เสาไฟ "ราชาเทวะ" 'บ้านใหญ่' โมเดล
เสาไฟกินรี "อบต.ราชาเทวะ" ยังเดินหน้าต่อ เพราะเป็นเรื่องวัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่นอุปถัมภ์ คอลัมน์... ท่องยุทธภพ โดย... ขุนน้ำหมึก
++
สำนักข่าวหลายแห่ง เกาะติดประเด็น “เสาไฟฟ้า” รูปประติมากรรมต่างๆ กับความโปร่งใสในการบริหารจัดการงบประมาณขององค์กรปกครองท้องถิ่น โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้อยู่ที่ อบต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง... ต้นละแสน แพงตรงไหน...เปิดใจ บ.ร่วมประมูลเสาไฟกินรี
ทรงชัย และลูกชาย จาตุรนต์ ตรวจโครงการเสาไฟกินรี
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2564 สภา อบต.ราชาเทวะ อนุมัติจ่ายงบสะสม 68.4 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเสาไฟกินรีเพิ่มอีก 720 ต้น โดยมีผู้เห็นชอบ 15 คน ไม่เห็นชอบ 5 คน และงดออกเสียง 4 คน
ข่าวท้องถิ่นชิ้นนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย คล้ายกับว่า สภา อบต.ราชาเทวะ ไม่ฟังกระแสสังคม ไม่อนาทรร้อนใจใดๆเลย
ทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะ ชี้แจงว่า การติดตั้งเสาไฟกินรี 720 ต้น จะไม่ซ้ำจุดเดิม บางจุดไม่มีเสาเลยสักต้น เลยมาขอให้บรรจุเสาไฟกินรีในแผน เพื่อขอสภาใช้เงิน
“ความต้องการของประชาชน กับเสียงคัดค้านที่เยอะอยู่แล้ว ความต้องการของประชาชนในตำบลนี้มันมากกว่าเสียงคัดค้านที่อื่น คนที่คัดค้านไม่ได้อยู่ในตำบลนี้ ถ้าคนตำบลนี้คัดค้านไม่มีทางที่โครงการนี้จะเกิดขึ้นได้ โครงการมาจากความต้องการของคนในพื้นที่ ที่เขาต้องการจะมีเสาไฟกินรี”
นายก อบต.ราชาเทวะ กล่าวเสริมว่า ต.ราชาเทวะ มี 15 หมู่บ้าน โดยเสาไฟกินรี 720 ต้น จะกระจายไป 11 หมู่บ้าน และมี 4 หมู่บ้านที่ไม่เอา
ภาพสะท้อนจาก อบต.ราชาเทวะ ก็เหมือนเป็นตัวแทนองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่ยังเป็นวัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่นอุปถัมภ์ หรือเรียกกันง่ายๆว่า “การเมืองบ้านใหญ่”
การเมืองบ้านใหญ่ จะเน้นการเอาใจใส่ทุกข์สุขชาวบ้านเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน เรียกว่าดูแลตั้งแต่เกิดไปจนถึงเสียชีวิต ดังนั้น นักการเมืองท้องถิ่นจึงไม่ใส่ใจเสียงสะท้อนจากนอกพื้นที่
เสาไฟฟ้าส่องสว่าง ใน ต.ราชาเทวะ
++
ตำนานเสาไฟกินรี
++
เมื่อไม่นานมานี้ ทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่า รายได้ของ อบต.ราชาเทวะ มีรายได้มากกว่า 400 ล้านบาทต่อปี ซึ่ง 200 ล้าน ถูกแบ่งสำหรับพัฒนาพื้นที่
ในแต่ละปีจะมีคณะกรรมการจัดทำแผน ไปลงพื้นที่ทำประชามติของชาวบ้าน ว่ามีความต้องการพัฒนาด้านใด โดยชาวบ้านเสนอมา 2 เรื่องคือ ถนนคอนกรีต กับเสาไฟฟ้า แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด จึงทำเสาไฟฟ้าก่อน
