พาคนไปเสี่ยง "ม็อบ 13 สิงหา" เมิน "บก.ลายจุด" เตือนกับดักความรุนแรง
ยึดสามเหลี่ยมดินแดง "ม็อบ 13 สิงหา" กลุ่มทะลุฟ้า ฝ่าแนวต้าน บุกบ้านประยุทธ์ คอลัมน์ท่องยุทธภาพ โดยขุนน้ำหมึก
ไม่ว่าจะชื่อ “เยาวชนปลดแอก” หรือ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” หรือ “ทะลุฟ้า” ก็เป็นม็อบไม่มีแกนนำ และอาศัยการสื่อสารผ่านเฟซบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และคลับเฮาส์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
รุกใหญ่ "ทักษิณ" คู่ขนาน "คาร์ม็อบ" ดีเดย์ 15 สิงหา ประยุทธ์ออกไป
สิงหาชี้ชะตา 'ณัฐวุฒิ' ปลุกแดงจัดคาร์ม็อบ 'เพื่อไทย' ลุยเชือดประยุทธ์
ลับลวงพราง 'ประวิตร' คิดแผนสำรอง 'ทักษิณ" ตัวช่วย
การจัดม็อบแนวนี้ มักถูกวิจารณ์ว่า สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกับตำรวจ แต่กองเชียร์ม็อบสามนิ้วบางคน กลับหนุนให้มี “ม็อบรายวัน” ดังเช่นวันศุกร์ที่ 13 ส.ค.2564 กลุ่มทะลุฟ้า ได้นัดมวลชนบุกบ้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้ง
กลุ่มทะลุฟ้า แตกหน่อมาจากกลุ่มเดินทะลุฟ้า นำโดย “ไผ่ ดาวดิน” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ที่รวบรวมรุ่นน้องจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรม “เดินทะลุฟ้า” ซึ่งไผ่ และทีมงานเดินเท้าจากขอนแก่น ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นเวลา 17 วัน ระยะทาง 247.5 กิโลเมตร
จากนั้น ไผ่ ดาวดิน นำทีมงานเดินทะลุฟ้า ไปปักหลักชุมนุมพื้นที่ข้างทำเนียบรัฐบาลโดยใช้ชื่อ “หมู่บ้านทะลุฟ้า” และตำรวจเข้าสลายการชุมนุม จากนั้น “ไผ่” ก็หันมาใช้ชื่อกลุ่มทะลุฟ้า ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ช่วงโควิดระบาด เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก
ขณะนี้ ไผ่ ดาวดิน หรือจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ถูกจับกุมคดีสาดสีแดงใส่ป้าย สน.ทุ่งสองห้อง และศาลอาญา มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว
++
คำเตือนของพี่
++
กลุ่มทะลุฟ้า ก็ไม่ต่างจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่ใช้การสื่อสารผ่านเฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์นัดชุมนุม และมีเป้าหมายจะไปที่หน้า ร.1 รอ.ทม. ถ.วิภาวดี ซึ่งบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ภายในค่ายทหารแห่งนี้
มีข้อน่าสังเกต มวลชนที่เข้าร่วมชุมนุมระยะหลัง เป็นกลุ่มมอเตอร์ไซค์ ที่มีทั้งอาชีวะ ,ไรเดอร์ และวัยรุ่นทั่วไป ไม่ใช่คนหนุ่มสาวหน้าใสๆ เหมือนปีที่แล้ว
ฉะนั้น สมรภูมิสามเหลี่ยมดินแดง จึงกลายสังเวียนเดือด ภาพการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจชุดควบคุมฝูงชน เกิดขึ้นซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็น #ม็อบ 1 สิงหา #ม็อบ 7 สิงหา #ม็อบ 10 สิงหา และ #ม็อบ 11 สิงหา
กลุ่มทะลุฟ้า ยืนยันแนวสันติวิธี
วันที่ 12 ส.ค.2564 สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด จึงสื่อสารผ่านทวิตเตอร์ บก.ลายจุด @nuling ว่า “การเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่าเสียความชอบธรรม เพราะแนวร่วมจะหดแคบลง เมื่อโดดเดี่ยวจะถูกทำลายล้างโดยง่าย”
ปฏิกิริยาจากฟากฝ่ายเดียวกัน ถาโถมใส่ บก.ลายจุด มากมายทีเดียว เพราะนักวิชาการบางคนเชื่อในทฤษฎี “จลาจลเพื่อการเปลี่ยนแปลง”
++
สมรภูมิเลือดดินแดง
++
เมื่อมีปฏิริยาวิพากษ์ท่าทีของ “บก.ลายจุด” ทำนอง “ถ้ากลัวก็ถอยออกไป” เจ้าของไอเดียคาร์ม็อบ จึงใช้เฟซบุ๊คบอกเล่า สิ่งที่ตัวเขาเผชิญในช่วงปี 2553
บก.ลายจุด นัดคาร์ม็อบ 15 ส.ค.
“ช่วงที่ทหารสลายการชุมนุมปี 53 มีประชาชนโดนยิงเสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก ผมเป็นคนไปตั้งเวทีย่อยที่เวทีสามเหลี่ยมดินแดง ระหว่างที่ปราศรัยบนรถหกล้อ ผมเห็นคนโดนยิงโดนแบกออกมาเป็นระยะ เกือบทุกครั้งผมมองขึ้นไปบนตึกสูง ถามตัวเองว่าจะโดนสไนเปอร์ยิงมาจากด้านบนที่ใดที่หนึ่งหรือเปล่า”
นี่คือภาพเหตุการณ์สลายการชุมนุม บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง-ถนนราชปรารภ ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ค.2553
“คำถามจึงไม่ได้อยู่ตรงที่กลัวหรือกล้าหรือเปล่า มันอยู่ตรงที่เราประเมินแล้วว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ นี่เฉพาะชีวิตของเราคนเดียว ไม่รวมชีวิตของผู้คนที่อยู่รอบตัวเราหรือมวลชนที่ตามเราออกมา ความรับผิดชอบเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้นำต้องแบกรับ”
หลายคนอาจไม่เคยประสบเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่สามเหลี่ยมดินแดง ด้วยกระสุนจริง ไม่ใช่กระสุนยาง และแก๊สน้ำตา เหมือนทุกวันนี้
“ดังนั้นเวลา มีคนด่าผมว่าผมปอดแหก ขี้กลัว เป็นพวกโลกสวย เลี้ยงไข้ ผมขอใช้ข้อความข้างบนนี้อธิบายข้อกล่าวหาเหล่านั้น ผมเรียนรู้ว่านอกจากจิตใจที่ต้องกล้าหาญแล้ว เราต้องใช้สติปัญญาในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง”
บก.ลายจุด ย้ำว่า “การไปยืนอยู่หน้าบ้านของประยุทธ์ ไม่ได้ทำให้ประยุทธ์ลาออก แต่การที่ประชาชนออกมาตะโกนไล่ประยุทธ์ทุกหนแห่งต่างหากที่จะทำให้ประยุทธ์ ต้องลงจากอำนาจ”