"กองทุนหมู่บ้าน" ภัยเงียบ ในสถานการณ์โควิด19
"คมชัดลึกออนไลน์" ได้ตรวจสอบพบว่า นอกจากดอกเบี้ยไม่ลด เงินต้นก็ต้องส่งแล้ว อย่าให้การเดินทางกลับมาเซ็นสัญญากองทุนกลายเป็นการนำเชื้อโควิดกลับมาด้วย เพราะจำทำให้ "กองทุนหมู่บ้าน" กลายเป็นภัยเงียบในสถานการณ์โควิด19
ผลงานตกค้างจากรัฐบาลเก่า ยุคลุงโทนี่ ทักษิณ ชินวัตร กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) เป็นเจ้าหนี้อีกรายที่มีลูกหนี้มากเป็นลำดับต้นของประเทศไทย แต่กลับเงียบผิดปกติ ในขณะที่ชาวบ้านประสบปัญหาจากโควิด19 กลับไร้มาตรการช่วยเหลือ
โดยหลักการ กองทุนหมูบ้าน นี้ประกอบด้วย ทุนที่เป็นคนแต่ละคน ทุนทางสังคมที่ถักทอคนแต่ละคนมาเป็นกลุ่มคนหรือสังคม ทุนทางวัฒนธรรม คือวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มคนที่ประสานสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม ทุนทางศีลธรรม
หมายถึงความถูกต้องแห่งการอยู่ร่วมกัน เช่น ความเอื้ออาทรต่อกัน ความเชื่อถือและไว้วางใจกันได้ ความสุจริต ความเสียสละ ทุนทางทรัพยากร เช่น ดิน น้ำ ป่า อากาศ ไร่นา วัวควาย ที่มีการอนุรักษ์ มีการใช้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
ทุนทางปัญญา ได้แก่การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติและนำเอาความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน และความรู้จากภายนอกชุมชน มาสังเคราะห์เป็นปัญญาและการจัดการเพื่อให้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และระหว่างชุมชนกับโลกภายนอกชุมชน เป็นไปอย่างรักษาความสมดุลไว้ได้ เพื่อความเป็นปรกติและยั่งยืน ทุนที่เป็นเงิน อันช่วยกันออมไว้เพื่อให้กระบวนการออมและการจัดการรวมทั้งตัวเงิน เป็นเครื่องกระตุ้นและส่งเสริมสร้างทุนที่ไม่ใช่เงิน
นับว่าเป็นหลักการและแนวคิดที่ดีงาม
แต่ในทางปฏิบัติจริง กองทุนหมู่บ้าน เป็นเพียงแหล่งเงินกู้แห่งหนึ่ง ของชาวบ้านและคนในชุมชนเท่านั้น มีการแบ่งแยกและกำหนดสถานะระหว่างผู้กู้ และผู้ให้กู้อย่างชัดเจน ผู้กู้หรือชาวบ้านจะไม่สนใจรายละเอียดมากนัก จะเดินทางมาที่ทำการกองทุนก็ต่อเมื่อมีการต่อสัญญาเงินกู้ประจำปี ส่วนผู้ให้กู้หรือกรรมการกองทุน กลับกลายเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ บางครั้งอาจเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์บ้างในบางโอกาส หรือไม่ก็กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นเครื่องมือของนายทุนในหมู่บ้าน ด้วยซ้ำไป
ในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงินให้กับประชาชน เรียกได้ว่า ทุกระดับ ทุกชนชั้น โดยวิธีการและมาตรการที่หลากหลาย เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงและรับการเยียวยาช่วยเหลือทุกคน
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเริ่มต้นจากลูกหนี้รายย่อย ประกอบด้วยการขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุก เพื่อป้องกันลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดีไม่ให้ถูกขึ้นบัญชีดำ(blacklist)
