ปิดเกม "ตู่" อวสานไทยไม่ทน
จบแล้ว 'จตุพร' สะเทือนม็อบ "ไทยไม่ทน" ไร้แกนนำตัวหลัก เอาชื่อไปแปะคาร์ม็อบ คอลัมน์ .. ท่องยุทธภพ โดย .. ขุนน้ำหมึก
เส้นทางแกนนำมวลชนอย่าง จตุพร พรหมพันธุ์ เหมือนรู้ชะตากรรม การขับเคลื่อนขบวนการใหม่ชื่อ “ไทยไม่ทน” ไล่ประยุทธ์ ทำให้เขาต้องสละหลายสิ่งอย่าง ทำตัวให้เบาและลดภาระอันหนักอึ้ง เนื่องจาก “จตุพร” มีคดีความติดตัวมากมาย ไม่รู้ว่าวันไหน จะต้องเดินเข้าเรือนจำอีก
วันที่ 8 ก.ค.2564 ศาลได้อ่านคำสั่งศาลฎีกา คดีที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้นับโทษคดีที่สองต่อจากคดีเเรกเมื่อคดีเเรกถึงที่สุด โดยระหว่างนี้ศาลอาญาอยู่ระหว่างตรวจสอบว่าโทษต่อจากคดีเเรกที่ให้นับต่ออีก 12 เดือน จะนับอีกเท่าไหร่
ด้าน วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ บอกให้จตุพรรอเพียงอย่างเดียวว่า จำนวนวันที่ติดคุกจะกี่วันและกี่เดือน ซึ่งตัวเขาเองก็ยังให้คำตอบไม่ได้ ก่อนหน้าที่จะขึ้นไปฟังคำสั่งศาล “จตุพร” ได้บอกกับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมคณะไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย ในวันเสาร์ที่ 10 ก.ค.นี้ว่า จะไม่มีจัดการชุมนุมใดๆ แต่จะไปร่วมคาร์ม็อบแทน
ฝากฝังม็อบ
หลังทราบข่าวศาลพิพากษาจำคุกจตุพร สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด โพสต์เฟซบุ๊กว่า “ไม่ว่าคุณจะคิดยังไงกับ จตุพร พรหมพันธุ์ เมื่อสักครู่เมื่อศาลตัดสินจำคุกคดีหมิ่นฯนายอภิสิทธิ์ เขาโทรมาหาผมและพูดว่า ‘พี่จำเป็นต้องเข้าคุกอีกรอบ ฝากภารกิจ(ไล่ประยุทธ)ให้น้องดำเนินการต่อ ขอให้ประสบความสำเร็จ’..”
จตุพร เข้าคุกอีกรอบ
ดังที่ทราบกัน ขบวนการไทยไม่ทน จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. จับมือ อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 โหมโรง “ไล่ประยุทธ์” ตั้งแต่เดือน มี.ค.2564 วันที่ 4 เม.ย.2564 “ตู่ จตุพร” นัดชุมนุม “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” ที่ อนุสรณ์พฤษภาประชาธรรม ถ.ราชดำเนิน มีคนเสื้อแดงมาร่วมจำนวนหนึ่ง บังเอิญมีโควิดระบาดรอบใหม่ จตุพรจึงยุติการชุมนุม และย้ายไปจัดเวทีปราศรัยออนไลน์ ภายในสตูดิโอพีซทีวี
วันที่ 24 มิ.ย.2564 จตุพรนำคณะไทยไม่ทนลงถนน ก็เจอสถานการณ์ “ม็อบจุดไม่ติด” อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด เหนืออื่นใด แกนนำไทยไม่ทน อย่าง วีระ สมความคิด และไทกร พลสุวรรณ ไม่ใช่แกนนำที่มีมวลชนเป็นของตัวเอง แม้กระทั่ง 30 องค์กรฝ่ายประชาธิปไตย มีแต่ “หัว” กับ “ชื่อ” ไม่มีมวลชนเช่นกัน จริงๆแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกไม่พอใจการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะช่วงโควิดระบาด แต่การที่พวกเขาไม่เข้าร่วมการชุมนุมกับคณะไทยไม่ทน ก็น่าจะมีเหตุผลเรื่องความศรัทธาในตัวผู้นำมวลชน ปี 2564 สถานการณ์เปลี่ยน ไม่ใช่ยุคคนเสื้อแดง ไม่ใช่เวลาของแกนนำมวลชนยุคทีวีดาวเทียม
มิตรสหายแยกทาง
ก่อนที่จตุพรจะเคลื่อนทัพลงถนน ก็มีข่าวร้ายสำหรับคนเสื้อแดง เมื่อผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องพีซทีวี ประกาศยุติการออกอากาศ ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.2564 เนื่องจากขาดทุนสะสมมาหลายปี “จตุพร” เพิ่งโยกย้ายพีซทีวี จากชั้น 5 อิมพีเรียล ลาดพร้าว มาอยู่ที่ทำการสถานีโทรทัศน์พีซทีวีแห่งใหม่ ซอยรามอินทรา 40 ได้ไม่ถึงปี ลึกๆแล้ว จตุพรไม่อยากปิด “จอแดง” เพราะยังห่วงทีมงานอีกร้อยกว่าชีวิต ที่พึ่งพารายได้จากพีซทีวี แต่ระยะหลัง “สปอนเซอร์ฝ่ายการเมือง” ไม่ได้ให้การสนับสนุนเหมือนในอดีต เขาจึงตัดสินใจสละเรือพ่วง
มีข้อน่าสังเกต จตุพร กับอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ ตัดญาติขาดมิตรกัน โดยจตุพรบอกว่า ตอนที่อภิปรายไม่ไว้วางใจและแก้ไขรัฐธรรมนูญ “อารี” โหวตสวนมติพรรคเพื่อชาตินับจากวันที่ “อารี” อำลากลุ่มแกนนำ นปช.สายจตุพร ก็เกิดปัญหาสภาพคล่องภายในช่องพีซทีวี จนกระทั่ง จตุพรยอมกลืนเลือด ปิดทีวีจอแดง
วันนี้ มีคนเห็นอารี ไปเดินป้วนเปี้ยวอยู่แถวสำนักพรรคพลังท้องถิ่นไท และมีความสนิทสนมกับ “บิ๊กเนม” ฝ่ายรัฐบาล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ปั่นพ้นภัยเปลี่ยน "ตู่" เป็น "แม้ว"
"ม็อบหมอ" มาแล้ว เปลี่ยน "ม้า" กลางศึก
ไล่ประยุทธ์"กวิ้น" ปาดหน้า "ตู่"
'ทักษิณ' อยากจะกลับบ้าน จริงไหม