สถาบันเบื้องสูง อยู่เหนือการเมือง ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ก็ไม่มีการแตะต้องหรือก้าวล่วงสถาบัน  

แต่ครั้งนี้ การชุมนุมกลับพุ่งเป้าไปที่สถาบัน โดยมีเพียง รัฐธรรมนูญ และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เป็นบันไดที่อ้างเอาไว้เท่านั้นเอง 

เพราะคนชุมนุมคงคิดว่าหากล้มสถาบันได้ การล้มรัฐบาลและการได้อำนาจมา มันจะง่าย แต่คิดผิดเพราะว่าการไปก้าวล่วงสถาบันโดยที่สถาบันไม่ได้ทำอะไรที่ประเทศชาติและคนไทยเสียหายเลยนั้น ย่อมไม่มีคนเห็นด้วย 

ทำไมม็อบจึงพุ่งเป้าไปที่สถาบัน แหล่งข่าวคนหนึ่งที่ใกล้ชิดกับพรรคการเมืองพรรคหนึ่งเล่าว่า มีการประชุมหารือกันระหว่างหัวหน้าพรรคการเมืองและเจ้าของพรรคการเมือง ผ่านระบบวิดีโอคอล  

ในวงประชุมถกกันอย่างหนักว่า พรรคการเมืองนั้นจะวางบทบาทอย่างไรในสถานะม็อบเด็ก เพราะม็อบเด็กก้าวล่วงสถาบัน เจ้าของพรรคที่มาทางวีดีโอคอล สรุปว่า หนุนเด็กเชื่อว่าเด็กจะทำสำเร็จ แต่ยังมีแกนนำหลายคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะการพุ่งเป้าไปที่สถาบัน มีแต่จะแพ้กับแพ้  

วันนั้นเมื่อมีความเห็นขัดแย้งกัน แกนนำของพรรคเก่าแก่นั้นจึงแยกวงออกมาตั้งพรรคใหม่ 

นี่ชี้ให้เห็นว่า การสนับสนุนเด็กให้ล้มล้างสถาบันเป็นการคิดผิดของคนที่คลุกคลีการเมืองมานาน เป็นเพราะว่าไปเชื่อบรรดาแอคติวิสต์คนเดือนตุลามากเกินไป เพราะคนเดือนตุลาที่มีบทบาทในพรรคนั้น ยังหวังว่าสักวันหนึ่งประเทศจะปกครองโดยไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ 
 

ปัจจัยที่สองคือ ความรุนแรง แน่นอนว่าการที่กลุ่มราษฎร แตกแยกกันแล้วมีหลายกลุ่ม โดยกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่มีแนวคิดสังคมนิยม กับกลุ่มราษฎร ทำให้ เยาวชนปลดแอกต้องเคลื่อนไหวในนาม”รีเด็ม” 

ทุกครั้งที่”รีเด็ม”นัดชุมนุม จะไม่มีแกนนำจากราษฎร มาร่วมเลย และทุกครั้งที่ “รีเด็ม”นัดชุมนุมจะเต็มไปด้วยกลุ่มหัวรุนแรงจากอาชีวะ สุดท้ายก็จบด้วยระเบิดปิงปองและความรุนแรง

การเคลื่อนไหวเช่นนี้มาแนวเดียวกับคนเสื้อแดง แน่นอนว่า มีการกดปุ่มจากพรรคการเมืองหนึ่งให้คนเสื้อแดงออกมาร่วมกับ รีเด็ม ฉะนั้นวิธีการเดียวกับปี53คือการก่อความรุนแรงเพื่อทำลายเครดิตของรัฐบาล 

ฉะนั้นให้จับตาหลังสงกรานต์ว่า เจ้าของม็อบทั้งในและนอกประเทศจะเดินเกมอย่างไร เพราะหมากในกระดานอย่างเกมในสภาก็พ่ายแพ้ และมีแนวโน้มว่าหมากนอกกระดานคือการเมืองนอกสภา ก็จะแพ้ราบคาบเพราะเดินเกมผิดคิดล้มสถาบัน.