เราจะคิดและจะเรียนแบบไหนดี "ตรีนุช" ตั้งคำถามผอ.เขตทั่วประเทศ
ไม่บ่อยนักที่ผู้บริหารระดับรัฐมนตรีสื่อสารกับฝ่ายปฏิบัติ ในรูปแบบนี้ ..เราจะคิดและจะเรียนแบบไหนดี "ตรีนุช" ตั้งคำถามผอ.เขตทั่วประเทศ หลังยืนยัน14มิ.ย.นี้ไม่เลื่อนเปิดเทอมแน่นอน
"เราจะคิดและจะเรียนแบบไหนดี"
คำถามจาก นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในที่ประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ (ผอ.สพท.) เมื่อวันพุธที่ 9 กรกฎาคม 2564
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : หลอกครูและคนทั้งประเทศ 'เลื่อนการเปิดเทอมทิพย์' อีกแล้ว
ขณะที่เหลือเวลาอีก 5 วัน โรงเรียนทั่วประเทศจะเปิดเทอมเพื่อทำการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากที่มีการเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง ถ้าคุณต้องตอบคำถามนี้ คุณจะตอบอย่างไร
เบื้องต้น ไม่ทราบว่า เป็นการถามนำ หรือถามให้คิด แต่เมื่อได้ยินคำถามแล้วทำให้รู้สึกหมดหวังกับอนาคตของการศึกษาไทยและลูกหลานของคนไทยทุกคน ที่ฝากไว้ในมือของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ไว้วางให้ "ตรีนุช เทียนทอง" มาเป็นผู้นำปฏิรูปการศึกษาไทย
ในระหว่างการประชุม ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยอมรับว่า การจัดการเรียนการสอน ทั้ง 5 รูปแบบ (On Site, On Air, Online, On Hand, On Demand) จับต้องไม่ได้ ไม่มีคุณภาพ
ตรีนุช ยังโยนคำถามกลับไปที่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศว่าถึงเวลาที่ "ต้องถอดบทเรียน" จากการจัดการเรียนการสอนปีที่ผ่านมา เพื่อนำมาสรุปเป็นบทเรียนของ สพฐ. และเน้นย้ำ โรงเรียนแต่ละแห่ง ต้องไม่ทำเหมือนเขตพื้นที่การศึกษา
โรงเรียนต้องมีรูปแบบการจัดการเรียนตามความแตกต่าง ของนักเรียน โรงเรียน ต้องศึกษาว่า ค้นพบอะไร ทำอย่างไร ทุกโรงเรียนจึงมีความหลากหลาย ตามบริบท ของพื้นที่นั้นๆ เมื่อเขตนำของโรงเรียนมาสกัด ก็จะได้ภาพรวมของเขตพื้นที่
"ยืนยันว่าวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ต้องเปิดเรียน แต่ทุกโรงเรียนต้องมีแผนมารองรับ การเรียนแบบ On Site หรือแบบใดๆ ห้ามมีการหยุดการเรียน โควิดจะอยู่หรือไปเด็กไทยต้องได้เรียนหนังสือ " ตรีนุช กล่าวด้วยสีหน้าเชื่อมั่น
ถ้าสังเกตและตั้งใจฟัง ตลอดเวลาของการประชุมทางไกล ของผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พูดคำว่า “จะพยายาม” และคำว่า “จะทำ” เป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาส่วนใหญ่ มองว่าเป็นการแสดงออกถึงความวิตกกังวลและไม่มั่นใจ เป็นอย่างมากในการบริหารการจัดการศึกษาของไทย
อีกประเด็นคำถามที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน เรื่อง ของเวลาเรียน และการเรียนชดเชย รวมทั้งรูปแบบการสอนชดเชย ที่ทุกคนต่างสงสัย โดยเฉพาะฝ่ายปฏิบัติ ไล่เรียงมาตั้งแต่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูและพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงนักเรียน
เวทีประชุมทางไกลครั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงของศธ. อย่าง "นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ" รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( รองเลขาธิการ กพฐ.) รับผิดชอบดูแลสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้กล่าวย้ำถึงกรณีการนับเวลาเรียน และการสอนชดเชย ว่า การนับเวลาเรียนนับเฉพาะการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On Site เท่านั้น
และการสอนชดเชยสามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ 1. เพิ่มจำนวนเวลาเรียนในแต่ละวันให้ครบตามโครงสร้างเวลาเรียนที่กำหนด 2. เพิ่มการเรียนในวันหยุดให้ครบตามโครงสร้างเวลาเรียนที่กำหนด หรือทั้ง 2 รูปแบบผสมผสานกันจนกว่าจะครบตามโครงสร้างเวลาเรียนที่กำหนด ( 200 วันต่อปี)
สรุปว่าในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ (ผอ.สพท.) ของตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไม่รู้จะเรียนแบบไหน ไม่รู้จะคิดอะไร แต่ก็ยังยึดมั่นในหลักการ หลักเกณฑ์ และโครงสร้าง ไม่มีการปรับ ไม่มีการเปลี่ยน ไม่ได้สั่งอะไร ไม่ได้บอกอะไร ขอให้เป็นดุลพินิจของสถานศึกษา
รับรู้กันแบบนี้แล้ว ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา-ผอ.รร.-ครู-พ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียน แต่ท่านละมีคำตอบ สำหรับคำถามจาก"ตรีนุช" แล้วหรือยัง