คอลัมนิสต์

มหากาพย์วัคซีน "อนุทิน" เจอรุมกระหน่ำ ทั้งเอกสารลับ - คลับเฮาส์หมอริมน้ำ

มหากาพย์วัคซีน "อนุทิน" เจอรุมกระหน่ำ ทั้งเอกสารลับ - คลับเฮาส์หมอริมน้ำ

18 ก.ค. 2564

สุดสัปดาห์นี้ ประเด็นข่าวร้อนแรงในโซเชียล ก็หนีไม่พ้นเรื่อง "วัคซีนล่าช้า" (แอสตร้าเซนเนก้า "AstraZeneca") และ "วัคซีนไม่ดีพอ" (ซิโนแวค "Sinovac")

เริ่มจาก สำนักข่าวอิศรา เปิดเผยเอกสารที่เป็นการโต้ตอบระหว่าง บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า "AstraZeneca" และ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กับ สจอร์ด ฮับเบน รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรทั่วโลก ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า

จากเอกสารชุดนี้ สะท้อนการประเมินสถานการณ์ต่ำ และการตัดสินใจที่ล่าช้าของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะ “หมอหนู” ที่มีอำนาจตัดสินใจในการบริหารจัดการวัคซีน

ตามมาด้วย สโมสรนักศึกแพทย์ศิริราช ได้ถอดคำพูดของ ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จากวง “Clubhouse Q&A : คณบดี เรื่องวัคซีนโควิด” มาเผยแพร่อย่างละเอียด

ปากคำของ “นายแพทย์ประสิทธิ์” ชี้ให้เห็นว่า ซิโนแวค Sinovac ไม่ดีพอสำหรับโควิดสายพันธุ์เดลตา และไม่ควรสั่งซิโนแวคเข้ามาอีกแล้ว

เอกสารสำคัญ

สาระสำคัญของเอกสารลงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่ สจอร์ด ฮับเบน รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรทั่วโลก ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ที่ส่งให้ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีสาธารณสุข พบว่า ไทยแจ้งขอรับวัคซีนโควิดแอสตร้าเซนเนกา ในช่วงแรกเพียงแค่ 3 ล้านโดสต่อเดือน และเป็นการแจ้งช้าที่สุดในอาเซียน

แอสตร้าเซนเนก้า ยอมรับว่า สายการผลิตของโรงงานที่ตั้งในไทยนั้น ค่อนข้างใหม่ และคาดว่าไทยจะได้รับวัคซีนประมาณ 5 - 6 ล้านโดสต่อเดือน และหวังว่าไทยเองจะยินดีกับจำนวนที่ส่งมอบให้

ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีสาธารณสุข ยอมรับว่า บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ได้ทำหนังสือมาถึงตนในช่วงเวลาดังกล่าวจริง ซึ่งก็ได้ตอบจดหมายกลับไปว่า ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาผู้ที่ติดเชื้อโควิดรายวันที่พุ่งสูงมาก ต้องการวัคซีนจำนวนมาก ซึ่งจะต้องจัดหาวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านโดสต่อเดือน

 

แทงม้าเต็ง, โควิด-9, แอสตร้าเซนเนก้า, AstraZeneca, อนุทิน, หมอหนู, นายแพทย์ประสิทธิ์, Clubhouse Q&A : คณบดี เรื่องวัคซีนโควิด, ซิโนแวค, Sinovac, เดลตา

 

เมื่อ แอสตร้าเซนเนก้า สนองวัคซีนให้ไม่ได้ตามที่ต้องการ เนื่องจากโรงงานผลิตวัคซีนในไทยต้องส่งวัคซีนไปประเทศอื่นด้วย “อนุทิน” จึงสั่งการให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เร่งจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนป้องกันโควิดเป็นการชั่วคราว