3 เดือนที่ผ่านมา ปปช.จังหวัดและภาค เคยเรียกนายกฯทรงชัย ไปสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเสาไฟกินรี ซึ่งตนก็ชี้แจงทุกอย่าง มีความโปร่งใส มีที่ไปที่มาอย่างชัดเจน
จากความต้องการของชาวบ้าน ก็นำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการแผนของโครงการ มีการออกแบบเสาไฟฟ้า และเสนอมาที่ นายก อบต. ซึ่งราคากลางของเสาไฟกินรี อยู่ที่ต้นละ 95,000 บาท ส่วนบริษัทที่ได้จัดทำก็มาจากการ e-bidding อบต.ไม่เคยปิดกั้นบริษัทไหน ก็เปิดให้มาแข่งขันกัน แต่ถามว่า ทำไมบริษัทนี้ได้อยู่รายเดียว ตนไม่ทราบ เพราะเขาไปแข่งขันกันเอง
ทำไมต้องเป็นเสาไฟกินรี นายกฯทรงชัย ตอบว่า อยากปรับภูมิทัศน์ ต.ราชาเทวะ ให้สอดคล้องกับสนามบินสุวรรณภูมิ แขกบ้านแขกเมืองมา เขาจะชื่นชมประเทศไทย
อย่างที่รู้กัน อบต.ราชาเทวะ จัดเป็น อบต.มีลักษณะพิเศษ เพราะพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ เกือบครึ่งหนึ่งอยู่เขตการปกครองของ อบต.ราชาเทวะ
เสาไฟฟ้าส่องสว่าง ใน ต.ราชาเทวะ
++
ตำนานบ่อขยะ
++
เกือบ 20 ปีที่แล้ว ต.ราชาเทวะ ตกเป็นข่าวใหญ่โด่งดังไปทั้งประเทศ กรณีความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เรื่องบ่อฝังกลบขยะ 200 ไร่ ส่งกลิ่นเหม็นตลบอบอวลรบกวนชาวบ้านหมู่ 14 ถ.กิ่งแก้ว ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
สืบเนื่องจากกรุงเทพมหานคร ได้ว่าจ้างภาคเอกชนให้ขนย้ายและกำจัดทำลายขยะมูลฝอยจากโรงกำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ตั้งแต่ ก.ค.2543-ก.ค.2547 วงเงิน 780 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องฝังกลบขยะวันต่อวันไม่ให้มีขยะเหลือตกค้าง และต้องใช้จุลินทรีย์ฉีดพ่นเพื่อขจัดกลิ่น
แต่ข้อเท็จจริงกลับมีกลิ่นและฝูงแมลงวันคุกคามผู้อาศัยกว่า 2,000 คนที่อยู่ใกล้เคียง จนต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน และพบความไม่ชอบมาพากลของโครงการดังกล่าวหลายประเด็น
ความขัดแย้งในพื้นที่รุนแรงขึ้น เมื่อเกิดเหตุลอบยิงแกนนำชาวบ้านเสียชีวิตในร้านขายของชำ เมื่อ 26 มิ.ย.2544 เวลาต่อมา ตำรวจได้จับกุมนักการเมืองท้องถิ่น ในข้อหาจ้างวานฆ่า และมีการดำเนินคดีจนถึงที่สุดแล้ว
ปัจจุบัน ภาคเอกชนได้แก้ปัญหาเรื่องกลิ่นขยะ และดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซในหลุมฝังกลบขยะมูลฝอยราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ พื้นที่ฝังกลบ 50 ไร่ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1 เมกกะวัตต์ ส่งจำหน่ายเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้านครหลวง ตั้งแต่ปี 2549
ปีนั้น ทรงชัย นกขมิ้น ดำรงตำแหน่งประธานสภา อบต.ราชาเทวะ และในปีนี้ ทรงชัย เป็นนายก อบต.ราชาเทวะ ก็โด่งดังจากข่าวเสาไฟกินรี