คอลัมนิสต์

ท้ารบ 'ซูจี' ดันรัฐบาลเงา เขย่า 'มินอ่องหล่าย'

ท้ารบ 'ซูจี' ดันรัฐบาลเงา เขย่า 'มินอ่องหล่าย'

17 เม.ย. 2564

ยุทธศาสตร์โลกล้อมพม่า "ซูจี" ตั้งรัฐบาลเงาชิงความชอบธรรม "มินอ่องหล่าย" ผูกมิตรนักรบชาติพันธุ์ ใต้ร่มธงจีน

เป็นไปตามความคาดหมาย พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(NLD) ที่รวมตัวกันในนามคณะกรรมการสภาสหภาพ (CRPH) เดินหน้ายุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร ชิงความชอบธรรมในประชาคมโลกกับรัฐบาลทหารเมียนมา หรือสภาบริหารภาครัฐ (SAC) ด้วยการประกาศจัดตั้ง “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” (National Unity Government-NUG) เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2564

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ประกอบด้วย ส.ส.พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(NLD) และตัวแทนจากองค์กรทางการเมืองกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ชิน และคะฉิ่น

โครงสร้างรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(NUG) มี วิน มยินต์ ประธานาธิบดี ,อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ , ดูว่า ละฉี รองประธานาธิบดี(ผู้นำการเมืองคะฉิ่น) และ มานวินตานข่าย (ผู้นำการเมืองกะเหรี่ยง) นายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ มี ส.ส.พรรคเอ็นแอลดี และตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์เป็นรัฐมนตรี 

โฆษก NUG ได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนเมียนมาผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่า ขณะนี้มีหลายประเทศในโลกตะวันตก รวมทั้งประเทศอาหรับในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีประสบการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงอาหรับสปริง เตรียมประกาศให้การรับรองรัฐบาลเงา (NUG) ในฐานะรัฐบาลที่มีความชอบธรรมของเมียนมา

มินโกหน่าย ผู้นำนักศึกษาพม่า ยุค 1988 ประกาศผ่านคลิปวิดีโอไลฟ์บนเว็บไซต์พับลิค วอยซ์ ทีวี เรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้การต้อน “รัฐบาลของประชาชน” และ “เรากำลังดำเนินความพยายามเพื่อขุดรากถอนโคนระบอบการปกครองของทหาร ดังนั้น เราจำเป็นต้องเสียสละมหาศาล” 

ท้ารบ \'ซูจี\' ดันรัฐบาลเงา เขย่า \'มินอ่องหล่าย\'

                                  รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
จีนเอาไง พม่าถล่ม 'คะฉิ่น'

++
ไม่มีกองทัพ
++

วันเดียวกันกับที่มีการประกาศตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) พล.ต.ทุนเมี๊ยตไหน่ ผู้นำสูงสุดของสหสันนิบาติแห่งชาวอาระกัน/กองทัพอาระกัน (ULA/AA) ได้ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ของเขาว่า ตัวเขา และกองทัพอาระกัน ไม่สามารถเข้าร่วมกับ NUG ตามคำเชิญของ CRPH ได้ 

ปฏิกิริยาจากกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ต่อ NUG ค่อนข้างเงียบเชียบ ยกเว้นแนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง/กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (PSLF/TNLA) ที่ออกแถลงการณ์ต้อนรับรัฐบาลของประชาชน

ก่อนหน้านี้ CRPH ได้พูดคุยกับผู้นำชาติพันธุ์บางกลุ่มเรื่อง "กองทัพสหพันธรัฐ" และมวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน ต่างเรียกหากองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ซึ่งช่วงนี้ จะมีการเขียนป้ายคำขวัญเรียกหากองทัพเอกราชคะฉิ่น(KIA) และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) มากเป็นพิเศษ

วันที่ 3 เม.ย.2564 พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) ในฐานะหัวหน้าทีมขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ (PPST) ได้ประชุมผ่านระบบออนไลน์กับ 9 ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อหารือถึงสถานการณ์ภายในประเทศเมียนมา 