ถ้าย้อนไปอ่านคำให้สัมภาษณ์ของ “อนุทิน” เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2564 กรณีถูกสื่อเรียกว่า แผนจัดหาวัคซีนแค่แอสตร้าเซนเนก้า ว่าเป็นการ “แทงม้าเต็ง” หรือม้าตัวเดียว

“ถามว่าแทงม้าตัวเดียวหรือเปล่า จริง ๆ แล้วเราแทงม้าเต็ง เพราะเราเห็นว่าม้าจากแอสตร้าเซนเนก้าวิ่งนำมาแล้ว กล้าสนับสนุนประเทศไทยก่อน ส่วนม้าตัวอื่นบอกว่าจะให้วัคซีนเราเร็วที่สุดในกันยายน ยังบอกเงื่อนไขไม่ได้ บอกจำนวนไม่ได้”

ชั่วโมงนี้ การฉีดวัคซีนให้ประชาชนล่าช้า เพราะวัคซีนมีจำนวนจำกัด ก็สะท้อนความล้มเหลวในการแทงม้าเต็งอย่างปฏิเสธไม่ได้

 

พอแล้วซิโนแวค

ประเด็นวัคซีนไม่มีคุณภาพ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย โดยเฉพาะวัคซีนซิโนแวค จนเกิดวิวาทะเรื่อง “ด้อยค่าวัคซีน” ในโซเชียล มีทั้งฝ่ายต้าน ฝ่ายหนุน

ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้บอกเล่าใน “Clubhouse Q&A : คณบดี เรื่องวัคซีน COVID-19” และประเด็นต่าง ๆ เมื่อค่ำวันที่ 16 กรกฎาคม 2564

สำหรับกรณี “วัคซีนซิโนแวค” นพ. ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่ขอเรียกวัคซีนซิโนแวคว่าเป็นวัคซีนแบบ “คุณภาพต่ำ” ซิโนแวคมีประสิทธิภาพดีเมื่อไม่ใช่สายพันธุ์เดลตา แต่ตอนนี้มันไม่เพียงพอ

“ก่อนหน้านี้เราคงได้ยินเรื่องตัวเลข 40 ล้าน ซึ่งเราเบรกไปแล้ว หากเอาวัคซีนเข้ามาไม่เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างไรก็ต้องเบรก” นพ. ประสิทธิ์ หมายถึง การสั่งซื้อซิโนแวค 40 ล้านโดส

นพ. ประสิทธิ์ ยอมรับวัคซีนไฟเซอร์ดีจริง แต่เราสั่งช้าไป พร้อมยอมรับ วัคซีนซิโนแวคที่สั่งในช่วงแรก ไม่มีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา และตอนนี้ เราต้องหยุดสั่งซิโนแวคได้แล้ว

อีกเรื่องหนึ่ง นพ. ประสิทธิ์ ยอมรับว่า ปีที่แล้ว สถานการณ์การควบคุมโรคระบาดยังควบคุมได้ดี มีคนติดน้อย เลยไม่คิดว่า ต้องมีความจำเป็นไปติดต่อวัคซีนไว้ก่อน แต่พอสถานการณ์ของเราเริ่มรุนแรงขึ้น วัคซีนที่ในประเทศที่จองไปแล้วก็ได้ก่อน จึงต้องเอาซิโนแวคเข้ามา

ฟังปากคำของคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สรุปได้ว่า รัฐบาลประยุทธ์ประเมินสถานการณ์ต่ำ จึงไม่เร่งรัดการจัดหาวัคซีนไว้ล่วงหน้า เมื่อจำเป็นต้องใช้จริง ๆ ก็หายาก เพราะทุกประเทศต่างอยากได้วัคซีนชั้นดี สุดท้ายก็ไปลงเอยที่วัคซีนซิโนแวค

แม้ว่า “อนุทิน” จะประกาศให้มีการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 50 ล้านโดส ในอนาคตอันใกล้นี้ ก็อาจไม่ทันการณ์ เพราะวิกฤติศรัทธาได้ลามลึกไปถึงทุกชั้นชนในสังคมไทย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง