ข่าว

อย่าหาทำ! โซเชียลผุดไอเดียพิลึก ต้มถ่านใช้แล้ว อ้างเพิ่มพลังงานใช้ใหม่ได้

อย่าหาทำ! โซเชียลผุดไอเดียพิลึก ต้มถ่านใช้แล้ว อ้างเพิ่มพลังงานใช้ใหม่ได้เป็นเดือน ผู้เชี่ยวชาญเตือน ระวังสารเคมีอันตราย

5 ส.ค. 2567 รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ "อาจารย์เจษฎ์"  อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์เรื่องราวเตือนภัย ไม่ควรเอาถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ ไปถูกความร้อนสูง รวมถึงไปเคาะกระแทกแรงๆ ด้วย

 

4 ส.ค. 2567 มีการแชร์คลิปวิดีโอ ที่อ้างว่า เป็นการเล่าความลับ ที่โรงงานผลิตถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ ไม่อยากให้คุณรู้ นั่นคือ ถ้าถ่านหมด อย่าทิ้ง ให้เอามาทำแช่น้ำร้อนจัด,แช่น้ำเย็น น้ำแข็ง หรือเอามาเคาะพื้น ถ่านจะกลับมาใช้ต่อได้อีกนานหลายสัปดาห์ หรือเป็นหลายเดือน

 

พร้อมทั้งทำการทดลองให้ดูด้วยว่า ถ่านที่หมดแล้ว ใส่นาฬิกาแล้วไม่เดิน ก็กลับมามีไฟฟ้าใช้ได้ใหม่อีกครั้ง ทำเอาผู้คนสนใจ และส่งมาถามกันนับสิบเลยว่า  วิธีนี้มันใช้ได้จริงหรือไม่ และจะเป็นอันตรายหรือเปล่า

 

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เผยว่า แบตเตอรี่ หรือ ที่เราชอบเรียกกันว่า ถ่านไฟฉายนั้น เป็นแหล่งสะสมพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานจากปฏิกิริยาของสารเคมี ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า เอาไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

 

จริงๆ แล้ว วิธีกระตุ้นด้วยอุณหภูมิสูง หรือ ด้วยแรงกระแทกเช่นนี้ ไม่ได้เป็นการมอบพลังงานให้กับถ่านไฟฉายของเรา แต่เป็นการไปช่วยให้ปฏิกิริยาของสารเคมีตัวนำไฟฟ้า หรือ สารอิเล็กทรอไลต์ (electrolyte) ที่มีประจุไฟฟ้าต่างกัน ได้ทำปฏิกิริยากันได้ทั่วถึงมากขึ้นอีกนิดหน่อย ทำให้แบตเตอรี่เหมือนจะมีไฟฟ้ากลับคืนมา

 

แต่อีกไม่นาน มันก็จะหมดไป พูดง่ายๆ ก็เหมือนไปเค้นให้มันปล่อยไฟฟ้าออกมาให้เกลี้ยงที่สุด

 

แต่การที่ให้แบตเตอรี่ถูกความร้อนสูง หรือ ถูกกระแทกรุนแรงนั้น ก็อาจจะไปสร้างความเสียหายกับองค์ประกอบภายในก้อนถ่าน และกับซีลเปลือกนอกที่ห่อหุ้มถ่านเอาไว้ ซึ่งนำไปสู่อันตรายจากการที่ถ่านรั่วซึม สารเคมีไหลออกมา หรือ แตกเสียหาย จึงไม่ใช่วิธีการที่ปลอดภัยต่อการใช้ และควรจะหลีกเลี่ยงไม่ทำตาม

 

ภายในของถ่านไฟฉาย มีส่วนประกอบของสารเคมีอันตรายหลายชนิด เช่น สารตะกั่ว สารแมงกานีส สารแคดเมียม สารนิเกิล สารปรอท และกรดซัลฟิวริก เป็นต้น