การประชุมครั้งนี้ ตัวแทน 10 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้หารือถึงแนวทางการช่วยเหลือและสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชนผู้ร่วมการปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ (Spring Revulation) 

การขยับตัวของ “เจ้ายอดศึก” ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องกองทัพสหพันธรัฐ หลายฝ่ายเชื่อว่า ผู้นำชาติพันธุ์ติดอาวุธ กำลังเฝ้าดูบทบาทมหาอำนาจตะวันตกกับรัฐบาลเงาของซูจีอยู่

พวกเขาไม่ผลีผลามกระโจนสู่สมรภูมิรบ โดยไม่มีหลักประกันแห่งชัยชนะ

ท้ารบ \'ซูจี\' ดันรัฐบาลเงา เขย่า \'มินอ่องหล่าย\'

                กองทัพสหรัฐว้า ยังสงบนิ่งแต่ใกล้ชิดกองทัพพม่า

++
กำปั้นเหล็ก
++

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารภาครัฐ (SAC) ยังคุมสถานการณ์ด้านความมั่นคงไว้ได้ แม้ในทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ จะตกเป็นรอง

กองทัพเมียนมากับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ทั้งสู้รบสลับกับการพูดคุยกันมานานกว่า 3 ทศวรรษ นายทหารเมียนมาถนัดในการเจรจาต่อรองผลประโยชน์กับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ 

วันที่ 8 เม.ย.2564 สภาบริหารภาครัฐ (SAC) จึงส่งคณะนายทหารฝ่ายพูดคุยเพื่อสันติภาพเดินทางไปยังบ้านไฮ เขตเมืองเกซี แขวงล๋อยแหลม รัฐฉานตอนใต้ เพื่อเข้าพบและหารือกับผู้นำระดับสูงของพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (SSPP/SSA) 

พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP/SSA) หรือกองทัพไทใหญ่เหนือ นำโดย ป่างฟ้า เคยเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า และได้แยกตัวออกมาตั้งกองกำลังของตัวเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพสหรัฐว้า (UWSA)
 3-4 ปีมานี้ ทหารของพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP/SSA) ได้ทำการสู้รบกับทหารของสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) อยู่เป็นประจำ จนชาวบ้านในรัฐฉานเรียกว่า สงครามไทใหญ่ และไม่ค่อยพอใจที่ทหารไทใหญ่ฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้รบกันเอง

แม้แต่ในเวลานี้ ทหารไทใหญ่เหนือ (SSPP/SSA) ยังเปิดศึกโจมตีทหารใหญ่ใต้(RCSS/SSA) ของเจ้ายอดศึก ในพื้นที่แขวงจ้อกแม แขวงสีป้อ รัฐฉานตอนเหนือ

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารภาครัฐ (SAC) ยังรู้สึกมั่นใจว่า คุมสถานการณ์ในประเทศได้ และไม่คิดว่า กองทัพสหพันธรัฐ จะเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้

เนื่องจากกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่มีอำนาจต่อรองสูงคือ พรรคสหรัฐว้า/กองทัพสหรัฐว้า(UWSP/UWSA) ซึ่งมีกำลังพล 30,000 นาย พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ยังสงบนิ่ง และไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ต่อการรัฐประหาร

ที่สำคัญ ประชากรในเขตปกครองพิเศษชนชาติว้า ไม่ได้จัดการชุมนุมประท้วง และพวกเขาไม่มีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมา

เหนืออื่นใด กองทัพสหรัฐว้า(UWSA) และกองทัพไทใหญ่เหนือ (SSPP/SSA) มีความใกล้ชิดกับจีนเป็นพิเศษ เพราะในอดีต พวกเขาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน 

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ของออง ซานซูจี ก็หวังที่จะเห็นการรวมตัวของกลุ่มชาติพันธุ์เป็น “กองทัพสหพันธรัฐ” แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ตราบใดที่กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธภาคเหนือยังพึ่งพาจีน กองทัพสหพันธรัฐก็ยังไกลเกินฝัน

ท้ารบ \'ซูจี\' ดันรัฐบาลเงา เขย่า \'มินอ่องหล่าย\'

                          มินอ่องหล่าย ยังคุมสถานการณ์ได้