คอลัมนิสต์

เกม "ถอนตัว"  โกยแต้มทิ้ง "3 ป."

เกม "ถอนตัว" โกยแต้มทิ้ง "3 ป."

13 ก.ค. 2564

มหาวิกฤตโควิด "ประยุทธ์-ประวิตร" เอาตัวแทบไม่รอด วัดใจพรรคร่วมรัฐบาลจะถอนตัวหรือไม่ คอลัมน์ .. ท่องยุทธภพ โดย .. ขุนน้ำหมึก

เมื่อไม่กี่วันมานี้ บนโลกออนไลน์ กลุ่มเฟรนด์โซน ผุดแคมเปญ “พรรคร่วมถอนตัวเพื่อชาติ”ให้ประชาชนเข้าไปลงชื่อให้พรรคร่วมถอนตัว ผ่านเว็บไซต์ เชนจ์ ดอท โออาร์จี โดยบรรยายความตามท้องเรื่องว่า พรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคอื่นๆ ที่ลงมติให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ให้ถอนตัวจากรัฐบาลที่ล้มเหลว โดยการถอนตัวจะทำให้ชื่อเสียงของบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล และประเทศไทยดีขึ้น

 

จริงๆแล้ว “ทักษิณ ชินวัตร” หรือ โทนี่ วู้ดซัม ก็เคยเรียกร้องผ่านเวทีคลับเฮาส์ ให้พรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล ชั่วโมงนี้ บรรดาพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคใหญ่ พรรคกลางและพรรคเล็ก ยังไม่แสดงท่าทีใดๆว่า จะขอถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่น่าจับตา มีกระบอกเสียงของบางกลุ่มการเมืองที่ร่วมรัฐบาล กลับทำตัวเป็นฝ่ายค้านในฝ่ายรัฐบาล ชี้ว่าความผิดพลาดในการแก้สถานการณ์โควิด ทั้งเรื่องหยุดการแพร่เชื้อไม่ได้ และการบริหารจัดการวัคซีนล่าช้า ล้วนมาจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ “ศบค”

 

 

 

ชี้เป้า ‘หมอ-ทหาร’

กระบอกเสียงของกลุ่มการเมืองที่ว่านั้น จะอ้างคําสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 33/2563 เรื่องการจัดโครงสร้างของ ศบค.เพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) ซึ่งไม่มี “นักการเมือง” นั่งอยู่ในบอร์ด ศบค.เลย
ตรงข้ามกับมีชื่อ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์  เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้อํานวยการ ศปก.ศบค.  ส่งผลให้มีนายทหารคนหนึ่ง เป็นแม่ทัพปราบปรามโควิด มีอำนาจสั่งบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด  

 

นอกจากนี้ ได้มีการชี้เป้าไปที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นผู้เสนอความคิดเห็นต่างๆ ในการกู้วิกฤตโควิด  ยกตัวอย่างการสั่ง “ปิดแคมป์คนงาน” ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งผลให้คนยากคนจนจากชนบทมาหากินในเมืองหลวง ต้องอพยพกลับบ้านต่างจังหวัด เอาเชื้อโควิดกลับไปติดในพื้นที่ต่างจังหวัดมากมาย โรงพยาบาลต่างจังหวัดรับคนไข้ไม่ทัน รับไม่ไหว เชื้อกระจายไปทั่วประเทศ เกิดเหตุการณ์คุมไม่ได้ 

 

น่าตั้งข้อสังเกตว่า บทวิพากษ์วิจารณ์ชิ้นนี้ ตั้งเป้าถล่ม “ศบค.” เป็นหลัก โดยไม่แตะกระทรวงสาธารณสุข รวมถึง อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ที่มีหน้าที่จัดหาวัคซีนป้องกันโควิด ซึ่งที่ผ่านมา เต็มไปด้วยคำถาม “ทำไมแทงม้าตัวเดียว” และ “ทำไมวัคซีนล่าช้า”

 

เกม \"ถอนตัว\"  โกยแต้มทิ้ง \"3 ป.\"

พล.อ.ประยุทธ์ ตกเป็นเป้าโจมตีจากคนในพรรคร่วมรัฐบาล

 

 

 

 

 

 

หยุดรวบอำนาจ

เมื่อปลายเดือน มิ.ย.2564 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ยื่นญัตติด่วนเสนอตั้ง กมธ.ติดตามแก้ไขปัญหาโควิด-19 และเสนอไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ยุบ ศบค.ทิ้ง พร้อมกับคืนอำนาจที่แท้จริงกลับสู่การบริหารของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ปรากฏว่า มี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 2 พรรค ไปร่วมเสนอยื่นญัตติดังกล่าวด้วย และที่เปิดหน้าออกมาชน ศบค.เต็มๆ คือ กรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ และโฆษกพรรคภูมิใจไทย
บังเอิญว่า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยแพร่รายงาน "ประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2 เรื่องการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน โดยสรุปว่า “..รัฐบาลดำเนินการผิดพลาดในการควบคุมโรค และการบริหารจัดการวัคซีน ประเทศก็กลับเข้าสู่วิกฤตด้านสุขภาพ และด้านเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง”

 

ข้อเสนอของทีดีอาร์ไอ จึงถูกกลุ่มการเมืองต่างๆ นำมาใช้เขย่าศูนย์อำนาจ “3 ป.” ที่เวลานี้ตกเป็นฝ่าย “รับ” ทางยุทธศาสตร์ หลายคนมองข้ามช็อตไปที่การอภิปรายไม่ไว้วางรัฐบาลประยุทธ์ ในเดือน ส.ค.นี้ พรรคเพื่อไทยแอบหวังอยู่ลึกๆว่า อาจมีปรากฎการณ์แบบพรรคพลังธรรมถอนตัว หลังจบอภิปรายไม่ไว้วางใจ และทำให้ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ต้องยุบสภาฯ

 

ดังนั้น บางพรรคจึงเร่งทำแต้มจากมหาวิกฤตโควิด ยกตัวอย่างการจัดทีมงาน ส.ส.นำพาผู้ป่วยติดเชื้อโควิดจากกรุงเทพฯ กลับไปรักษาที่บ้านเกิด รวมถึงการใช้สื่อเฉพาะกิจ ดิสเครดิต “3 ป.” ที่คุม ศบค.แก้โควิดไม่ได้

 

หากเกิดอุบัติเหตุการเมืองถึงขั้น “ยุบสภา” ก็จะรับมือได้ทัน และมีคำอธิบายให้ประชาชนได้