กลิ่นยุบสภา "พลังป้อม" ชิงดำ "โทนี่"
พลังประชารัฐจัดทัพเลือกตั้ง ชน "เพื่อไทย" ที่อีสาน แถม "ก้าวไกล-ไทยสร้างไทย" แย่งคะแนน "พี่โทนี่" คอลัมน์... ท่องยุทธภพ โดย... ขุนน้ำหมึก
++
ยุบสภา อาจมาเร็วกว่าที่คาด เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด พ่นพิษเศรษฐกิจเจ๊ง ทำเอารัฐบาลประยุทธ์ ออกอาการเครื่องรวน พรรคร่วมรัฐบาลเริ่มแสดงอิทธิฤทธิ์
“ผมได้ย้ำว่าในอีก 1 ปีนี้ จะต้องมีผลสำเร็จที่จับต้องเป็นรูปธรรมได้ว่าเรามีการแก้ไขปัญหาอะไรไปแล้วบ้าง และอีก 1 ปี ข้างหน้าจะทำอะไร เตรียมแผนเอาไว้”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง... ยุบสภาคือความเสี่ยงของทุกฝ่าย
บิ๊กป้อม ไม่กลัวโทนี่
ถ้อยแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2564 กลายเป็นพาดหัวข่าวใหญ่ในหน้า นสพ. “จับสัญญาณยุบสภา” หรือ “ได้กลิ่นยุบสภา” หรือ “มีเวลา 1 ปี”
ในตำนานการเมืองไทย “ยุบสภา” เป็นท่าไม้ตายของนายกรัฐมนตรีมาทุกยุคทุกสมัย ผ่าทางตันกรณีพรรคร่วมรัฐบาล มีความขัดแย้ง ถึงขั้นแตกหัก
หากมีการยุบสภา ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ภายใต้รัฐบาลรักษาการ พล.อ.ประยุทธ์ และบรรดารัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ ยังจะได้คุมถุงเงิน ทั้งงบฯกลาง 571,047 ล้านบาท และยอดเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น 89,000 ล้านบาท รวมงบฯกลาโหมอีก 203,281 ล้านบาท
ส่วนกระทรวงมหาดไทย โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ยังได้คุมกลไกเลือกตั้ง และกุมวงเงินในงบประมาณ 316,527 ล้านบาท เงินนอกงบประมาณอีก 42 ล้านบาท
สาเหตุที่พรรคภูมิใจไทย ไม่พอใจอย่างแรง ก็มาจากยอดเงินในบัญชีงบประมาณกระทรวงกระทรวงสาธารณสุข ที่หัวหน้าพรรคกำกับอยู่ ถูกขยับไปกองรวมที่ “งบฯกลาง-ฉุกเฉิน” เพื่อการกำจัดโรคระบาดของศูนย์บริหารโควิด (ศบค.)
มิหนำซ้ำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผนึกกำลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมหาดไทย ยังรวบอำนาจบริหาร “เงิน-วัคซีน” และองคาพยพของการแก้ปัญหาโควิดทั้งประเทศ
พี่โทนี่ ยังเชื่อมนต์รักประชานิยม
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รู้ดีว่า ถูกยึดอำนาจ แต่ก็กล้ำกลืนฝืนทน รอเวลาแยกทางกันเดิน
++
จัดทัพสู้เพื่อไทย
++
ที่น่าจับตา การประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 1/2564 ของพรรคพลังประชารัฐ ในวันที่ 20 มิ.ย.2564 ที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งการเลือกสถานที่ประชุมนั้น ส่อนัยยะทางการเมืองชัดเจน
ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางความเจริญของภาคอีสาน และพรรคมี ส.ส.เขต 2 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พลังประชารัฐ ได้ ส.ส.เขตในภาคอีสานต่ำกว่าเป้าหมาย แต่แกนนำพรรคเชื่อว่า 2 ปีที่รัฐบาลประยุทธ์ ได้ดำเนินโครงการประชานิยมหลายรูปแบบ ทำให้คนอีสานจำนวนไม่น้อย หันมานิยมชมชอบพรรคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบัตรประชารัฐ, คนละครึ่ง และเราชนะ
คู่แข่งสำคัญของพลังประชารัฐคือ พรรคเพื่อไทย ในฐานะแชมป์ผูกขาดหลายสมัย เนื่องจากคนอีสานส่วนใหญ่ ยังรักและศรัทธา “พี่โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร
ดอกผลนโยบายประชานิยม ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย ยังเป็นจุดแข็งของพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคอื่นเบียดแทรกได้ยาก โดยเฉพาะสมรภูมิเลือกตั้งอีสานเหนือ และอีสานตอนกลาง
อย่างไรก็ตาม หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยจะเจอศึกหนัก เพราะมีคู่ต่อสู้ที่จะแย่งชิงฐานเสียงเดียวกันอย่างน้อย 2 พรรค
1.อิทธิพลพรรคก้าวไกลขยายตัว แม้พรรคอนาคตใหม่ จะได้ ส.ส.เขต 1 คนในภาคอีสาน แต่พรรคสีส้มก็โกยแต้มไปได้เยอะในการเลือกตั้งปี 2562 ส่งผลให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภาคอีสานมากถึง 5 คน
หากไปคลี่คะแนนการเลือกตั้งนายก อบจ.ในอีสาน พบว่า คะแนนของผู้สมัครนายก อบจ.ของคณะก้าวหน้า ยังได้เท่าเดิม แม้จะไม่ชนะเลือกตั้งท้องถิ่น แต่คะแนนนิยมก็ไม่ได้หดหายไป
2.การเกิดใหม่ของพรรคไทยสร้างไทย ภายใต้การนำของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่มีเป้าหมายอยู่ที่ภาคอีสานเช่นกัน
เนื่องจากอีสานโพลล์ในห้วง 2-3 ปีมานี้ ได้สำรวจพบว่า “คุณหญิงสุดารัตน์” เป็นผู้ที่คนอีสานอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี และช่วงการหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ. คุณหญิงหน่อย ได้ลงพื้นที่ไปช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครนายก อบจ. ประมาณ 5-6 จังหวัด ปรากฏว่า มีเสียงตอบรับจากชาวอีสานเป็นอย่างดี
อีกอย่างหนึ่ง การแยกตัวออกไปจากเพื่อไทยของคุณหญิงหน่อยแตกต่างจากเนวิน ชิดชอบ เพราะสมัยโน้น เนวินเล่นเกมแตกหัก “นายใหญ่” ตรงข้ามกับคุณหญิงหน่อยที่ยังเคารพรักคนแดนไกล แต่ทนอยู่ในพรรคเดิมไม่ได้
ดังนั้น คนอีสานมองว่า พรรคไทยสร้างไทยไม่ได้เป็นศัตรูกับพรรคเพื่อไทย ต่างจากพรรคภูมิใจไทย ที่ยังถูกมองเป็นลบมากกว่าบวก
แกนนำพลังประชารัฐ เชื่อว่า เพื่อไทยไม่อาจสร้างกระแสแบบ “ยิ่งลักษณ์ฟีเวอร์” ได้เหมือนปี 2554 เพราะมี 2 ปัจจัยข้างต้น เป็นด่านสกัดแผนการปั้นดาวดวงใหม่ของทักษิณ หรือพี่โทนี่