ข่าว

อัยการชี้ข้อกฎหมาย ไลฟ์สดหลอกขายทอง ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิด

อัยการชี้ข้อกฎหมาย ไลฟ์สดหลอกขายทอง ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิด

24 ก.ย. 2567

อัยการแนะข้อกฎหมายช่วยเหลือผู้เสียหาย หลงกลไลฟ์สดหลอกขายทองปลอม ชี้บอกรายละเอียดไม่ครบถ้วนส่อผิดกฎหมาย การรับซื้อคืนถือเป็นการบรรเทาผลร้าย แต่เป็นคดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้เสียหาย

24 ก.ย. 2567 กรณี ผู้ใช้ TikTok รายหนึ่ง โพสต์คลิปนำทองคำที่ซื้อจากไลฟ์สดของช่อง TikTok ของ "แม่ตั๊ก กรกนก" แม่ค้าขายทองออนไลน์ชื่อดัง เจ้าของร้านทอง เป็นสร้อยพร้อมจี้ไอ้ไข่ และ ดอกไม้ทองคำ นำไปขายที่ร้านทอง แต่ปรากฏว่า ร้านทองไม่รับซื้อ เพราะไม่มีเปอร์เซ็นต์ทอง และไม่มีตราประทับ หากว่าถ้ารับซื้อแล้วนำไปหลอม จะไม่เหลือทองเลย

 

หลังจากเกิดกระแสข่าว แม่ตั๊ก กรกนก ได้ยอมรับซื้อทองคำทั้งหมดคืน และยอมรับว่า ในไลฟ์ขายทองอาจให้รายละเอียดไม่หมด โดยมีลูกค้านำทองคำมาขายคืนที่ร้านทอง ถนนหทัยราษฎรณ์จำนวนมาก 

 

จากนั้น นายเลิศศักดิ์  รักธรรม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา (สคบ.) พร้อมกำลังเข้าตรวสอบที่ร้านทอง โดยนำทองคำบางส่วนไปตรวจสอบ โดยเน้นที่ปี่เซี่ยะ ทองรูปพรรณ และทองชุป ที่อ้างว่าเป็นทอง 99.99% ที่ระบุเอาไว้ในไลฟ์  ไปตรวจสอบ 

 

ล่าสุด นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี (สคช.) ได้ให้ความเห็นในฐานะอัยการคุ้มครองผู้บริโภค ในประเด็นข้อ ว่าเรื่องนี้ ต้องไปดูกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค  

อัยการชี้ข้อกฎหมาย ไลฟ์สดหลอกขายทอง ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิด

  • พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 47 บัญญัติไว้อย่างน่าสนใจว่า ผู้ใดเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งกระทำผิดซ้ำอีก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • มาตรา 52 บัญญัติไว้อีกว่า ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลากตามมาตรา 30 โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลาก แต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายสินค้าที่มีฉลากที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากสั่งเลิกใช้ตามมาตรา 33 ทั้งนี้ โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง ตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อัยการชี้ข้อกฎหมาย ไลฟ์สดหลอกขายทอง ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิด

  • ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

 

นายโกศลวัฒน์ กล่าวต่อว่า ตามกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าการโฆษณาขายสินค้า อย่างประเด็นที่เป็นข่าวคือทองคำ การสื่อสารต้องชัดเจนว่าทองคำผสมอะไร น้ำหนักเท่าไหร่ ซื้อไปเเล้วสามารถนำไปขายได้ในร้านทองทั่วไปหรือไม่ เรื่องนี้ถ้าสื่อสารชัดเจน ปัญหาจะไม่เกิดขึ้น

 

ส่วนในเรื่องคดีความ การไลฟ์สดขายทองที่เป็นข่าวถ้าผู้ขายไม่บอกราคาให้ชัดเจน เเล้วคลิปไลฟ์สดถูกเซฟเอาไว้ อันนี้ก็เป็นพยานหลักฐานที่จะดำเนินคดีได้ ในส่วนที่ผู้ขายมีการประกาศว่าผู้ที่ซื้อไปสามารถนำมาขายคืนได้ในราคาที่ซื้อไป ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นการบรรเทาผลร้ายโดยการรับซื้อคืน เเต่กระบวนมันก็ดำเนินการไปเเล้ว 

 

ในส่วนความผิด ถ้าไม่มีผู้เสียหายไปเเจ้งความก็อาจจะไม่เป็นไร เพราะมีการรับซื้อคืน ไม่มีผู้เสียหายเเล้ว เเต่ถ้าเกิดมีคนไปเเจ้งความ พนักงานสอบสวนก็ต้อง ทำการสอบสวน ดูว่าในการไลฟ์สดขายมีการปกปิดข้อเท็จจริงหรือไม่ ถ้าสอบสวนพบว่ามี ก็อาจจะเข้าข่ายข้อหาฉ้อโกง หรืออาจจะถึงขั้นข้อหาฉ้อโกงประชาชน เพราะมีการไลฟ์สดไปสู่ประชาชน ตรงนี้ก็อาจจะขึ้นกับจำนวนผู้เสียหาย

 

เเละอีกข้อหาคือความผิดเกี่ยวกับการค้า ซึ่งจะเป็นความผิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวนจะสอบสวนหาความจริง ว่า มีการปิดบังข้อมูลอันสำคัญในการขายเเละดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 

ในส่วนประเด็นผู้บริโภคที่ออกมาร้องเรียนว่าเป็นทองปลอมด้วยความเข้าใจผิด เเละมีข่าวว่าจะมีการฟ้องร้องเอาผิดผู้บริโภคกลับ ถ้าจะฟ้องก็คงเป็นข้อหาหมิ่นประมาทฯ เเต่การที่จะฟ้องผู้บริโภค นั้นทางผู้ขายก็ควรต้องไปดูด้วยหรือไม่ว่าตอนไลฟ์สดขายทองได้พูดอะไรออกมาบ้างได้ทำถูกต้องตามกฎหมายครบถ้วนหรือไม่

 

ถ้าผู้บริโภคถูกฟ้องหมิ่นประมาทฯเขาก็สามารถสู้ได้หากเป็นการพูดอยู่ในกรอบข้อเท็จจริง เเละเป็นการปกป้องส่วนได้เสียในฐานะผู้เสียหาย เเต่ก็ต้องพึงระลึกไว้ว่าการพูดจะไปพูดใส่ความกันเกินจริงไม่ได้

 

ในส่วนคนที่ไม่ได้เป็นผู้เสียหายเป็นลูกค้าที่ซื้อสินค้าก็ต้องระวังตัวในเรื่องการวิจารณ์หรือพูดเพราะอาจถูกฟ้องร้องเป็นความได้ สุดท้ายก็อยากฝากถึงพ่อค้าเเม่ค้าถ้าไม่เข้าใจเรื่องไลฟ์สดขายสินค้าอย่างไรให้ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมาย สามารถโทรปรึกษาสายด่วนอัยการ สคช.โทร 1157 ได้ตลอด อัยการยินดีช่วย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2544) เรื่อง ให้ทองรูปพรรณเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยที่สินค้าทองรูปพรรณแสดงสาระสำคัญเกี่ยวกับฉลากสินค้าไม่แจ้งชัดในการเลือกซื้อ เพื่อป้องกันการหลอกลวงผู้บริโภค สมควรแก้ไขการกำหนดข้อความในฉลากเกี่ยวกับการขายทองรูปพรรณให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 30 และมาตรา 31 แห่ง พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541  อันเป็น พรบ.ที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายคณะกรรมการว่าด้วยฉลากจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

 

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 50 (พ.ศ. 2533) เรื่อง กำหนดทองรูปพรรณ อัญมณีเจียระไน และอัญมณีขึ้นรูปเป็นสินสินค้าที่ควบคุมฉลาก ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533

 

ข้อ 2 ในประกาศฉบับนี้ "ทองรูปพรรณ" หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำหรือประกอบชื้นขึ้นด้วยโลหะทองคำบริสุทธิ์หรือโลหะทองคำผสม

 

ข้อ 3 ให้ทองรูปพรรณเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

 

ข้อ 4 ฉลากของทองรูปพรรณที่ควบคุมฉลากตามข้อ 3 ให้ปฏิบัติตามข้อ 1 และข้อ 3 แห่งประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่องลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. 2541 ลงวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2541 และข้อ 3 ทวิ (1) แห่งประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 ลงวันที่ 13 ส.ค. 2542 และให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้ไว้ในฉลากด้วย

 

(1) ชื่อประเภทหรือชนิดของทองรูปพรรณ ในกรณีที่เป็นทองรูปพรรณที่สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายให้ระบุชื่อประเทศที่ผลิตด้วย

 

(2)  ชื่อและสถานที่ประกอบการหรือ เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือของผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย แล้วแต่กรณี

 

(3) ปริมาณความบริสุทธิ์ของทองรูปพรรณ โดยระบุหน่วยเป็นกะรัต หรือเปอร์เซ็นต์ หรือร้อยละ หรือใช้สัญลักษณ์ K หรือ % แทนก็ได้

 

(4)น้ำหนักทรงรูปพรรณ โดยระบุหน่วยเป็นกรัม หรือใช้สัญลักษณ์ ก.หรือ g แทนก็ได้

 

(5) ราคาให้ระบุเป็นเงินสกุลไทย และจะระบุเป็นเงินสกุลอื่น หรือใช้สัญลักษณ์สกุลเงินแทนก็ได้

 

ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2544 เป็นต้นไป

 

เเละยังมี ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2546)เรื่อง ให้ทองรูปพรรณเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ฉบับที่ 2)ความว่า โดยที่ปรากฏว่าในปัจจุบันทองรูปพรรรณที่เป็นผู้ผลิต หรือผู้จำหน่ายมีการซื้อสินค้าคืนสินค้าทองรูปพรรณ ในราคาที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการรับซื้อคืนสินค้าดังกล่าว ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจึงสมควรเพิ่มเติม

 

ข้อความในฉลากเกี่ยวกับสินค้าทองรูปพรรณให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 30 และมาตรา 31 แห่ง พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 อันเป็น พรบ.ที่มีบทบัญญัติบางประการ เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งตามมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 50 ของรัฐธรมนูญ บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎกรรมการว่าด้วยฉลากจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

 

ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้ เป็น 16) ของข้อ 4 แห่งประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2544) เรื่อง ให้ทองรูปพรรณเป็นสินค้าที่ควบคุมคุมฉลาก ลงวันที่ 2 เม.ย.2544

 

"(6) ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณชั้นต่ำ ตามที่สมาคมค้าทองคำประกาศ"