สารเคมีที่เป็นพิษเหล่านี้ สามารถเข้าสู่ร่างกายของคนเราได้ ผ่านการหายใจและการซึมเข้าผิวหนัง ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยอย่างเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง นอกจากนั้น สารพิษเหล่านี้ยังมีโอกาสที่จะปนเปื้อนในดิน ในแหล่งน้ำ รวมถึงเป็นมลพิษทางอากาศ ถ้ามีไอระเหยของสารเคมีแพร่กระจายออกไป

 

ดังนั้น เราจึงไม่ควรทิ้งถ่านไฟฉาย รวมกับขยะอื่นๆ ตลอดจนไม่ทิ้งลงสู่แหล่งน้ำหรือท่อระบายน้ำ และห้ามนำไปเผาโดยเด็ดขาด แต่ให้เก็บรวบรวม แล้วใส่รวมกันในถุงขยะ โดยแยกออกมาจากขยะชนิดอื่น มัดปากถุงให้แน่นสนิท แล้วติดป้ายเตือนว่าเป็นขยะมีพิษ เพื่อแจ้งให้คนเก็บขยะทราบ หรือนำไปทิ้งในกล่องที่รับทิ้งถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่โดยเฉพาะ

 

สำหรับวิธีการที่ดีที่สุด ในการใช้ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ คือการนำไปใช้ตามที่ผู้ผลิตกำหนด และใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เหมาะสมเท่านั้น ตลอดจน ควรจะเปลี่ยนเป็นถ่านก้อนใหม่เมื่อไฟหมดแล้ว โดยไม่ควรพยายามไป กระตุ้นมันด้วยวิธีการที่รุนแรง

 

การที่เราใช้วิธีการกระตุ้นถ่ายไฟฉาย แล้วเอากลับไปใส่เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกครั้ง ด้วยความเข้าใจผิดว่ามันจะกลับมามีพลังใหม่ได้อีกเป็นเดือนๆ

 

กลับจะทำความเสียหายให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าของเราได้ เนื่องจากปฏิกิริยาเคมีภายในถ่านไฟฉายนั้น จะทำให้สารเคมีภายในถ่านเปลี่ยนรูปกลายเป็นของเหลว  ถ่านไฟฉายเกิดอาการเปียกเยิ้ม บวม เสื่อมสภาพ และของเหลวอันตรายที่รั่วไหลออกมานี้ ก็จะสร้างความเสียหายให้อุปกรณ์ไฟฟ้าของเราได้

 

สำหรับคำแนะนำในการใช้ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ ที่ถูกต้องเหมาะสม มีดังนี้

  • ควรเปลี่ยนถ่านพร้อมกันทุกก้อนในคราวเดียวกัน ไม่ปะปนกับถ่านเก่า
  • ปิดสวิตช์อุปกรณ์ทุกครั้งหลังการใช้งาน อย่าเปิดค้างไว้โดยไม่จำเป็น
  • ไม่ควรนำถ่านหลายชนิด หรือหลายยี่ห้อมาใช้ปะปนกัน
  • นำถ่านออกจากอุปกรณ์ทุกครั้งหลังการใช้งาน
  • ตรวจสอบวิธีการใส่ถ่าน และขั้วถ่านให้ถูกต้องเสมอ
  • ไม่แกะชิ้นส่วนถ่านออกมาเล่น และไม่ควรวางถ่านไว้ในที่ที่มีความร้อนสูง
  • หลีกเลี่ยงการทำให้ถ่านเกิดการช็อตกัน
  • ห้ามนำถ่านที่ชาร์จไฟไม่ได้ มาชาร์จไฟใหม่ เพราะอาจเกิดอันตรายได้
  • ควรซื้อถ่านไฟฉายจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หรือยี่ห้อที่มีการรับรองความปลอดภัย  ไม่ควรซื้อถ่านไฟฉายราคาถูก เพราะจะได้ถ่านไฟฉายที่ไม่มีคุณภาพ และอาจเกิดอันตรายขณะใช้งาน

ข่าวยอดนิยม