ข่าว

"สัตวแพทย์" เปิดใจแชร์อีกมุม หลังน้ำซัดปางช้างหลายแห่งในเชียงใหม่

06 ต.ค. 2567

"สัตวแพทย์" เปิดใจแชร์อีกมุม หลังน้ำซัดปางช้างหลายแห่งในเชียงใหม่ แต่มีแห่งเดียวที่มีข้อจำกัดเพราะเลี้ยงแบบสุดโต่ง ยันมีการแจ้งเตือนน้ำท่วมล่วงหน้า

6 ต.ค. 2567 จากกรณี น้ำป่าไหลหลากใน พื้นที่ จ.เชียงใหม่ มวลน้ำไหลทะลักเข้าท่วมหลายพื้นที่ ทั้งบ้านเรือน และพื้นที่ทางการเกษตรของประชาชน นอกจากนี้แล้วปางช้างหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบต้องอพยพช้างหนีน้ำท่วมอย่างทุลักทุเล จากนั้นมีรายงานว่า "พังฟ้าใส-พังพลอยทอง" ถูกนำซัดหายไป และพบว่าทั้ง 2 พังได้ตายไปแล้ว

 

 

\"สัตวแพทย์\" เปิดใจแชร์อีกมุม หลังน้ำซัดปางช้างหลายแห่งในเชียงใหม่

ล่าสุด สพ.ญ.นฤพร กิตติศิริกุล ทีมสัตวแพทย์หมอช้าง ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงประเด็นน้ำท่วมปางช้างใน จ.เชียงใหม่ ( 5 ต.ค. 2567) ระบุว่า เกริ่นก่อนว่าปางช้างในส่วนแม่แตง มีกว่า 20 ปาง ที่อยู่บนถนนเส้นเดียวกัน พื้นที่เดียวกัน และได้รับผลกระทบกันทั้งหมด มีตั้งแต่ปางที่มีช้างหลัก 2 - 3 เชือก ไปจนถึง 100 เชือก คละกันไป แต่ปางที่ได้รับความสนใจทั้งการช่วยเหลือด้านการเงินอย่างมากล้น และความช่วยเหลือจากสื่อหลักกลับเป็นแค่ปางเดียว

\"สัตวแพทย์\" เปิดใจแชร์อีกมุม หลังน้ำซัดปางช้างหลายแห่งในเชียงใหม่

มีการแจ้งเตือนเรื่องน้ำล่วงหน้าแล้ว ทำให้แต่ละปางมีการเตรียมการตั้งรับ ย้ายช้างขึ้นที่สูง ทำให้ไม่เกิดอันตราย ซึ่งข้อนี้ต้องยกให้พี่ควาญช้างและเจ้าของที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับช้าง ฝึกให้ช้างเข้าใจการจับบังคับ (เปรียบเทียบคล้ายกับฝึกให้น้องหมาเข้าใจการใช้สายจูง คำสั่งลุกนั่งนอน)  สามารถขี่-จูงช้างไปได้อย่างปลอดภัยทั้งคน ทั้งช้าง เมื่อสามารถสื่อสารได้เข้าใจก็สามารถพาไปไหนก็ได้อย่างอิสระ ร่วมกับการใช้โซ่ลามไว้ในบริเวณที่ปลอดภัย ซึ่งสามารถปรับความยาวสั้นของโซ่ได้ ไม่ต้องพึ่งกรงหรือคอก

เมื่อเกิดวิกฤต ชาวช้างทุกคนช่วยเหลือกันดีมากๆ ทั้งพี่ควาญช้าง พี่เจ้าของช้าง หมอช้าง รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องอยากจะช่วยช้างทุกเชือกให้ออกมาอย่างปลอดภัย แต่ต้องบอกว่าการเข้าช่วยเหลือช้างแต่ละตัวที่ประสบภัยอยู่ มีข้อจำกัดด้านความปลอดภัย ทั้งต่อคนที่เข้าไปช่วย และช้างที่รอความช่วยเหลือ

 

ยกตัวอย่างข้อจำกัด ช้างที่เติบโตมากับแนวคิดที่ว่าห้ามใช้อุปกรณ์อะไรจับ แตะ สัมผัส ออกคำสั่ง ทำให้เมื่อเห็นเชือก ขอ โซ่ ก็ตั้งป้อมใส่คนที่เข้ามาแล้วว่าจะอันตราย ก็ตั้งท่าเตรียมสู้กลับ ( ซึ่งถ้าช้างเอาจริง ก็คือเจ็บหนักกันแน่ๆ )

\"สัตวแพทย์\" เปิดใจแชร์อีกมุม หลังน้ำซัดปางช้างหลายแห่งในเชียงใหม่

ควาญช้างที่ได้รับมอบหมายให้จัดหญ้า และทำความสะอาดคอกช้าง โดยไม่สามารถขี่ ฝึกฝนให้ช้างเคยชินกับน้ำเสียง และคำสั่งพื้นฐานได้เลย ไม่สามารถควบคุมให้ช้างเดินตาม หรือพาไปผูกมัดยังที่ปลอดภัยได้

 

แต่ถึงอย่างนั้น พี่ๆ ควาญช้างที่มีความชำนาญในการควบคุมช้าง ก็ระดมคนกันเข้าไปช่วยช้างเหล่านั้นที่ติดอยู่ในคอก (เพราะเกินกำลังที่คนในปางเอง จะสามารถช่วยกันพาออกมาได้ ด้วยข้อจำกัดข้างต้น…) และการเข้าหาช้างในจุดที่น้ำท่วมสูง หากเกิดอันตรายตัวคนที่ช่วยเองถ้าหลบไม่ทัน ก็มีโอกาสบาดเจ็บหนักจากช้าง ยังไม่รวมกับการต้องฝ่าน้ำที่สูงและเชี่ยวเข้าไป

 

 

แม้ว่าปัญหาอุทกภัย จะไม่ได้มีต้นเหตุมาจากวิถีการเลี้ยงช้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่า วิถีการเลี้ยงช้างดั้งเดิมของคนไทยทำให้เกิด bonding ระหว่างคนและช้าง จนสามารถอพยพช้างส่วนใหญ่ให้พ้นภัยได้เกือบทั้งหมด แต่กลับกันการเลี้ยงช้างอีกวิถี ทำให้เกิดข้อจำกัดมากมายขึ้น

 

ซึ่งถ้าวิถีการเลี้ยงช้างไม่สุดโต่งมากขนาดนี้ คนที่มีแนวคิดนี้ ไม่ไปว่าการเลี้ยงช้างดั้งเดิมจนเสียๆ หายๆ ลามไปถึงต่างประเทศแอนตี้การเลี้ยงช้างดั้งเดิม จนเลือกแบนและไม่เที่ยว มันก็น่าจะเป็นภาพที่ทุกคนร่วมด้วยช่วยกันฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้อย่างดี

 

การออกมาพูดในเรื่องนี้อยากให้ทุกคนที่เสพข่าว ได้มองหลายๆ ด้าน ถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือให้เกิดการพูดคุยกัน ก็ดีกว่ารอจนทุกอย่างคลี่คลายแล้วทุกคนก็แยกย้าย จบ

ทุกๆ คนก็รักช้างกันทั้งนั้น ถ้าเราช่วยกันตั้งแต่ยามสงบสุข ก็อาจจะไม่มาถึงยามทุกข์แบบนี้ก็ได้ ส่งกำลังใจต่อเนื่องให้ทีมหน้างานทุกท่านนะคะ