รวมถึงออกมาตรการ ให้สถาบันการเงินพักชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้เป็นวงกว้างในช่วงที่ประเทศไทยประกาศล็อกดาวน์และคนส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้าน และหลังจากนั้นก็ยังคงมีมาตรการช่วยเหลือออกมาอย่างต่อเนื่อง
แต่สำหรับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ตลอดระยะเวลาที่มีการระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ผ่านมา กลับนิ่งเฉยแทบจะไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ลูกหนี้ของกองทุนหมู่บ้านน่าจะเป็นลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะเป็นลูกหนี้รายย่อยมากๆ
หากมองว่าเป็นกิจกรรมทางการเงินที่จำกัดอยู่ในชุมชนก็เป็นได้ คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านกับลูกหนี้ของกองทุนหมู่บ้าน พบเจอกันทุกวัน รู้ดีว่า สถานภาพทางการเงินของลูกหนี้เป็นอย่างไร จำเป็นต้องช่วยเหลืออย่างไร แต่ก็ไม่มีการเคลื่อนไหวหรือมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้เกิดขึ้น
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ปัจจุบัน กองทุนหมู่บ้านเหลือเพียงซากความคิด ที่ถูกครอบงำโดยนายทุนในหมู่บ้าน ที่ค่อยตักตวงผลประโยชน์ในช่วงเวลาของการต่อสัญญาเงินกู้ในแต่ละรอบปี การปล่อยกู้ซ้อนในระบบจากนายทุนในหมู่บ้าน ที่ร่วมมือกับกรรมการกองทุน เพื่อปล่อยกู้เงินต้นให้กับชาวบ้านนำไปชำระหนี้กองทุนหมู่บ้านเพื่อกู้ใหม่หรือต่อสัญญา ทำไมไม่ยอมให้ชาวบ้านชำระเพียงดอกเบี้ยในแต่ละปีเท่านั้น เป็นปัญหาที่น่าคิด
ตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาเงินกู้ของกองทุนหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้าน จะทำการต่อสัญญาเงินกู้ในช่วงปลายปีของแต่ละปี ระวังอย่าให้ชาวบ้านที่กลับมาต่อสัญญากองทุนหมู่บ้านนำเชื้อโควิด-19 มาด้วย นอกจาก ดอกเบี้ยไม่ลด เงินต้นก็ต้องส่งแล้ว อย่าให้การเดินทางกลับมาเซ็นสัญญากองทุนกลายเป็นการนำเชื้อโควิดกลับมาด้วย
หรือกองทุนหมู่บ้าน เป็นเพียงนายทุนหน้าเลือดรายใหม่ของประชาชน
หยุดวงจรเงินกู้ที่กัดกินประชาชน จากการบริหารงานที่ผิดพลาดมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ของกองทุนหมู่บ้าน และงบประมาณอีกหลายรายการที่รัฐบาลดำเนินการผ่านกองทุนหมู่บ้าน
รัฐบาลควรเร่งดำเนินการตรวจสอบเงินกองทุนที่ยังมีอยู่ อาจจะพบเม็ดเงินจำนวนมากพอสมควร พอที่จะช่วยเหลือในยามยากลำบาก นำเงินเหล่านั้นกลับมาบริหารอย่างถูกต้อง เพื่อประโยชน์ของประชาชน และเป็นการถอดบ่วงแห่งความทุกข์ให้กับชาวบ้านที่เป็นลูกหนี้กองทุนหมู่บ้านมาอย่างยาวนานและไม่มีวี่แววว่าจะชำระหนี้ได้จริง
หากเป็นเช่นนั้น อนาคต "กองทุนหมู่บ้าน" อาจจะเป็น "กองทุนช่วยชาติ" ในเวลานี้ก็เป็นได้ ในทางกลับกันถ้าปี2564นี้ กองทุนหมู่บ้านไม่ปรับตัว ไม่ยอมช่วยเหลือชาวบ้าน สภาพก็ไม่ต่างจาก หมวกกันน็อครายปี นะขอบอก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ส่องกองทุนหมู่บ้าน5.6หมื่นล้านใครได้ประโยชน์?
ปั่นความหลัง'แม้ว'ในเพลงลูกทุ่ง ความจริงครึ่งเดียว
กองทุนหมู่บ้าน !! จ่ายหมดแล้วแต่มีหนี้
ด่วน "ล็อกดาวน์" 14 วัน "นายกฯ " ประกาศไม่รับเงินเดือน 3 เดือน
เช็กเลย 6 พื้นที่ "ล็อกดาวน์" เวิร์คฟอร์มโฮม (WFH) 100 เปอร์เซ็นต์